×

จดหมายรักถึง ‘ลิโด’ และ ‘สกาลา’ ในวันที่จะไม่มีโปรแกรมหน้าให้ติดตามดู (1)

27.04.2018
  • LOADING...

เหมือนชะตากรรมถูกขีดเขียนเตรียมไว้

 

โปรแกรมเข้าฉายล่าสุดที่โรงภาพยนตร์ ‘ลิโด’ ณ ขณะนี้คือ A Quiet Place คล้ายเป็นสัญญาณว่า ‘ความเงียบ’ กำลังจะเกิดขึ้นกับสถานที่แห่งนี้ไปตลอดกาล

 

ชะตากรรมยังเล่นตลกไม่หยุด โปรแกรมอีกเรื่องที่เข้าฉายใกล้เคียงกันคือ Please Stand By เหมือนสื่อความหมายให้ผู้ชมและผู้ที่ผูกพันกับโรงภาพยนตร์ ‘โปรดเตรียมตัวและเตรียมใจ’

 

ดูเหมือนว่าข่าวลือตลอดหลายปีเกี่ยวกับการปิดตัวลงของ ‘ลิโด’ และ ‘สกาลา’ โรงภาพยนตร์สองแห่งสุดท้ายในเครือเอเพ็กซ์ที่ยืนตระหง่านคู่ ‘สยามสแควร์’ มายาวนาน จะถึงคราวเกิดขึ้นจริงแล้ว

 

แม้ว่ารายละเอียดหลายเรื่องเกี่ยวกับบทสรุปของโรงภาพยนตร์ ‘สกาลา’ จะยังไม่ชัดเจนเสียทีเดียว แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือการปิดตัวลงอย่างเป็นทางการของ ‘ลิโด’ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 หลังสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้สิ้นสุดลง และคิดว่าแม้แต่กับ ‘สกาลา’ (ที่แต่เดิมมีแผนว่าจะปิดตัวลงพร้อมกัน) ลงท้ายก็คงมีชะตากรรมร่วมไม่แตกต่างกัน

 

 

THE STANDARD เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวนี้มาตลอดหลายเดือน และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้น ชัดเจนที่สุดคือบรรยากาศของโรงภาพยนตร์ ‘ลิโด’ ที่วันนี้เงียบเหงาลงไปถนัดตา  

 

แน่นอนว่าเราติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ ‘ไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยงตลอดไป’ และโรงภาพยนตร์  ‘สแตนด์อโลน’ สองแห่งท้ายๆ ของประเทศ คงไม่ต่างกับสัจธรรมอื่นใดในโลก

 

แต่ขณะเดียวกันในฐานะ ‘แฟนโรงภาพยนตร์’ ในเมื่อจะต้องจากกันไป เราก็อยากจะเป็นตัวแทนรวบรวมจดหมายรัก ถึงผู้คน บรรยากาศ และสถานที่อันเป็นที่รัก

 

จดหมายรักจาก ‘มนุษย์’ มากหน้าหลายตา หลายสถานะ หลากความทรงจำ หลายความรู้สึกร่วม หลังจากได้เข้าไปใช้ ‘เวลา’ ผูกพันกับ ‘สถานที่’ อันเป็นที่รักแห่งเดียวกัน ก่อนที่หนึ่งในช่วงเวลาที่ดีที่สุด จะกลายเป็นความทรงจำในวันข้างหน้า

 

ถ้าอยู่จุดนี้ไปได้ตลอดอายุทำงานของผม 60-70 ปี ผมจะอยู่จนถึงขนาดโน้น เพราะโรงหนังกับชีวิตผมมันเป็นคนสำคัญซึ่งกันและกันแล้ว โรงหนังกับชีวิตผมมันเข้าใจกันดีแล้ว พูดง่ายๆ คือใจเรารัก

1)

แสงไฟจากชายในสูทเหลือง

: ป้อม-ไพวงค์ ภูบุตรตะ – แผนกนำบัตร

: อายุงาน 24 ปี

 

ชายในสูทเหลือง ตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับผู้ชมภาพยนตร์มากที่สุด

