ความยั่งยืนเป็นโจทย์ใหญ่ในระดับโลกที่ซับซ้อน สำคัญ เร่งด่วน จำเป็นต้องการการร่วมมือกันและเดินหน้าไปพร้อมกันของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ
วันนี้ (25 พฤศจิกายน) ที่งาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 วันที่สาม บนเวที Sustainability Unleashed: Strategies for Achieving Net Zero กลยุทธ์ยั่งยืนโลก สู่สังคมไทยคาร์บอนต่ำ
Keith Davies ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและความยั่งยืนจาก Monitor Deloitte ได้ทิ้งท้ายข้อเสนอแนะให้กับภาคธุรกิจเพื่อการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เข้าใกล้ Net Zero ไว้ 7 ข้อ
1. ผนึกเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร
เป็นหน้าที่ของผู้นำและคณะกรรมการบริหารในองค์กรที่จะต้องตั้งเป้าให้ชัดเจน เพราะการขับเคลื่อนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่เกิดการผลักดันจากด้านผู้บริหาร
2. สร้างความเชื่อมั่นโดยการทำกิจกรรมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เชื่อถือได้
ผลสำรวจจาก Deloitte พบว่า องค์กรปัจจุบันมีการทำกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนจำนวนมาก ทว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้ขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เช่น การใช้วัสดุที่ยั่งยืน การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน หรือการอบรมพนักงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและผลกระทบ
Keith แนะว่าองค์กรควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ ‘Needle-Moving’ หรือ ‘เห็นน้ำเห็นเนื้อ’ เพิ่มมากขึ้น เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ การกำหนดเกณฑ์ความยั่งยืนที่ชัดเจนกับซัพพลายเออร์หรือคู่ค้า หรือการผูกโยงเงินเดือนของผู้บริหารกับผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท
3. มอบอำนาจให้บอร์ดบริหาร
Keith เชื่อว่าการกำหนดกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ขององค์กร เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางและอนาคตด้านความยั่งยืนของบริษัท
4. สนับสนุนการร่วมมือกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ด้านความยั่งยืน รวมถึงผนวกรวมพนักงานในองค์กรให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืน
5. คิดถึงโอกาสในระยะยาว
ผู้นำต้องหาสมดุลระหว่างเป้าหมายระยะสั้น และไม่ลืมเป้าหมายระยะยาว
Keith เผยผลสำรวจที่น่าสนใจว่า ภายในปี 2070 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีต้นทุนเพิ่ม หากไม่เกิดการผลักดันใดๆ ด้านความยั่งยืนสูงถึง 96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในทางตรงกันข้าม การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินไปอย่างแข็งแกร่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “a new engine for economic growth” ซึ่งอาจเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เอเชีย-แปซิฟิกได้ถึง 47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
6. ลงทุนในเทคโนโลยีแห่งปัจจุบันและอนาคต
ผลสำรวจของ Deloitte พบว่า ผู้บริหารองค์กรกว่า 75% กำลังเพิ่มเงินลงทุนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องการเงินลงทุนอีกมาก เนื่องจากเทคโนโลยีที่จำเป็นกว่า 40% ที่จะช่วยให้เรามุ่งไปสู่ Net Zero ได้ยังอยู่ในขั้นการทดลองเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมหนัก และเทคโนโลยีการกักเก็บและจัดการคาร์บอน
7. ร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ
ความยั่งยืนเกิดขึ้นไม่ได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
เพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรม ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคม ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อบรรลุเป้าหมายทางความยั่งยืนร่วมกัน