เป็นเวลากว่า 3 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ได้หายตัวไปอย่างปริศนา พร้อมกับทิ้งความลับแห่งหมู่บ้านกกกอก อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ไว้ให้สังคมไทยร่วมกันแก้ไข
ในวันนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าการทวงคืนความยุติธรรมให้กับเด็กหญิงตัวน้อยนี้จะกลายเป็นหนึ่งในบาดแผลครั้งใหญ่ของสังคมไทย เมื่อแสงไฟแห่งความสนใจได้สาดส่องลงมาที่หนึ่งในผู้ต้องสงสัยอย่าง ‘ลุงพล’ ญาติใกล้ชิดของชมพู่ ที่กลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนจากการประโคมข่าวของสื่อมวลชนหลายสำนัก และแรงผลักดันจากกระแส #Saveลุงพล บนโซเชียลมีเดีย จนกล่าวได้ว่า ความสนใจของสังคมอยู่ที่ตัวของญาติสนิทผู้นี้มากเสียกว่าการแก้ตัวคดีที่นับวันกระแสจะยิ่งแผ่วลง กระทั่งความสงสัยได้คลายลงในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เมื่อตำรวจได้ออกหมายจับลุงพลว่าเป็นผู้ต้องหาในการเสียชีวิตของชมพู่
ความลึกลับและปริศนาที่น่าสงสัยและเร้าอารมณ์ที่มักจะแฝงไปด้วยปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เป็นหนึ่งในรสชาติของข่าวที่คนไทยชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่แต่ละสำนักข่าวต่างแย่งชิงเรตติ้งกันอย่างดุเดือด จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ลุงพลฟีเวอร์’ ที่สื่อมวลชนหลายเจ้านำเสนอข่าวของลุงพล แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับตัวคดีของชมพู่แต่อย่างใด
ในที่สุดปริศนาการเสียชีวิตของเด็กคนหนึ่งก็ได้ส่งให้ผู้ต้องหาคดีทอดทิ้งเด็กจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายกลายเป็นผู้มีหน้ามีตาในสังคม เป็นแขกรับเชิญในวงการบันเทิง เป็นนักร้อง เป็นนายแบบโฆษณา ไปจนถึงการใช้บ้านของลุงพลเป็นสถานที่สำหรับพาเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษามาทัศนศึกษา กว่าสังคมจะรู้ตัว ลุงพลก็ได้กลายเป็น ‘ไอดอล’ คนใหม่ที่โด่งดังจากคดีการเสียชีวิตของเด็กไปเสียแล้ว
แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ตัวคดีมีวี่แววในเวลานั้นว่าจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า แต่ก็เป็นเรื่องน่าเวทนาที่สื่อมวลชนได้ให้พื้นที่กับผู้ต้องหาบนหน้าสื่อไปแล้วนักต่อนัก ตลอดระยะเวลา 1 ปีนับจากจุดกำเนิดของเหตุการณ์ ทำให้ข่าวจำนวนมากที่ประชาชนควรจะรับรู้ถูกเหตุการณ์นี้กลบไปอย่างน่าเสียดาย
การกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญของสื่อสารมวลชน ในฐานะผู้ป้อนข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นจะต้องรู้ การจัดลำดับความสำคัญของข่าวที่ควรรายงานมากที่สุดอันดับหนึ่งและรองลงมา จึงสามารถกำหนดทิศทางของการรับรู้ภายในสังคมได้ว่า ณ ตอนนี้ประชาชนควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องใด
ในขณะที่สังคมกำลังกลับมาให้ความสนใจการเคลื่อนไหวของคดีน้องชมพู่-ลุงพลในครั้งนี้ กระแสของข่าวอื่นๆ ในเวลานั้นก็ถูกกลบลงไปด้วยเช่นกัน
หลายครั้งที่สื่อมวลชนเคยถูกเปรียบว่าเป็น ‘ฐานันดรที่ 4’ ของสังคม เนื่องจากสื่อสารมวลชนเป็นฐานันดรที่สามารถมอบพลังโดยการเป็นปากเสียงให้กับประชาชนผู้มีอำนาจน้อย และลดพลังของผู้ปกครองผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง สื่อสารมวลชนจึงเป็นมากกว่าผู้ให้ความบันเทิงผ่านโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ แต่เป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจของแต่ละฐานันดรผ่านการจัดสรรข้อมูลภายในสังคม
ไม่ใช่นำเสนอเพียงสิ่งที่ประชาชน ‘อยากรู้’ แต่ต้องนำเสนอสิ่งที่ประชาชน ‘ต้องรู้’
หากในเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า หากสื่อมวลชนมีพลังถึงขนาดที่จะกลับขาวเป็นดำ โดยการปั้นให้ผู้ต้องหาคดีการเสียชีวิตของเด็กกลายเป็น ‘ไอดอล’ ผู้มีชื่อเสียงในสังคมได้นั้น สื่อมวลชนก็มีอำนาจเพียงพอที่จะทำหน้าที่หลักของตนเองในการสืบหาความจริงที่ถูกปกปิดอยู่ในประเทศนี้ได้เช่นกัน
หลายคนอาจกล่าวว่าลุงพลเปรียบเสมือนคนถูกหวย น่าเสียดายที่ผลจากหวยครั้งนี้หมดลงเร็วเกินคาดคิด
แต่สังคมไทยที่มีสื่อมวลชนที่ทำให้ผู้ต้องหาคดีเป็นคนถูกหวย ประชาชนคนไทยทุกคนคงมีสถานะไม่ต่างอะไรกับคนที่ถูกหวยกินอยู่ทุกต้นเดือน
วันนี้ (20 ธันวาคม) ศาลจังหวัดมุกดาหารอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1013/2564 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร โจทก์ สาวิตรี วงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่ 1 อนามัย วงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่ 2 กับ ไชย์พล วิภา หรือลุงพล จำเลยที่ 1 และ สมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น ในคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่
ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี, ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี, ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวไชย์พล โดยใช้หลักทรัพย์ที่ดินมูลค่า 780,000 บาท ปล่อยตัวชั่วคราว มีรายงานว่า ทนายความของไชย์พลเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีภายใน 30 วันทันที
อ่านคำพิพากษาได้ที่: เปิดคำพิพากษาคดีเสียชีวิตน้องชมพู่ กับโทษจำคุก 20 ปีของลุงพล ไชย์พล ด้วยหลักฐานผมที่ถูกตัด-ข้อพิรุธโทรศัพท์ 1 เครื่อง
หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจากการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 โดยเพิ่มเติมรายละเอียดคำพิพากษาล่าสุด