×

ที่สุดแห่งปี! ตลาด EV ไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน เมื่อยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ปีนี้พุ่ง 7.9 เท่า แตะ 67,056 คัน BYD รั้งแชมป์ ตามด้วย NETA

18.12.2023
  • LOADING...
ตลาด EV ไทย

พิมพ์ภัทรา รมว.อุตสาหกรรม เร่งทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สู่การผลิตครบวงจร หลังยอดจดทะเบียน BEV 11 เดือนของไทยเติบโตพุ่ง 690% เทียบจากปีที่แล้วสูงถึง 7 เท่า ขึ้นแท่นอันดับ 1 ฮับ EV อาเซียน ขณะที่ศูนย์วิจัย SCB EIC วิเคราะห์หนึ่งปัจจัยกระตุ้นการเติบโต EV ไทยคือการเข้ามาของค่ายรถยนต์จีนที่เป็นทั้งตัวเลือกที่หลากหลายให้คนไทย ด้านรูปลักษณ์ ฟังก์ชัน การใช้งาน และราคา

 

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (EV Conversion) การส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงแนวทางการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติในกระบวนการผลิต และ EV Conversion เช่น รถขนขยะมูลฝอย รถบรรทุกน้ำ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมกระบวนการจัดการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายความต้องการและดึงดูดการลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้มากขึ้น

 

วรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการฯ เปิดเผยว่า ช่วงปีนี้มาตรการ EV3 ตลอดจน EV3.5 ถือว่าประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) รวม 67,056 คัน ซึ่งเติบโตมากกว่าร้อยละ 690 หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 8,483 คัน    

 

“ทำให้ขณะนี้ ตลาด EV ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีผู้เข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิต BEV คิดเป็นมูลค่า 39,579 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 359,000 คันต่อปี และผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่า 35,303 ล้านบาท”

 

ทั้งนี้ ระหว่างนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต ครอบคลุมมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถ System Integrator (SI) ผ่านการดำเนินงาน เช่น พัฒนาบุคลากร System Integrator ให้มีศักยภาพและเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ สร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 

 

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก สรุปยอดจดทะเบียนรถยนต์สะสม กลุ่มรถไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle: BEV) ทั้งปี 2566 อันดับ 1 ยังคงเป็นค่ายรถจาก BYD รุ่น Atto 3 ยอดรวม 15,924 คัน ตามด้วยอันดับ 2 NETA V รวม 9,294 คัน และอันดับ 3 Tesla Model Y รวม 4,753 คัน 

 

ขณะที่ Top 5 อันดับ ยอดจดทะเบียนสูงสุด ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้แก่

 

  • อันดับ 1 BYD Dolphin 2,825 คัน
  • อันดับ 2 BYD Atto 3 1,142 คัน
  • อันดับ 3 NETA V 1,134 คัน
  • อันดับ 4 ORA Good Cat 790 คัน
  • อันดับ 5 MG 4 Electric 779 คัน

 

ด้าน ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC วิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตตลาด EV โลก หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดขายเละยอดผลิตรถ EV ทั่วโลกในช่วงระหว่างปี 2022-2030 จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20% และ 33% ตามลำดับ 

 

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของ EV ไทย ได้แก่ 

 

  • นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย บราซิล และอินเดีย ที่ต่างมุ่งส่งเสริมการใช้งานและการลงทุนในอุตสาหกรรม EV 
  • การเปิดรับจากฝั่งผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังเผชิญราคาพลังงานที่ผันผวน รวมถึงต้นทุนการเป็นเจ้าของรถ EV ก็ทยอยลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าในระยะยาวจะต่ำกว่ารถสันดาปจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและการบำรุงรักษา 
  • การเข้ามาของตลาดของค่ายรถยนต์จีนที่ทำให้ตัวเลือกในตลาดรถยนต์ EV มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านรูปลักษณ์ ฟังก์ชันการใช้งาน และระดับราคา
  • อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ EV ก็มีแนวโน้มเติบโตควบคู่กันไปด้วย สะท้อนจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้ง EA CATL และ SVOLT ก็ต่างสนใจร่วมลงทุนในไทย 

 

ค่ายรถ EV มีแผนตั้งฐานผลิตในไทยแล้ว 20 โครงการ

ทั้งนี้ คาดว่าอัตรากำลังการผลิตในเบื้องต้นน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การประกอบรถ EV ของไทยในช่วงแรกยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าแบตเตอรี่เป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ที่ประกาศแผนการผลิตและประกอบรถ EV ในไทยแล้วเกือบ 20 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท ปี 2030 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่กว่า 9 แสนคันต่อปี จากปัจจุบันที่มีการผลิตรถไฟฟ้าทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ราว 9 หมื่นคันต่อปี 

 

“ส่งผลให้อนาคตระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังทยอยเกิดขึ้นอย่างครบวงจรภายในประเทศ นำมาซึ่งโอกาสในการต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของภูมิภาค เช่นเดียวกับที่เราทำได้ในกลุ่มยานยนต์สันดาป” ฐิตากล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X