×

เศรษฐาประกาศแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้! พร้อมเปิดชุดมาตรการแก้หนี้ 4 กลุ่ม คาดช่วยลูกหนี้ได้กว่า 10.3 ล้านราย

12.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (12 ธันวาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าว ‘จัดการหนี้ทั้งระบบ’ โดยระบุว่ารัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ ‘ทั้งระบบ’ ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบและการดูแลลูกหนี้ในระบบให้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยคาดว่ามาตรการต่างๆ ที่ประกาศมาจะช่วยแก้หนี้ให้กับประชาชนไทยกว่า 10.3 ล้านราย พร้อมระบุว่าขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้

 

นายกฯ ระบุอีกว่า การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย โลกนี้มี ‘หนี้ที่ดี’ อยู่ ซึ่งก็คือหนี้ที่นำไปจับจ่ายใช้สอยหรือประกอบธุรกิจ หรือเป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ เพิ่มจำนวนเงินในระบบทั้งประเทศ ดังนั้นการมีลูกหนี้ที่ดีจึงเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

“วันนี้พวกเราไม่สามารถจะปล่อยให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหานี้เผชิญปัญหาอยู่อย่างลำพัง ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะขอยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้ทุกคนให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง”

 

ในการจัดการหนี้ทั้งระบบ รัฐบาลได้แบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อออกมาตรการแก้หนี้ที่ตรงจุด

 

เปิดมาตรการแก้หนี้ลูกหนี้ 4 กลุ่ม

 

กลุ่มที่ 1: ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

โดยปกติลูกหนี้กลุ่มนี้จะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้

 

อีกส่วนหนึ่งก็เป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว

 

1. มุ่งช่วยลูกหนี้หลุดสถานะ 21

สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย

 

ทั้งนี้ ลูกหนี้สถานะ 21 หมายถึงมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติ

 

2. พักชำระหนี้ SMEs เป็นระยะเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ย 1%

ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับธนาคารรัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ย 1%

 

โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ได้ครอบคลุมมากกว่า 99% ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

 

กลุ่มที่ 2: ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ

โดยอาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน

 

แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ

 

แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่นที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวกและสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

 

แนวทางสุดท้าย คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี หรือบังคับใช้กฎหมายให้หักเงินไปชำระหนี้ได้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน

 

กลุ่มที่ 3: ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

 

โดยจะใช้แนวทางการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนเนื่องจากรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น

 

กลุ่มที่ 4: กลุ่มเป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน โดยกลุ่มนี้จะถูกโอนหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุดจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.07 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.7% ต่อ GDP โดยจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย (NPLs) มูลค่า 1.47 แสนล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน 2.71% ต่อสินเชื่อรวม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X