×

โลกระอุ ปี 2024 สงครามใหญ่ยังไม่จบ หลายจุดร้อนที่เปราะบางอยู่ในเอเชีย

24.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (24 พฤศจิกายน) ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ภายใต้หัวข้อ ‘บทบาทไทยในสมรภูมิโลกที่แตกเป็นเศษเสี้ยว’ (Geopolitics Unveiled: Shaping Thailand’s Role in a Fragmented World) ผ่านการดำเนินรายการโดย วีณารัตน์ เลาหภคกุล

 

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า สงครามแบบดั้งเดิม ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ประกอบกับสงครามรูปแบบใหม่ ทั้งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โรคระบาด รวมถึงการศึกษา ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่น่ากังวลในช่วงเวลานี้ 

 

ขณะที่ ดร.สุรชาติ ระบุว่า ขณะนี้เรากำลังเห็นการหวนคืนของสงครามเย็น เห็นความตึงเครียดในเชิงโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศที่แข่งขันกันในมิติต่างๆ ทั้งด้านการเมือง การทูต การทหาร เศรษฐกิจ การเงิน สังคม เทคโนโลยี และข่าวสาร โดยการแข่งขันกัน (Competition) ก่อให้เกิดความขัดแย้ง (Conflict) และอาจตามมาด้วยการเผชิญหน้ากัน (Confrontation) จนกลายเป็นวิกฤต (Crisis) และสงคราม ซึ่งทั้งหมดนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้การร่วมมือกัน (Corporation) ลดน้อยลง 

 

โดย ดร.สุรชาติ ยังตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกับเวทีโลกและเวทีในภูมิภาค พอโลกตึง ภูมิภาคก็ตึง ภูมิภาคเริ่มแบ่งแยกกันโดยสภาวะของชุดความคิดทางการเมือง ส่งผลให้องค์การระดับภูมิภาคอ่อนแอลง พร้อมกับการมาของยุทธศาสตร์ชุดใหม่ๆ ทั้งยังคาดการณ์ว่า ปี 2024 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นสนามรบทางการเมืองไม่ต่างจากเดิม

 

ทางด้าน ดร.อาร์ม มองว่า “โลกปัจจุบันเป็นยุคของการแข่งขันกันด้านความมั่นคง มักจะมีจุดร้อนใหม่ๆ เกิดขึ้นแบบที่เราไม่น่าเชื่อ และจะมีลักษณะเป็นสงครามตัวแทน (Proxy War) แบ่งฝักฝ่ายและแบ่งขั้วดูเหมือนจะน่ากังวลขึ้น แต่ก็เป็นเพราะว่าโลกขณะนี้เป็นโลกที่เปราะบางขึ้นมากจริงๆ” 

 

สำหรับคำถามที่ว่า สงครามและความขัดแย้งใหญ่ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้จะจบลงอย่างไร ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ว่า “สงครามอิสราเอล-ฮามาสอาจไม่จบลงในเร็วๆ นี้” ซึ่งเห็นสอดคล้องกับ ดร.สุรชาติ ที่ก็มองว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังจะไม่จบเร็วๆ นี้เช่นเดียวกัน พร้อมกับระบุว่า “สงครามในยูเครนจะจบเมื่อกระสุนหมดและจนกว่าจะหมดแรง ซึ่งอาจไม่ง่าย เพราะเกาหลีเหนือก็สนับสนุนกระสุนให้รัสเซีย ขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปก็ให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง” 

 

ดร.สุรชาติ ยังกล่าวอีกว่า “7 ตุลาคมของอิสราเอลคือ 11 กันยา ของสหรัฐฯ เป็นการถูกโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัวโดยกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งหลังจากนี้เราอาจเห็นคลื่นการก่อการร้ายลูกใหม่ที่ซ้อนเข้ากับคลื่นสงครามชุดเดิม”

 

นอกจากนี้ ทั้งสามท่านยังเห็นพ้องกันว่า ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ รวมถึงคาบสมุทรเกาหลี ล้วนแต่เป็นจุดร้อนที่มีความเปราะบางอย่างมาก โดย ดร.อาร์ม ระบุว่า “จุดร้อนที่เราพูดๆ กันไม่ได้เพิ่งร้อน แต่ร้อนมาแต่ไหนแต่ไร มาวันนี้จุดเหล่านี้เปราะบางที่สุดก็เพราะว่าสหรัฐฯ ไม่เหมือนเดิม หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามถึงอำนาจนำและศักยภาพในมิติต่างๆ ของสหรัฐฯ อีกทั้งบริบทที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ต่างออกไปจากอดีต จุดร้อนเลยเปราะบางมากขึ้น พร้อมที่จะลุกลามเป็นไฟ และเกิดปัญหาได้ทุกเมื่อ”

 

“สงครามมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งสงครามร้อนและสงครามเย็น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาทิ สงครามชิป แต่สมรภูมิการสู้รบกันของสงครามเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจอาจอยู่ในสมรภูมิเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทั้งคู่เริ่มขึ้นพร้อมกัน ไม่มีใครได้เปรียบใคร ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มสุดตัวในการที่จะเป็นผู้นำ และหลังจากนี้การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นเร็วมาก เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเทคโนโลยีใดจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม หรือเปลี่ยนสมการของมหาอำนาจ เราจึงอาจจะต้องมองข้ามช็อตและรีบเข้าไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้นให้ทัน”

 

ขณะที่คำถามที่ว่า ท่ามกลางโลกที่ผันผวนนี้ ไทยควรมีจุดยืนอย่างไร ดร.สุรเกียรติ์ ตอบคำถามด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า

 

1) การแสดงบทบาทนำในอาเซียนเป็นสิ่งที่ดี แต่เราจะแสดงบทบาทนำนั้นในจังหวะที่อาเซียนแตกกันในหลากหลายประเด็นได้อย่างไร

2) เราจะเตรียมบุคลากรของเราอย่างไรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ต้องปรับคนของเราให้กลายเป็นคนที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 

3) จุดยืนด้านความมั่นคงมีความอ่อนไหวมาก ทุกฝ่ายต้องพูดคุยกัน บางครั้งอาจลู่ตามลมไม่ได้ เพราะเราจะเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

 

ด้าน ดร.สุรชาติ ตอบคำถามเดียวกันนี้ว่า วันนี้ผ่านเก้าปีของการหายไปจากเวทีโลก เก้าปีของการหลุดออกจากจอเรดาร์ 

 

1) การพลิกฟื้นสถานะบนเวทีโลกเป็นเรื่องสำคัญ 

2) บนเงื่อนไขความขัดแย้งโลก ไทยต้องรักษาระยะต่อ และระวังระยะห่าง ในความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจ 

3) ต้องทำความเข้าใจเวทีโลก

4) ต้องพัฒนาความสัมพันธ์และเตรียมรับความพลิกผันจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังปีใหม่สงครามในเมียนมาอาจจะยกระดับมากขึ้น

5) กระชับความร่วมมืออาเซียน สนับสนุนมติอาเซียน เลิกเล่นคนเดียวในปัญหาเมียนมา

6) ไทยต้องกล้าเปิดเวทีทางการทูตใหม่ๆ เช่น การทูตสิ่งแวดล้อม การทูตด้านมนุษยธรรม การทูตด้านสาธารณสุข

และ 7) กระทรวงการต่างประเทศ อาจต้องเตรียมรับสถานการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ก่อนที่ ดร.อาร์ม จะกล่าวเสริมและกล่าวทิ้งท้ายว่า “นอกจากการที่อยู่ในจอเรดาร์ เราอาจต้องขยายจอเรดาร์ด้วย ดำเนินการทูตเชิงรุกในประเทศที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และเป็นประเทศสำคัญในการกระจายความเสี่ยง ถ้าเกิดว่าสงครามร้อน สงครามเย็นร้อนขึ้นจริงๆ ก็แพ้กันหมดทุกคน รวมถึงมหาอำนาจด้วย ในเชิงธุรกิจเราจึงต้องมองหาตลาดใหม่ๆ และกระจายความเสี่ยงในโลกที่ผันผวน”

 


 

📌อัปเดตเทรนด์โลกกว่า 20+ Sessions ซื้อบัตรชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/TSEF2023ED 

 

✅ ราคาพิเศษ! 2,500 บาท ถึง 31 ธันวาคม 2566 เท่านั้น

✅ รับชมออนไลน์ทุกที่ทั่วโลก 

✅ ดูย้อนหลังนาน 6 เดือน (1 ธันวาคม 2566 – 31 พฤษภาคม 2567)

✅ สรุปเนื้อหา Visual Summary ทุกเวที

 

Media Partner

📌รับสรุปเนื้อหาทุกเวที 20+ Sessions 

ซื้อบัตรชมย้อนหลังวันนี้ดูได้นานถึง 6 เดือน

https://bit.ly/TSEF2023MP 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X