เมื่อวานนี้ (18 ธันวาคม) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้ทราบผลแล้วว่าพวกเขาจะพบกับเอฟซี โคเปนเฮเกน ทีมจากเดนมาร์ก ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายของศึกฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
แต่ในเย็นวันนี้ ทีมสีฟ้าจากแมนเชสเตอร์จะต้องลงสนามในรายการฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ หรือศึกชิงแชมป์สโมสรโลก ซึ่งจะต้องพบกับทีมอุราวะ เรด ไดมอนด์ส (ที่มี เอกนิษฐ์ ปัญญา อยู่ในทีมด้วย!) ในเกมที่สนามคิง อับดุลลาห์ สปอร์ตส์ ซิตี้ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
สิ่งที่น่าสนใจคือ นี่จะเป็นการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรโลกรูปแบบนี้ครั้งสุดท้ายที่จะมีทีมแชมป์แต่ละทวีปมาร่วมชิงชัยกัน เพราะต่อจากนี้ไปรายการนี้จะกลายเป็นการแข่งขันในรูปแบบที่ยิ่งใหญ่ขึ้น (ในความรู้สึกของผู้จัดอย่าง FIFA)
ปัญหาคือ จะจัดใหญ่แค่ไหนไม่มีใครว่า แต่มีใครถามไถ่สุขภาพของคนที่ต้องรับภาระอย่างนักฟุตบอลบ้างหรือยัง?
ศึกชิงสโมสรโลกโฉมใหม่
FIFA ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ศึกชิงแชมป์สโมสรโลก หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ จะมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2025
การเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้การแข่งขันยิ่งใหญ่ประหนึ่ง ‘ฟุตบอลโลก’ ตามชื่อของรายการ มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
- จัดการแข่งขันกัน 4 ปีครั้ง
- จำนวนทีมเข้าร่วม 32 ทีม
- ใช้ระยะเวลาในการแข่งขันรวม 29 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 13 กรกฎาคม
โดยชาติที่จะได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพประเทศแรกคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางด้าน จานนี อินฟานติโน ประธาน FIFA วางใจในเรื่องความพร้อม เพราะเป็นประเทศที่มีระบบพื้นฐานของเกมฟุตบอลพร้อม และแฟนฟุตบอลในสหรัฐอเมริกาก็ชอบมหรสพอย่างเกมฟุตบอลที่ถือเป็นกีฬาที่ขอให้มีคนมาแข่งเถอะ อเมริกันชนก็พร้อมจะเข้าสนามอยู่แล้ว
และอีกเหตุผลที่สำคัญคือ นี่จะเป็นรายการทดสอบความพร้อมของสหรัฐอเมริกาในฐานะหนึ่งในชาติเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2026 ที่จะจัดขึ้นร่วมกับแคนาดาและเม็กซิโกด้วย
ยิงปืนนัดเดียวได้นกไม่รู้กี่ตัว จีเนียส!
32 ทีมมาจากไหน?
สิ่งที่น่าสนใจต่อมาคือ 32 ทีมที่จะได้เข้าร่วมการแข่งขันนั้นจะมาจากไหนบ้าง?
