วานนี้ (8 ธันวาคม) พรรคก้าวไกลจัดกิจกรรมอบรม สส. เกี่ยวกับกระบวนการงบประมาณ 2567 ซึ่งจะช่วยให้ สส. อ่านงบออกและอ่านงบเป็น เตรียมความพร้อมในการพิจารณาและอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2567 วาระ 1 ในสภา เดือนมกราคม 2567 นำโดย ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล
ศิริกัญญากล่าวถึงภาพรวมงบประมาณปี 2567 เช่น ไทม์ไลน์การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วิธีการอ่านเอกสารและวิเคราะห์งบประมาณ สัดส่วนงบประมาณปี 2567 ซึ่งมีทั้งหมด 3.48 ล้านล้านบาท พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยจัดงบประมาณแบบขาดดุลมาต่อเนื่องหลายปี โดยในงบประมาณปี 2567 งบตามยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2566
ในช่วงหนึ่งศิริกัญญาได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับงบประมาณของไทย ซึ่ง สส. ควรให้ความสำคัญ เพื่อจะสามารถพิจารณาและอภิปรายงบประมาณได้ถูกต้อง ดังนี้
- งบซื้ออาวุธไม่ได้มีสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมด คือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากเงิน 3 ล้านล้านบาท ส่วนที่มีปัญหาคือจำนวนบุคลากรที่มีมากเกินไป ทั้งจำนวนนายพลและพลทหาร (ทหารเกณฑ์) ที่ต้องใช้งบประมาณจ่ายเป็นเงินเดือนจำนวนมาก
- หนี้สาธารณะไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น การกู้เงินไม่ใช่ปีศาจร้ายทุกเรื่อง ถ้าเป็นการกู้เงินเพื่อนำไปใช้ดำเนินโครงการที่จำเป็นและเหมาะสม เช่น สู้กับปัญหา Climate Change
- กระทรวงที่ดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ใช่กระทรวงเกษตรฯ แต่คือกระทรวงพาณิชย์
- งบท้องถิ่นไม่ได้เป็นของท้องถิ่นจริงๆ จำนวนมากเป็น ‘งบฝาก’ หรืองบที่รัฐส่วนกลางนำมาผ่านท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นไม่สามารถเอาไปทำอะไรได้ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ
- การกระจายอำนาจไม่ใช่ยาวิเศษ บางเรื่องจำเป็นต้องรวมศูนย์เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤตขนาดใหญ่ การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ดังนั้นต้องกระจายอำนาจให้ถูกเรื่อง
- อย่าดูแค่ชื่อแผน ต้องดูไส้ใน เพราะบางแผนมีชื่อดูดี แต่รายละเอียดโครงการไม่สอดคล้องกับชื่อแผนเลย
- เงินนอกงบประมาณมี 4.8 ล้านล้านบาท ดูเหมือนว่าจะเยอะ แต่จริงๆ เอามาใช้ไม่ได้ เพราะเกือบทั้งหมดเป็นเงินในกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มีทั้งที่จัดสรรให้ส่วนราชการในพระองค์โดยตรง และที่จัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณอื่น เพื่อทำภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การพระราชทานเพลิงศพ โครงการตามพระราชดำริ การถวายความปลอดภัย
- ปัญหาของงบลับไม่ใช่เรื่องจำนวน แต่คือการตรวจสอบไม่ได้ จึงควรผลักดันว่าแม้งบประมาณบางส่วนต้องเป็นงบลับในช่วงใดช่วงหนึ่ง แต่ไม่ควรเป็นงบลับตลอดไป เมื่อเวลาผ่านไปต้องเปิดเผยให้สาธารณะตรวจสอบได้
จากนั้นมีกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) แบ่งเป็น 3 กิจกรรมย่อย เพื่อให้ สส. ทดลองใช้เอกสารจริง ประกอบด้วยจำลองการเตรียมอภิปรายวาระ 1 การอภิปรายในห้องกรรมาธิการ และการอภิปรายในห้องอนุกรรมาธิการ ก่อนให้ สส. นำเสนองานจากเวิร์กช็อปและแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน