วันนี้ (29 พฤศจิกายน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 53/2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย
ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
สำหรับการพิจารณาปรับค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 นี้ กกพ. ชี้แจงว่าได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น
จับตานโยบายรัฐบาลตรึงค่าไฟต่อหรือไม่
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เห็นชอบให้ตรึงค่าไฟจากเดิมที่ตามปกติจะต้องจ่ายที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ในรอบบิลเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ให้เหลือเพียง 4.10 บาทต่อหน่วย
และในการประชุม ครม. วันที่ 18 กันยายน ได้รับทราบตามที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอคือสามารถเจรจาทำให้ค่าไฟฟ้าตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย
ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ระบุว่า ค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 สูงขึ้นกว่างวดปัจจุบันในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ที่รัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงขึ้น หรือลดลงมากกว่าที่ กกพ. ได้คำนวณไว้ ก็จะต้องมีนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
กกพ. คำนวณการปรับค่า Ft อย่างไร
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ในการประชุม กกพ. ได้มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่า Ft งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เป็น 3 กรณี ประกอบด้วย
กรณีที่ 1 ค่า Ft ประมาณการจำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินที่ต้องชำระคืนต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 ค่า Ft ประมาณการจำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินที่ต้องทยอยชำระคืนต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละ 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.93 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 ค่า Ft ประมาณการจำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินที่ต้องทยอยชำระคืนต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย
การคำนวณประมาณการค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 สาเหตุหลักมาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 61% จากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นกว่างวดก่อน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
และในวันนี้ คณะกรรมการ กกพ. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ในรูปแบบกรณีที่ 3 ตามที่ได้เปิดรับฟังความเห็นมาก่อนหน้านี้