ในแบบแรกคือ ทีมแชมป์ทวีปในรอบ 4 ฤดูกาลหลังสุด เช่น ในยุโรปคือเชลซี (2021), เรอัล มาดริด (2022), แมนฯ ซิตี้ (2023) และทีมแชมป์สำหรับฤดูกาลนี้ที่จะเป็นตัวแทนจากยุโรป เส้นทางของทีมเหล่านี้เรียกว่า Champions Pathway
ส่วนทวีปอื่นๆ การประชุมของ FIFA ได้ตัดสินว่า สำหรับทุกทวีปบนโลกยกเว้นยุโรป ซึ่งมีระบบการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์ (UEFA Coefficient) อยู่แล้ว จะใช้วิธีการคำนวณคะแนนจากผลงานใน 4 ฤดูกาลหลังสุด จากรอบแบ่งกลุ่มของรายการชิงแชมป์สูงสุดในระดับทวีป (เช่น เอเชียคือ AFC แชมเปียนส์ลีก) และจากการเข้ารอบในรายการนั้นๆ ซึ่งจะเรียกว่า Ranking Pathway โดยจะคิดคะแนน ดังนี้
- 3 คะแนนสำหรับการชนะ
- 1 คะแนนสำหรับการเสมอ
- 3 คะแนนสำหรับการผ่านเข้ารอบต่อไป
สำหรับสโมสรในยุโรปมีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป
- 2 คะแนนสำหรับการชนะ
- 1 คะแนนสำหรับการเสมอ
- 4 คะแนนสำหรับการผ่านเข้ารอบแบ่งกลุ่ม
- 5 คะแนนสำหรับการเข้ารอบ 16 ทีม
- 1 คะแนนสำหรับทุกการผ่านเข้ารอบต่อไป (8 ทีม, รองชนะเลิศ, ชนะเลิศ)
ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นสำหรับทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน ที่จะไม่มี Ranking Pathway (เอาแต่แชมป์ทวีปล้วน) กับโอเชียเนียที่จะไม่มี Champions Partway เอาแต่ Ranking Pathway ล้วนๆ
และจะไม่ให้มีทีมจากชาติเดียวกันเกินกว่า 2 ทีมในรายการนี้ นั่นหมายถึงสโมสรในอังกฤษทีมอื่นหมดสิทธิ์ เพราะโควตาเป็นของเชลซี และแมนฯ ซิตี้ ไปแล้ว
อย่างน้อยมีแมนฯ ซิตี้, เชลซี, เรอัล มาดริด, ฟลาเมงโก!
เรื่องระบบการคำนวณคะแนนอาจจะต้องทำความเข้าใจสักหน่อย แต่ข่าวดีคือตอนนี้ FIFA เปิดเผยทีมที่จะได้ผ่านเข้าสู่รอบต่อไปออกมาบ้างแล้ว เพราะถือว่าผ่านเกณฑ์พอดี
แอฟริกา 4 ทีม
- มาจาก Champions Pathway (CAF แชมเปียนส์ลีก) 3 ทีม
- 2020/21 และ 2022/23: อัล อาห์ลี (อียิปต์)
- 2021/22: วีดาด เอซี (โมร็อกโก)
- 2023/24: รอยืนยัน
มาจาก Ranking Pathway 1 ทีม
รอยืนยัน
เอเชีย 4 ทีม
- มาจาก Champions Pathway (AFC แชมเปียนส์ลีก) 3 ทีม
- 2021: อัล ฮิลาล (ซาอุดีอาระเบีย)
- 2022: อุราวะ เรด ไดมอนด์ส (ญี่ปุ่น)
- 2023/24: รอยืนยัน
มาจาก Ranking Pathway
รอยืนยัน
ยุโรป 12 ทีม
- มาจาก Champions Pathway (UEFA แชมเปียนส์ลีก) 4 ทีม
- 2020/21: เชลซี (อังกฤษ)
- 2021/22: เรอัล มาดริด (สเปน)
- 2023/24: แมนฯ ซิตี้ (อังกฤษ)
- 2023/24: รอยืนยัน
มาจาก Ranking Pathway 8 ทีม
บาเยิร์น มิวนิก (เยอรมนี)
ปารีส แซงต์ แชร์กแมง (ฝรั่งเศส)
เอฟซี ปอร์โต (โปรตุเกส)
เบนฟิกา (โปรตุเกส)
*เหลือโควตาอีก 3 ทีมที่รอยืนยัน
อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน 4 ทีม
- มาจาก Champions Pathway (คอนคาเคฟแชมเปียนส์คัพ)
- 2021: ซีเอฟ มอนเตอร์เรย์ (เม็กซิโก)