“ต้อนรับลูกค้าครับ บริการฝั่งหน้าประตู พอเข้าไปข้างในโรงก็ทำหน้าที่นำบัตร ลูกค้าจะมีตั๋ว ข้างในโรงมันจะมืดใช่ไหมครับ เราก็ส่องไฟนำให้ลูกค้าไปถึงจุดหมาย ตรงที่นั่งตามที่ระบุมาจากห้องตั๋ว

 

“เราชอบแผนกต้อนรับอยู่แล้ว เห็นลูกค้ามาดูหนังเยอะๆ เราก็ดีใจ ภูมิใจ เมื่อก่อนคนดูจะเยอะกว่านี้ โอ้โห รอบหนึ่งคนเต็มไปหมด โรงนี้เมื่อก่อนความจุ 1,000 กว่าที่นั่งนะครับ แต่ละรอบมีคนเข้ามาดู 700-800 ที่นั่ง วันหนึ่งหลายพันคน เวลาที่นั่งเต็มหมด พนักงานก็ดีใจด้วย

 

“เมื่อก่อนพนักงานไม่ได้น้อยแบบนี้ อยู่กัน 20-30 คน เพราะคนมาดูหนังเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ก็อย่างว่า คนดูหนังน้อยลง พนักงานเก่าออกไปบ้าง เจ้านายก็ไม่รับเข้ามาเพิ่มแล้ว”  

 

บรรยากาศของสกาลา ในวันคืนที่เต็มไปด้วยผู้คน

“โอ้โห แต่ก่อนหรูหราเหลือเกิน ยอมรับว่าโรงหนังในย่านนี้ สกาลาขึ้นชื่อที่หนึ่งเลย ผมทำงานอยู่ในโรงหนังที่หรูนะ เพราะโรงหนังพันกว่าที่นั่งเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ในกรุงเทพฯ มีแต่โรงเล็กๆ 200-300 ที่นั่ง

 

“ถ้าถามว่าเสน่ห์เขาแรงไหม เสน่ห์เขาแรงมากเลยครับ ลูกค้าถ้าได้มาดูหนังที่นี่เขาจะดีใจ แต่ก่อนเด็กวัยรุ่นมาดูนะ มีตั๋วหนัง ลิโด สกาลา โอ้โห อวดกันได้เลย ผมยังเคยรับจ้างเก็บหางตั๋วที่ไม่ใช้แล้ว เด็กมหาวิทยาลัยเมื่อก่อนเขามาขอร้องว่าเก็บไว้ให้หน่อยนะ เขาบอกว่าเอาไว้อวดเพื่อนว่าได้ดูหนังที่นี่”  

 

 

บรรยากาศโรงภาพยนตร์ในวันนี้

“เดี๋ยวนี้มีแต่ลูกค้าประจำ ผมเฉลี่ย 2-3 ปีหลังมานี้นะ เหลือแต่ลูกค้าประจำ เพราะเดี๋ยวนี้มันหาดูหนังได้หลายแบบ ดูตามเพจ ดูตามเว็บไซต์ แต่ลูกค้าคนทำงาน อายุ 40-50 เขายังดูหนังโรงใหญ่อยู่เยอะ แล้วพวกต่างชาติก็อยู่เยอะ แต่คนระดับวัยรุ่นจะน้อย ส่วนใหญ่เขาไปดูหนังตามห้างสรรพสินค้า”

 

‘สูทเหลือง’ เอกลักษณ์ระดับตำนาน

“โอ้ ชุดนี้หรอครับ เท่หรือไม่เท่ก็ใส่ชุดนี้กันมา 50 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มเปิดกิจการ ผมนี่รุ่นหลังแล้วนะ รุ่นเก่าๆ เขาใส่กันมานาน สูทตัดกันปีต่อปี แต่ชุดสีเดิม เหลืองอร่ามอย่างนี้ตลอด (หัวเราะ) คนเขาชอบกันเยอะนะ ถูกใจลูกค้าเยอะ ถูกใจผมอีกต่างหากนะครับ ใครไปใครมาก็ขอถ่ายรูป เขาอยากถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก”

 

มีสูททั้งหมดกี่ตัว

“เยอะเหมือนกัน ตัดปีหนึ่งสองตัว ก็เก็บเอาไว้เยอะ บางทีก็ให้รุ่นน้องที่เข้างานใหม่ไปบ้าง แต่ของผมเดี๋ยวนี้มีอยู่ 4-5 ตัวครับ สูทสีเหลืองตัวนี้”

