×

สรุป 15 อินไซต์ของภาคธุรกิจกว่า 2,000 แบรนด์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลกว่า 3 ล้านข้อความ ที่เกิดขึ้น 9 เดือนแรกของปี 2566 ในโลกโซเชียลมีเดียของไทย

16.12.2023
  • LOADING...
Wisesight เผยข้อมูล อินไซด์ โซเชียลมีเดีย ไทย

ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ทำการรวบรวมข้อมูลและสถิติการใช้งาน Facebook, X (Twitter), Instagram, YouTube, และ TikTok ของภาคธุรกิจกว่า 2,000 แบรนด์ชั้นนำจาก 20 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยวิเคราะห์ข้อมูลกว่า 3 ล้านข้อความที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2566 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2566  

 

ผ่าน INSTANT REPORT BUSINESS USAGE ภาพรวมการใช้งานโซเชียลมีเดียเชิงธุรกิจไตรมาส 1-3 ปี 2566 โดยมีข้อสรุป 15 สาระสำคัญ ดังนี้

 

1. ภาคธุรกิจได้รับเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) โดยรวมมากถึง 421 ล้านครั้ง และจากการโพสต์ (Post) รวมมากกว่า 1 ล้านครั้ง โดยที่ 66% ของแบรนด์เน้นใช้พื้นที่บน Facebook เป็นหลัก รองลงมาคือ Instagram ที่มีสัดส่วนประมาณ 20%

 

2. ช่องทาง TikTok วิดีโอที่มียอดไลก์ (Like) สูง ส่วนมากจะเป็นวิดีโอสั้น เช่น คอนเทนต์โปรโมตสินค้าจากแบรนด์ และไลฟ์สไตล์ของเจ้าของแบรนด์

 

3. ช่องทาง TikTok มีจำนวนการรับชม (View) และจำนวนคอนเทนต์สูงกว่า YouTube แต่แนวโน้มการเพิ่มขึ้น-ลดลงตลอดทั้งปีของทั้ง 2 แพลตฟอร์มมีทิศทางเหมือนกัน คือ ยอดการรับชมเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในเดือนมีนาคม และลดลงเรื่อยๆ ทุกเดือน ในขณะที่การโพสต์คอนเทนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

4. พื้นที่บนโซเชียลมีเดียของบัญชีทางการ มีการใช้ Facebook เป็นหลัก โดยแบรนด์เลือกใช้ Facebook มากที่สุด (99%) รองลงมาคือ Instagram (73%), YouTube (50%), TikTok (38%) และ X (Twitter) (34%) ซึ่ง 95% ของแบรนด์ มีบัญชีทางการอย่างน้อย 2 แพลตฟอร์ม โดยใช้ Facebook เป็นหลัก มีเพียงแค่ 5% ของแบรนด์เท่านั้น ที่ยังคงใช้เพียงแค่ 1 แพลตฟอร์มในการทำการตลาดกับผู้บริโภค

 

5. ในภาพรวมแบรนด์เน้นทำคอนเทนต์สร้างการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหาที่ตลกและสนุกสนานให้ดูเข้าถึงง่าย เรียลไทม์คอนเทนต์ รวมถึงการเกาะกระแสไวรัลต่างๆ สร้างความรู้สึกเป็นกันเอง และทำให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์เพิ่มขึ้น

 

6. ช่องทาง Facebook Reaction ถูกใช้เป็นฟังก์ชันในการโหวตเพื่อร่วมกิจกรรม และใช้แสดงความรู้สึก โดย Love คือรู้สึกดี ชื่นชอบ, Haha คือขำขัน, Wow คือประหลาดใจ, Sad คือแสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย, Angry คือไม่พอใจการให้บริการ

 

7.ช่วงเวลาในการโพสต์คอนเทนต์ของแบรนด์ในทุกแพลตฟอร์ม คือ วันจันทร์-ศุกร์ โพสต์ตามเวลาทำการ (Working Hours) โดยเฉพาะก่อนเวลาพักเที่ยง และก่อนเลิกงาน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะเน้นโพสต์ช่วงครึ่งเช้า

 

8.กลุ่มธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram มากที่สุดคือ Department Store แต่เอ็นเกจเมนต์ที่สูงที่สุดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ Cosmetics & Skincare

 

9. กลุ่มธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์ม X (Twitter) มากที่สุดคือ Bank แต่เอ็นเกจเมนต์ที่สูงที่สุดไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจ Marketplace & E-Commerce Platform

 

10. กลุ่มธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์ม YouTube มากที่สุดคือ Hospital, Mobile & Consumer Electronics และ Bank ตามลำดับ

 

11. กลุ่มธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์ม TikTok มากที่สุดคือ Shopping Center & Department Store, Cosmetics และ Skincare ตามลำดับ

 

12. กลุ่มธุรกิจที่เน้นโปรโมตโดยใช้ศิลปิน คือ กลุ่มธุรกิจ Marketplace & E-Commerce Platform โดยจะใช้แพลตฟอร์ม X (Twitter) และ Instagram ควบคู่กัน

 

13. แพลตฟอร์มที่แบรนด์เลือกใช้ถัดจาก Facebook จะเป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในธุรกิจนั้น เช่น Skincare จะใช้ TikTok ควบคู่กับ Facebook ในขณะที่ Hospitality & Travel Agency และ Restaurant จะใช้ Instagram ควบคู่กับ Facebook ไปด้วย

 

14. กลุ่มธุรกิจที่ได้รับยอดเข้าชมรวม (View) สูงสุดบน TikTok 5 อันดับ คือ 1. Skincare 2. Marketplace & E-Commerce Platform 3. Beverage 4. Cosmetics และ 5. Food & Snacks

 

15. กลุ่มธุรกิจที่ได้รับยอดเข้าชมรวม (View) สูงสุดบน YouTube 5 อันดับ คือ 1. Beverage 2. Marketplace & E-Commerce Platform 3. Personal Care & Skin Care 4. Mobile & Consumer Electronics และ 5. Food & Snacks โดยกิจกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การโปรโมตคลิปโฆษณาที่มีความยาว 15-30 วินาที

 

ผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดรายงาน INSTANT REPORT BUSINESS USAGE ภาพรวมการใช้งานโซเชียลมีเดียเชิงธุรกิจไตรมาส 1-3 2566 ฉบับเต็ม ได้ที่ https://store.wisesight.com/product/business-usage-q1-q3-2023/

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X