ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และพันธมิตร สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในปี 2566-2567 (CEO Survey: Economic Outlook 2023-2024) เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจ การประกอบธุรกิจ ประเด็นที่น่าสนใจ และข้อเสนอแนะต่อนโยบายรัฐบาล
โดยรวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม – 30 กันยายน 2566 มี CEO บริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 68 บริษัท จาก 21 หมวดธุรกิจ รวม 26.2% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 31ตุลาคม 2566 พบว่า
- CEO ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น แต่ลดลงกว่าการคาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน และคาดว่า GDP จะเติบโตที่ระดับ 2-3% โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 3-4%
- CEO คาดว่าการท่องเที่ยว นโยบายการคลัง การใช้จ่ายภาครัฐ และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ จะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 และต่อเนื่องในปี 2567 ขณะที่เสถียรภาพการเมืองในประเทศ กำลังซื้อในประเทศ และการส่งออกจะเป็นปัจจัยเสี่ยง
- CEO คาดการณ์ว่ารายได้ปี 2566 ดีขึ้น โดย 53% คาดว่ารายได้จะเติบโต 10% ขึ้นไป และเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 และคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิในปี 2566 และปี 2567 ดีขึ้นในทิศทางเดียวกันกับรายได้
- การลงทุนในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 โดย 56% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี 2566 และ 73% คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี 2567
- ในปี 2566 CEO มีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทั้ง ต้นทุนราคาเชื้อเพลิง และต้นทุนวัตถุดิบ และกำลังซื้อภายในประเทศ ขณะที่การเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อบริษัท
- CEO ชี้แนะรัฐบาลใหม่ ออกนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่สร้างภาระการคลัง ไม่บิดเบือนกลไกตลาด ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมออกนโยบาย เร่งสร้างเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมกระตุ้นทุกเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันภาคเอกชน และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งเสริมรายอุตสาหกรรม และการส่งเสริมแรงงาน
ทั้งนี้ จากประเด็นคำถามพิเศษที่ได้มีการสอบถามผู้บริหารเพิ่มเติมว่า “จากมุมมองของภาคธุรกิจ ท่านประสงค์ให้รัฐบาลใหม่ออกนโยบายสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจของท่าน และการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างไร” ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจดังนี้
“รัฐบาลควรออกนโยบายที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่สร้างภาระด้านการคลังในอนาคตมากเกินไป และต้องเป็นนโยบายที่ไม่บิดเบือนกลไกตลาด และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งควรสนับสนุนให้เอกชนร่วมเสนอนโยบาย ตลอดจนเร่งการปลดล็อกกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัย เพื่อส่งเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพยายามรักษาเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่น และช่วยดึงดูดเงินลงทุนของต่างประเทศ และสร้างประเทศเป็นจุดเชื่อมโยงระดับภูมิภาค”
สรุปได้ 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เร่งส่งเสริมเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
- ออกมาตรการส่งเสริมโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ชัดเจน เช่น มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model เช่น การให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี การจับคู่ธุรกิจ (Matching) กับลูกค้าต่างประเทศ การส่งเสริมเครือข่ายทางธุรกิจ การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมองค์กร นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่
- ออกนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น การให้สิทธิดอกเบี้ยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในกลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green lLoan) โดยต้องการให้นโยบายมีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ประเด็นที่ 2 กระตุ้นเครื่องยนต์กลไกในการขับเคลื่อน/สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน/เพิ่มกำลังซื้อ เพื่อเพิ่มการบริโภคภาคประชาชนและภาคธุรกิจ
- ลดอัตราภาษีเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ
- แก้ไขปัญหาภาคครัวเรือน และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก (SMEs) เช่น การพักชำระหนี้ การช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ การนำหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบ เพื่อให้อยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
- ลดค่าครองชีพประชาชน อาทิ อุดหนุนราคาน้ำมันและเชื้อเพลิง
- ออกมาตรการสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ
- นโยบายกระตุ้นภาคการเกษตร โดยเสริมสร้างรายได้ หรือประกันรายได้
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
- ส่งเสริมประชาชนท่องเที่ยวในประเทศ
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวของนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งฟรีวีซ่า และลดขั้นตอนการเตรียมเอกสาร
- สนับสนุน/ผลักดันให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน
- เร่งดำเนินการผลักดันการลงทุนโครงการภาครัฐ
- เร่งงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อกระตุ้นการลงทุนการจ้างงานและการเพิ่มกำลังซื้อ
- เบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega Projects)
- เพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐในการลงทุนด้านเทคโนโลยี
- ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
- ส่งเสริมธุรกิจด้านความบันเทิงให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งด้านดนตรี การแสดง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คอนเสิร์ต ซึ่งเป็น Soft Power ที่มีศักยภาพสูง ที่ส่งผลบวกต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหาร แฟชั่น และอื่นๆ
- สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศออกไปแข่งขันกับต่างประเทศ อาทิ การลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆ
- สนับสนุนการลงทุน ทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ
- ส่งเสริมการส่งออก
- ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนรุนแรง
- เร่งเจรจาการค้ากับประเทศเป้าหมายเพื่อทำเขตการค้าเสรี (FTA) ให้สำเร็จเร็วขึ้น และเร่งเจรจาเพิ่มข้อตกลงการค้า หลังจากถูกถอดออกจากหลายรายการ รวมทั้งการดูแลเรื่องมาตรการกีดกันที่มิใช่ด้านภาษีศุลกากร
ประเด็นที่ 3 เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันภาคเอกชน และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม
- รัฐบาลควรจะให้การทำธุรกิจของภาคเอกชนเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ไม่ควรที่จะเข้าไปควบคุม แทรกแซงราคา และกำไรของธุรกิจ อาทิ การให้ความรู้กับประชาชนให้เข้าใจเกี่ยวกับการแก้หนี้อย่างยั่งยืน มากกว่าการที่เข้ามาแทรกแซงการแข่งขันของธุรกิจ เพราะสุดท้ายผู้ให้สินเชื่อรายเล็กๆ จะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนต่างๆ ไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้
- ลดการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานรัฐที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรม
- อนุญาตให้นำเข้าสินค้าบางประเภทที่มีผู้ผลิตเพียงรายเดียว ซึ่งทำให้มีอำนาจในการควบคุมราคา ช่วยลดต้นทุนการผลิตสูงและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
- เพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยลดต้นทุนธุรกิจ เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนที่เหมาะสม การลดค่าไฟฟ้า การสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ
- สนับสนุนให้เกิดแหล่งรวบรวมข้อมูลผู้ผลิตและบริการภายในประเทศ (Supplier Database) เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง
- ส่งเสริมนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการรวบรวมข้อมูลวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงานอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ ผ่านเทคโนโลยีให้เข้าถึงข้อมูลโดยง่าย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบสถานะคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตและผู้ขนส่งที่มีส่วนสร้างขยะหรือของเสีย (Waste Producer & Transportation)
- ทำความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้า และกลุ่มความร่วมมือที่สำคัญ โดยพิจารณาถึงผลประโยชน์ของแต่ละอุตสาหกรรม และออกมาตรการเพื่อรับมือมาตรการกีดกันการค้าด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากล
ประเด็นที่ 4 สร้างแรงส่งและนโยบายสนับสนุนรายอุตสาหกรรม
- กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร: ออกนโยบายแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และมีผลกระทบอย่างมากในระบบห่วงโซ่อุปทาน ให้ดำเนินนโยบายตามที่วางไว้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
- กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง: ผ่อนปรนเรื่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้ชาวต่างชาติ
- กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม: ออกนโยบายการสนับสนุนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร แทนนโยบายปัจจุบันมุ่งเฉพาะการอุดหนุนต้นทุนตัวรถยนต์เป็นหลัก โดยยังไม่มีมาตรการสนับสนุนธุรกิจอื่นๆ ใน Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ธุรกิจการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ธุรกิจประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเบี้ยประกันสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากยังลังเลในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลจึงควรสนับสนุนการลดต้นทุนของ Ecosystem รถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์สำหรับกรมธรรม์รถยนต์ไฟฟ้า
- กลุ่มทรัพยากร: มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และรักษาระดับต้นทุนพลังงาน
- กลุ่มบริการ: ออกมาตรการช่วยเหลือทางธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสาธารณสุข และเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน
ประเด็นที่ 5 ส่งเสริมด้านแรงงาน
- เร่งรัดการผ่านพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอิสระ (พ.ร.บ.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน รวมถึงการจัดให้มีประกันเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพด้วย
- พัฒนาแรงงานให้เป็นแรงงานมีฝีมือ (Skilled Labor) แต่ภาพลักษณ์ของการสนับสนุนจากภาครัฐยังคงรูปแบบมุ่งไปที่แรงงานกรรมกร หรือแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ มากกว่าการส่งเสริมให้แรงงานพัฒนาฝีมือ
- ปรับอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำควรค่อยเป็นค่อยไปอย่างเป็นขั้นตอน
โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในครั้งนี้ แม้ว่า CEO ที่มองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2566 จะดีขึ้น มีสัดส่วนลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน แต่คาดว่าจะดีขึ้นในปี 2567 โดยคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยว นโยบายการคลัง การใช้จ่ายภาครัฐ และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2666 และ ปี 2567 รวมทั้งมองว่ากำลังซื้อภายในประเทศ และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ดี ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแนะรัฐบาลควรออกนโยบายที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่สร้างภาระด้านการคลังในอนาคตมากเกินไป และต้องเป็นนโยบายที่ไม่บิดเบือนกลไกตลาด และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งควรสนับสนุนให้เอกชนร่วมเสนอนโยบาย ตลอดจนเร่งการปลดล็อกกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัย เพื่อส่งเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพยายามรักษาเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่น และช่วยดึงดูดเงินลงทุนของต่างประเทศ และสร้างประเทศเป็นจุดเชื่อมโยงระดับภูมิภาค