 

มีแฟนโรงหนังมาขอซื้อบ้างไหม

“ลูกค้าเขาบอกว่าสวยดี เขายังบอกเลยว่า เออ ได้ยินข่าวว่าโรงหนังจะเลิกกิจการ ถ้าเกิดขอซื้อจะได้ไหม แบบนั้นก็มีเหมือนกัน ผมบอกว่าไม่ได้ มันเป็นของบริษัทเขาจัดมาให้ ถึงเวลาผมก็ต้องคืนเขาไป”

 

ด้วยรักและผูกพัน

“ผมเข้างานเดือนเมษายน 2537 นับเดือนนี้ 24 ปีแล้วครับ ตอนนี้อายุ 51 ปี ผมเป็นคนต่างจังหวัด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาทำงานก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะอยู่นานขนาดนี้ คิดแค่ว่าจะเข้ามาทำงานสักปีสองปี แต่พอทำงานครบสองปีก็ลืมกลับแล้ว กลายเป็น 24 ปีเท่าทุกวันนี้ ไม่รู้อยู่ได้ยังไง แปลกเหมือนกัน (หัวเราะ)

 

“ผมเปรียบเทียบบ้านหลังนี้เหมือนครอบครัวใหญ่ หมายถึงโรงหนังในเครือข่ายเอเพ็กซ์ โรงหนังสกาลา โรงหนังลิโด อยู่ด้วยกันแล้วมันมีความสุขดี มีความอบอุ่น มันครบวงไปหมดจนเราลืมกลับบ้านไปซะแล้ว ที่นี่ก็เหมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ มีพ่อ มีแม่ ครบวงจรหมด เราปรึกษากันได้หมด คนในบริษัทร้อยกว่าคนอยู่กันเป็น 10-20 ปีหมดเลย ไม่รู้เป็นยังไง คือมันรัก ใจมันรัก”

 

 

ถ้าโรงภาพยนตร์สกาลาต้องปิดตัวลงจริงๆ …

“ได้ยินข่าวผมก็ตกใจนะ ทำใจไม่ได้ โรงหนังนี่เท่ากับบ้านหลังที่สองของผมเลยนะ หลังแรกคือบ้านที่เราเกิด หลังที่สองคือจุดนี้

 

“ถ้าคุณทำงานอยู่ในบ้านเรา แล้วมาบอกว่าเดือนนั้นเดือนนี้จะอยู่บ้านหลังนี้ไม่ได้แล้วนะ คุณเสียใจไหม ผมเสียใจ ได้ยินข่าวมา 2-3 เดือนแล้ว ผมยังทำใจไม่ได้เลย ทุกวันนี้ใกล้จะจบแล้ว ผมก็ยังทำใจไม่ได้ ผมอยู่จุดนี้มาครึ่งชีวิต อยู่ที่โรงหนังแห่งนี้มากกว่าอยู่บ้านตัวเองอีกต่างหาก ผมอายุ 51 ปี อยู่บ้านตัวเองมาแค่ 20 กว่าปี แต่ผมอยู่ที่นี่ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ผ่านมา 26-27 ปีแล้ว ผมไม่รักได้ยังไง ความผูกพันมันมีไปซะแล้ว พนักงานทุกแผนกเราเจอหน้ากัน ทักทายกันทุกวันทุกวี่ พอวันหนึ่งหายไปกว่าจะทำใจให้ฟื้นขึ้นได้คงร่วมปีสองปี”

 

ถ้าโรงหนังแห่งนี้มีชีวิต อยากคุยอะไรกับเขา

“ผมจะบอกว่า ถ้าอยู่จุดนี้ไปได้ตลอดอายุทำงานของผม 60-70 ปี ผมจะอยู่จนถึงขนาดนั้น เพราะโรงหนังกับชีวิตผมมันเป็นคนสำคัญซึ่งกันและกันแล้ว โรงหนังกับชีวิตผมมันเข้าใจกันดีแล้ว พูดง่ายๆ คือใจเรารัก”

 

เราอยู่กันเหมือนพี่น้อง เป็นครอบครัวใหญ่ ใจหาย เพราะเราจะไม่ได้เจอลูกค้า เราจะไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้เจอเจ้านาย คนเคยเจอกันพอคิดว่าจะไม่ได้เจอ มันก็ใจหาย

2)

ตั๋วหนังและแผนผังที่นั่งตรงหน้าเคาน์เตอร์

: ต้อม-ปวีณา เรืองเดช – แผนกจำหน่ายบัตร

: อายุงาน 36 ปี  

 

โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ องค์กรที่พนักงานอายุงานยาวนานอย่างที่สุด  

“36 ปีแล้วค่ะ ทำงานที่นี่มาตั้งแต่ปี 2525 ที่จำได้เพราะพอเรียนจบ อายุ 18-19 ก็มาทำที่นี่ แล้วก็ทำที่นี่มาตลอด ไม่เคยเปลี่ยนงาน”

 

งานของพนักงานจำหน่ายบัตรสนุกยังไง ทำไมจึงทำงานได้ยาวนานขนาดนี้

“ขายตั๋วสนุกดี เพราะได้เจอคนเยอะแยะ เราได้ทำหน้าที่นี้ก็ชอบ”

 

เมื่อก่อนพี่ชายทำงานอยู่โรงหนัง เรามาเที่ยว พอเห็นคนเยอะเราก็อยากทำงานโรงหนัง เพราะแต่ก่อนคนเยอะมาก พี่ชายก็เลยพามาทำงานเป็นพนักงานจำหน่ายบัตรที่ ‘ลิโด’ จากนั้นก็อยู่มาเรื่อย ขายตั๋วมาตลอด”

 

บรรยากาศของโรงหนังสกาลาในวันนี้ ต่างกับวันวานอย่างไรบ้าง

“สภาพโรงหนังยังคงเดิม แต่บรรยากาศต่างกันมาก เมื่อก่อนคนดูเยอะมาก ขายตั๋วสนุก แต่เดี๋ยวนี้โรงจะเงียบๆ คนเยอะเป็นบางเรื่อง เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยดูหนังกันที่สกาลา จะไปดูในห้างสรรพสินค้ากันหมด”

 

ภาพยนตร์ยอดฮิตในความทรงจำ

“เรื่อง La Boum บรรยากาศตอนนั้นเราน่าจะอยู่ลิโด คนรอดูเยอะมาก ต่อคิวกันยาวไปจนรอบห้องตั๋วเลย ห้องจำหน่ายบัตรเปิดตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า ปิดเวลา 5 โมงเย็น คนมารอซื้อรอจองตั๋วกันแน่นโรงตั้งแต่เช้า”

 

(La Boum ภาพยนตร์วัยรุ่นจากประเทศฝรั่งเศสที่โด่งดังมากในปี 2523 มีชื่อภาพยนตร์เมื่อเข้าฉายในประเทศไทยคือ ลาบูมที่รัก นักแสดงที่โดดเด่นอย่างมากในเรื่องคือ โซฟี มาร์โซ (Sophie Marceau) สาวน้อยดาวรุ่งวัยเพียง 14 ปี ที่เล่นหนังเรื่องแรกก็โด่งดังไปทั่วโลก)

 

โซฟี มาร์โซ (Sophie Marceau) ใน ลาบูมที่รัก (2523)

 

บรรยากาศหลังเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตร ในวันที่ลูกค้าน้อยลง

“พอกาลเวลามันเปลี่ยนไป ลูกค้าน้อย รายได้ก็น้อย แต่โรงมีค่าใช้จ่าย เราก็อยากให้คนดูหนังเยอะๆ เพื่อที่โรงจะได้มีรายได้เยอะๆ เดี๋ยวนี้คนดูน้อยก็น่าใจหาย เวลาหนังฉายแต่ละรอบก็ต้องมานั่งรอคน เฮ้ย รอบนี้จะมีกี่คนนะ จะมีใครขึ้นมาดูหรือเปล่า ยิ่งรอบดึกๆ ยิ่งต้องคอยลูกค้า ลูกค้ามีน้อยเราก็ต้องฉาย เพราะว่าเขามารอแล้ว”

 

เหงาไหม ช่วงรอลูกค้า  

“มันก็… เอ๊ะ ทำไมเหงา ทำไมไม่มีคนขึ้นมาเลย คนหายไปไหนหมด”

 

รอบที่ผู้ชมน้อยที่สุด

“รอบที่คนดูน้อยที่สุดคือรอบประมาณ 12.00-12.15 น. กับรอบสุดท้าย 21.00 น. ซึ่งแล้วแต่หนังนะ ถ้าหนังคนไม่นิยมคนจะน้อยมาก เงียบเลย ส่วนรอบ 12.00 น. น้อยที่สุดคือประมาณ 4-5 ที่นั่ง และรอบสุดท้าย 21.00 น. น้อยที่สุดประมาณ 8-10 ที่นั่ง มันก็น้อยไป ถึงเวลาเราจะคอยชะเง้อมองว่าจะมีใครขึ้นมาไหมเนี่ย…จะได้เวลาฉายแล้ว ทำไมคนไม่ขึ้นมาสักที เพราะนั่งจากห้องตั๋ว มองลงไปเราจะเห็นไง”

 

 

ราคาบัตรชมภาพยนตร์ที่ลิโด, สกาลา ถูกกว่าที่อื่น

“ใช่ ถูกกว่าที่อื่นจริง เพราะเรายังขายอยู่ที่ราคา 120, 140, 160 บาท ซึ่งไม่มีแล้ว ตอนนี้มีแต่ตั๋วราคาแพงๆ”

 

ทำไมถึงยังขายบัตรราคานี้ ขายราคานี้แล้วโรงอยู่ได้เหรอ  

“ยังไงดีล่ะ เจ้านายบอกให้ขายราคานี้ อนุรักษ์ไว้ราคานี้ ที่ไม่แพงเกินไป เพราะว่าคนจะได้มาดูหนัง กลัวว่าถ้าขึ้นราคาแล้วลูกค้าจะซื้อไม่ไหว

 

“ความจริงเราเพิ่งจะปรับราคาเมื่อปีที่แล้ว หลังจากขายบัตรราคา 100, 120, 140 บาท มาหลายสิบปีมาก แต่มันไม่ไหวแล้วจริงๆ ขอขึ้นสัก 20 บาท แล้วพอจะขึ้นราคา เจ้านายก็ไม่ค่อยอยากจะอนุมัติ เพราะก็เกรงใจลูกค้า เกรงใจคนดู กลัวว่ามันจะแพงไปไหม

 

“แต่ถ้าเป็นไปตามยุคสมัยมันต้องขึ้น เพราะบางครั้งเราก็อยู่ไม่ได้ อย่างบัตรราคา   100-120 บาท เวลาหนังไม่มีคนดู มันใจหายนะ บางรอบมีคนดู 10 คน โรงได้เงินแค่รอบละพันเดียว แต่ฉายหนัง 2 ชั่วโมง เราก็เห็นใจเจ้านาย”

 

เอกลักษณ์ของโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์คือ ‘บัตรชมภาพยนตร์’ ที่ยังคงความคลาสสิก

“ใช่ค่ะ ตั๋วหนังก็ต้องคลาสสิกเหมือนโรง ไม่ได้เปลี่ยน ทุกวันนี้ยังใช้มือตอกเหมือนเดิม ยังเขียนตั๋วมีแปลนเหมือนเดิม โรงจะอนุรักษ์อย่างนี้ไว้ให้คงเดิมเหมือนแต่แรก แล้วลูกค้าชอบแบบนี้นะ เวลาลูกค้าใหม่ๆ มาเห็น เขาจะทักว่าหนูไม่เคยเห็นตั๋วแบบนี้เลย ส่วนมากเขาซื้อแล้วจะเก็บไว้”

 

ที่นั่งแถวไหนที่พนักงานจำหน่ายบัตรคิดว่านั่งแล้วชมภาพยนตร์ได้อรรถรสที่สุด

“คิดว่าแถว G ถ้าเกิดลูกค้าถามว่านั่งตรงไหนสบาย เราจะแนะนำลูกค้าว่าให้เลือกแถว G เพราะมันมีที่วางขา ลูกค้าจะได้นั่งแบบไม่ต้องเมื่อย ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าก็ชอบนะคะ”

 

 

ความผูกพันระหว่างพนักงานโรงภาพยนตร์ และผู้ชมภาพยนตร์

“ลูกค้าประจำมาก็คุยกัน สวัสดีกัน เป็นยังไงสบายดีไหม ก็จะทักทายกัน ซื้อขนมมาฝากกัน ทำขนมมาให้กัน เพราะเราเห็นเขามาดูประจำ ไม่รู้จักชื่อนะ แต่เห็นเขาทุกอาทิตย์”   

 

หลังจากรู้ข่าวว่าโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ (ลิโด, สกาลา จะต้องปิดตัวลง)

“รู้สึกใจหาย เพราะอยู่ที่นี่ก็เหมือนอยู่บ้านเรา เราใช้ชีวิตที่นี่มากกว่าที่บ้าน เวลาอยู่บ้านคือนอน ตื่นเช้าแต่งตัวออกจากบ้านมาทำงาน ตกเย็นกลับไปนอน แล้วเช้าก็กลับมาที่นี่ เราอยู่กันเหมือนพี่น้อง เป็นครอบครัวใหญ่ ถ้าเราจะไม่ได้เจอลูกค้า ไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้เจอเจ้านาย คนเคยเจอกันพอคิดว่าจะไม่ได้เจอ มันก็ใจหาย”  

 

ถ้าโรงหนังแห่งนี้มีชีวิต อยากคุยอะไรกับเขา

“ฉันรักเธอนะ (หัวเราะ) อยู่กันมาตั้งนาน อยากอยู่ด้วยกันตลอดไป แต่มันคงไม่มีวันนั้นอีกแล้ว”

 

การที่เราฉายหนังให้เขาดูแบบไม่เสียอรรถรส หรือฉายหนังให้เขาดูจนจบรอบ Happy Ending ก็คือความภูมิใจ ความสำคัญในงานของเราคือทำให้เขาดูหนังแล้วมีความสุข

3)

แสงจากเครื่องฉายเหนือที่นั่ง

: พี่ปอง-ปองภพ อินเหี้ยน – แผนกฉายภาพยนตร์

: อายุงาน 44 ปี  

 

ผู้คุมเครื่องฉายภาพยนตร์ ตำแหน่งสำคัญของโรงภาพยนตร์

“ใจรักมากเลยครับ ผมอยู่ที่นี่มา 44 ปี ทำงานที่แรก อาชีพแรก อยู่กับเครื่องฉายหนังอย่างเดียว ไม่ได้ไปที่ไหนอีกเลย

 

“สมัยเด็กๆ ผมจะอยู่กับหนังกลางแปลงตลอด มีหนังฉายที่ไหนต้องไปดูที่นั่น ดูตั้งแต่ค่ำจนถึงเช้า ชอบคลุกคลีอยู่กับเครื่องฉาย พอหนังเลิกเราจะคอยไปเดินดูว่ามีเศษฟิล์มหล่นไหม ถ้าเจอเราก็จะเก็บมาดู หมายความว่ารักมาก รักมาตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ”

 

วันแรกที่โรงภาพยนตร์

“ผมเริ่มต้นงานจากตำแหน่งฉายภาพยนตร์เลยครับ ตอนแรกเข้ามาฝึกประสบการณ์การฉายภาพยนตร์ สมัยก่อนยังฉายด้วยฟิล์ม ก็ต้องดูแลกันอย่างดีหน่อย คนฉายหนังต้องคอยระวังอย่าให้ฟิล์มขาดระหว่างฉาย ต้องคอยดูว่าภาพจะมัวไหม เพื่อไม่ให้เสียอรรถรสแก่ลูกค้าเวลาดูหนัง”

 

ภาพยนตร์ที่คุมเครื่องฉายเอง ดูเอง และชอบเอง

“หนังยุคก่อนจำชื่อเรื่องไม่ค่อยได้ จะเป็นหนังไทยซะส่วนมากครับ แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ มีหนังที่ประทับใจอยู่ 2 เรื่องคือ Avatar (2009) กับ The Lord of the Rings (2001) โดยเฉพาะ Avatar ดูกี่รอบก็ไม่เบื่อ เพราะผมเป็นคนฉายเองกับมือ”

 

ภาพยนตร์ที่ผู้ชมโรงภาพยนตร์สกาลาชื่นชอบ

Ghost (1990) (ชื่อภาพยนตร์ในเวอร์ชันไทยคือ วิญญาณ ความรัก ความรู้สึก นำแสดงโดย แพทริก สเวซีย์ และ เดมี มัวร์) คนดูเยอะมาก ถ้าย้อนไปสมัยก่อนจะเป็นเรื่อง สองสิงห์ตะลุยสิบทิศ (The Undefeated ออกฉายปี 1969 และยังเป็นหนังเรื่องแรกของสกาลาที่เปิดรอบฉายในปี 2512)

 

บรรยากาศโรงภาพยนตร์สกาลา (2512) ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกด้วยภาพยนตร์ The Undefeated หรือชื่อภาษาไทยคือ สองสิงห์ตะลุยศึก

 

บรรยากาศของโรงหนังสกาลาในวันนี้ ต่างกับวันวานยังไงบ้าง

“ต่างกันเยอะนะครับ สมัยก่อนตื่นเช้าขึ้นมา จะเห็นคนมายืนเข้าแถว รอจองบัตรเต็มหน้าโรงตั้งแต่ 9 โมงเช้า เดี๋ยวนี้ตื่นขึ้นมา 11 โมงยังไม่ค่อยมีคนเลยครับ”

 

รอบฉายที่มีผู้ชมมากที่สุดในปัจจุบัน

“รอบที่มีคนดูเยอะหน่อยคือรอบ 18.30 น. ช่วงเย็นคนเลิกงานก็จะมาดูหนัง หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ได้เป็นบางรอบ ถ้าหนังดังๆ คนก็จะเยอะหน่อย มีคนดูรอบละ 200-300 คน

 

“แต่บรรยากาศเดี๋ยวนี้ มองลงมาจากห้องฉายมันจะรู้สึกหดหู่ใจมาก เห็นคนน้อยแล้วก็สงสารเจ้านายครับ มันไม่มีคน ต่างกับสมัยก่อน 1,000 ที่นั่งก็เต็ม เสริม 1,200 ก็เต็ม คนฉายหนังเห็นแบบนั้นมันจะมีความสุขมากเลย อยากจะบริการอย่างดี ดูแลทั้งตัวหนังสือ แสงไฟให้อยู่ในสภาพที่คงที่ อยากทำให้เขาดูหนังไม่เสียอรรถรส”

 

 

ผู้คุมเครื่องฉายภาพยนตร์…งานที่สัมผัสกับผู้ชมภาพยนตร์จากระยะไกล

“ส่วนมากจะไม่ได้สัมผัสไม่ได้คุยกับผู้ชม เราเห็นเวลาเขาเข้าไปในโรงแล้ว เพราะห้องฉายจะปฏิบัติงานอยู่ข้างบนอย่างเดียว”

 

ถ้าอย่างนั้น อะไรคือความผูกพันระหว่าง ‘คนฉายหนัง’ กับ ‘คนดูหนัง’  

“ถึงไม่ได้เจอก็ผูกพัน การที่เราฉายหนังให้เขาดูแบบไม่เสียอรรถรส หรือฉายหนังให้เขาดูจนจบรอบ Happy Ending ก็คือความภูมิใจ ความสำคัญในงานของเราคือทำให้เขาดูหนังแล้วมีความสุข”

 

ที่นั่งแถวไหนของโรงที่คนฉายหนังคิดว่าผู้ชมจะได้อรรถรสมากที่สุด

“น่าจะเป็นแถว D แถว E ที่นั่งจะอยู่ในช่วงกลางของโรงพอดี จะดูได้เหมาะสมที่สุด ได้อรรถรสมาก ทั้งเสียงหน้า เสียงข้าง เสียงหลัง มันจะมาสัมผัสกันตรงนั้นพอดี”  

 

เมื่ออาชีพแรก อาชีพที่รัก ณ ที่ทำงานแรกในชีวิตกำลังจะปิดฉากลง  

“รู้สึกใจหาย หดหู่ใจเหมือนกัน แต่เราก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะมันถึงวาระ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น…ใจหาย ใจหายมากเลย ยังไม่รู้ว่าวันสุดท้ายจะเป็นยังไง ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ครับ”

 

ถ้าโรงหนังแห่งนี้มีชีวิต อยากคุยอะไรกับเขา

“อยากถามเขาว่าอยากจะเลิกไหม อยากจะไปไหม ถ้าเขามีชีวิตนะ”  

 

 

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก: Apex Lido / facebook

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X