- 2022: ซีแอตเทิล ซาวน์เดอร์ส (สหรัฐฯ)
- 2023: คลับ ลีออน (เม็กซิโก)
- 2024: รอยืนยัน
- *โซนนี้ไม่มี Ranking Pathway
โอเชียเนีย 1 ทีม
มาจาก Ranking Pathway
โอ๊คแลนด์ ซิตี้ (นิวซีแลนด์)
- แม้ว่ารายการ OFC แชมเปียนส์ลีกจะยังแข่งขันอยู่ แต่ไม่มีทีมใดในทวีปที่จะทำคะแนนดีกว่าโอ๊คแลนด์ ซิตี้ ได้ในระบบการคำนวณคะแนน
อเมริกาใต้ 6 ทีม
มาจาก Champions Pathway (Conmebol โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส) 4 ทีม
- 2021: พัลไมรัส (บราซิล)
- 2022: ฟลาเมงโก (บราซิล)
- 2023: ฟลูมิเนนเซ (บราซิล)
- 2024: รอยืนยัน
มาจาก Ranking Pathway 2 ทีม
รอยืนยัน
ส่วนอีก 1 ทีมจะมาจากชาติเจ้าภาพ ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในเวลาต่อไป หรือในวงเล็บคือยังคุยกันไม่จบ…
รูปแบบการแข่งขัน
ได้ทีมแล้ว แล้วแข่งกันแบบไหน?
คำตอบจาก FIFA ก็คือแข่งแบบฟุตบอลโลกกันไปเลย!
- รอบแบ่งกลุ่มแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม แข่งแบบพบกันหมดนัดเดียว (Single-Game & Round-Robin Format)
- 2 ทีมที่ทำอันดับดีที่สุดจะได้ผ่านเข้ารอบต่อไปคือรอบ 16 ทีมสุดท้าย
- แข่งแบบน็อกเอาต์ไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ
- ไม่มีการชิงที่ 3
การกลับมาของถ้วยอินเตอร์คอนติเนนทัลคัพ
รายการฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพโฉมใหม่ไม่ใช่รายการเดียวที่ FIFA คิดขึ้นมา เพราะยังมีการปัดฝุ่นรายการชิงแชมป์ระหว่างทวีป หรือรายการอินเตอร์คอนติเนนทัลคัพ (FIFA Intercontinental Cup) กลับมาแข่งกันใหม่ และไม่ได้แข่งธรรมดา เพราะจะเป็นการแข่งกันเป็นประจำทุกปี
สำหรับรายการอินเตอร์คอนติเนนทัลคัพ ความจริงแล้วก็คือรายการชิงแชมป์สโมสรโลกในแบบดั้งเดิม ซึ่งจะให้ทีมแชมป์จากยุโรปและลาตินอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็น 2 ทวีปที่ดีที่สุดในเชิงลูกหนัง มาห้ำหั่นกันเอง เพียงแต่รายการนี้ได้ถูกยกเลิกและเปลี่ยนรูปแบบเป็นฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพแทน
รายละเอียดของรายการนี้ยุ่งเหยิงกว่าฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพใหม่มาก เพราะยืนพื้นแชมป์ทวีปยุโรปเอาไว้ แต่อีกทีมที่จะให้มาเจอกันนั้น แชมป์ทวีปอื่นๆ จะต้องมาแข่งกันเอง ซึ่งก็จะแยกสายระหว่างทีมจากเอเชียเจอกับทีมจากแอฟริกาสายหนึ่ง (Stage A) แล้วอีกสาย (Stage B) คือทีมจากคอนคาเคฟเจอกับทีมจากอเมริกาใต้
ใครชนะใน 2 สายก็มาเจอกันเอง ใครชนะถึงจะได้ไปต่อ เจอกับทีมยุโรปที่ยืนพื้นรออยู่แล้ว
กำหนดการแข่งขันจะใกล้เคียงกับรายการชิงแชมป์สโมสรโลกเดิม (ความจริงมันก็คือรายการชิงแชมป์สโมสรโลกเดิมนี่แหละ แค่เปลี่ยนไปใช้ชื่อเก่า…) โดยมีกำหนดวันไว้แล้วด้วยว่า เกม Play-Off (แชมป์จาก 2 Stages มาตัดกันเอง) จะมีขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม และเกมชิงดำจะมีขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม
ข่าวร้ายคือ รายการรูปแบบนี้จะมีขึ้นในปี 2024 หรือปีหน้าเลย เพียงแต่ FIFA ยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับสโมสรและสหพันธ์ฟุตบอลต่างๆ อย่างเป็นทางการเลย
เสียงสะท้อนจากคนทำงาน
การเปิดเผยข้อมูลรายการใหม่ทั้งฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ และอินเตอร์คอนติเนนทัลคัพ (ซึ่งความจริงก็เคาะกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว) เกิดขึ้นในระหว่างที่แมนฯ ซิตี้ และสโมสรอื่นๆ กำลังจะลงสนามในรายการฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพโฉมเดิมที่ซาอุดีอาระเบีย
เรื่องที่น่ากังวลที่สุดคือ ดูเหมือนว่า FIFA จะต้องการทำรายได้จากการแข่งขันจนไม่สนใจเรื่องสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ของนักฟุตบอลที่ต้องเป็นผู้ลงไปทำหน้าที่ในสนามแม้แต่น้อย
แบร์นาโด ซิลวา สตาร์แมนฯ ซิตี้ ตอบคำถามในเรื่องนี้หลังจากที่เพิ่งลงแข่งเกมพรีเมียร์ลีกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (ช้ำใจด้วยนำ 2-0 จบด้วยการเสมอคริสตัล พาเลซ 2-2) แล้วต้องเดินทางไกลกว่า 3,000 ไมล์เพื่อมาแข่งขันที่ซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่วันที่ 16-27 ธันวาคม
“จำนวนเกมที่เราต้องเล่นทุกวันนี้มันบ้ามาก เมื่อดูจากจำนวนวันที่เราได้พัก ความเสี่ยงในการบาดเจ็บมันสูงมากๆ” ซิลวากล่าว
ที่เจ็บใจกว่าคือพวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือก ไม่สามารถมีปากมีเสียงได้ด้วยเหตุผลเดียวคือ ได้รับค่าตอบแทนที่สูงจากอาชีพนี้
“ไม่เคยมีการปรึกษาพวกเราเลย แต่เราก็จะพยายามทำหน้าที่ของเราในการเป็นตัวแทนสโมสรให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อคนที่จ่ายเงินเดือนให้เราและแฟนบอลที่สนับสนุนเรา
“ที่สุดแล้วเราก็ไม่สามารถร้องเรียนอะไรได้เพราะเราได้เงินจำนวนมาก แต่ในความเห็นของผม สำหรับคนที่รักและสนุกกับเกมฟุตบอล ถ้ามันมีจำนวนเกมการแข่งขันยาวนานเกินไป ที่สุดแล้วเกมฟุตบอลก็จะสูญเสียพลังและความเข้มข้นไป”
ประหนึ่งว่าขนาดทำประกันยังโดนถามข้อมูลสุขภาพ แต่ FIFA ทำแบบนี้ไม่ถามสุขภาพของนักฟุตบอลสักคำ
อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่รายการฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพที่ปรับโฉม ในยุโรป แชมเปียนส์ลีกเองก็ปรับโฉม ไปจนถึงรายการฟุตบอลโลกก็มีการเพิ่มจำนวนทีมเข้าไปอีก ซึ่งสุดท้ายหมายถึงจำนวนเกมที่ผู้เล่นจะได้ลงสนามจะยิ่งเพิ่มขึ้น แน่นขึ้น แทบไม่เหลือเวลาพักหายใจ
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ FIFA ไม่เคยคิดจะถาม
เสียงนั้นคือเสียงจากคนดูอย่างพวกเรา ที่ไม่เคยเห็นสนใจเลยว่าเราจะอยากดูรายการแบบนี้บ้างไหม
อ้างอิง: