×

ผู้ว่าแบงก์ชาติ มอง Thailand Financial Landscape 2024 ต้องเตรียมพร้อมใน 3 มิติ พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อสร้างความพร้อมของประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
23.11.2023
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่า ธปท. ชี้ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงินไทยปี 2024 ต้องสร้างความสมดุลควบคู่กับการดูแลความเสี่ยง อีกทั้งจำเป็นต้องเน้นในเรื่องของความยืดหยุ่น (Resilience) มากกว่าเสถียรภาพ ดังนั้นกรอบการกำกับดูแลต้องดูตามความเสี่ยงให้เหมาะสม

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ในหัวข้อ Thailand Financial Landscape 2024 ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงินไทยปี 2024 ว่า ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงินที่ประเทศควรมีเพื่อเตรียมความพร้อมสู่อนาคต ต้องประกอบไปด้วย 3 Open ได้แก่ Open Data, Open Infrastructure และ Open Competition เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางการที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางการเงินของประเทศไทย โดยต้องสร้างความสมดุลควบคู่กับการดูแลความเสี่ยง อีกทั้งจำเป็นต้องเน้นในเรื่องของความยืดหยุ่น (Resilience) มากกว่าเสถียรภาพ ดังนั้นกรอบการกำกับดูแลต้องดูตามความเสี่ยงให้เหมาะสม

 

ดังนั้นประเด็นที่ ธปท. ต้องการเห็นภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงินที่ประเทศควรมี เพื่อเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่อนาคต ควรมีใน 3 มิติ Snapshot ที่สำคัญ ดังนี้

 

Snapshot ที่ 1 Payment ซึ่งจะต้องเคลื่อนย้ายไปสู่ Digital Payment ที่มากขึ้น ด้วยโจทย์สำคัญที่ต้องการลดต้นทุนในการบริหารจัดการธนบัตรของไทย ที่มีจำนวนพันธบัตรหมุนเวียนในระบบประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีต้นทุนที่ต้องใช้ในการบริหารจัดการที่สูงมากถึงประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อสร้างให้เกิดโอกาสมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าทำได้ดี โดยคนไทยใช้ Digital Payment มากขึ้น ล่าสุดจำนวนลงทะเบียน PromptPay 76.3 ล้าน ID มีการใช้งานเฉลี่ย 56.4 ล้านธุรกรรมต่อวัน ใช้ Digital Payment เฉลี่ย 500 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking เป็นอันดับ 1 ของโลก

 

อย่างไรก็ดี ธปท. ยังต้องการเห็นการใช้งานระบบ Digital Payment ที่เพิ่มขึ้นอีก เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังมีการใช้เงินสดระบบสัดส่วน 56% ลดลงจากช่วง 5 ปีก่อนที่มีสัดส่วน 68% แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงหากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้เงินสดในระบบอยู่ที่ประมาณ 16% ขณะที่เกาหลีใต้มีสัดส่วนการใช้เงินสดในระบบลดลงเหลือ 11% ส่วนที่เหลือเป็น Digital Payment ส่วนกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีสัดส่วนการใช้เงินสดในระบบต่ำกว่า 10% แต่เงินสดยังจำเป็นต้องใช้ในระบบธุรกรรมใช้จ่ายรายการขนาดเล็ก เช่น ธนบัตรใบละ 20 บาทที่ลดต้นทุน โดยเปลี่ยนจากการใช้กระดาษมาใช้โพลีเมอร์แทน

 

อีกทั้งการทำ Cross-Border Payment ได้สะดวก รวดเร็วขึ้น ซึ่งไทยได้เชื่อมระบบ Fast Payment กับสิงคโปร์ หรือ PromptPay – PayNow เป็นคู่แรกของโลก สามารถลดเวลาโอนจาก 1-2 วัน เหลือ 1-2 นาที และมียอดการใช้งานที่เติบโตดี ช่วยลดค่าธรรมเนียมให้ถูกลงจาก 400 บาทต่อรายการ เหลือเพียง 150 บาทต่อรายการ สามารถเชื่อม QR Payment ได้กับ 6 ประเทศมากที่สุดในโลก

 

สำหรับแผนที่จะดำเนินการพัฒนาต่อในอนาคต จะร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศกลุ่มอาเซียน-5 เข้าร่วมโครงการ ‘Nexus’ ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศแบบพหุภาคี (Multilateral Payment Linkage) โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ในช่วงกลางปี 2026 ถือเป็นกลุ่มแรกของโลกที่มีการเชื่อมโยงระบบ Digital Payment เข้าด้วย โดยคาดหวังว่าในอนาคตแพลตฟอร์มนี้จะเชื่อมระบบการใช้งานกับแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมมีกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ทั้งยุโรปกับสหรัฐฯ จะให้ความสนใจเข้ามาเชื่อมระบบการใช้งานด้วย อีกทั้งมีนวัตกรรมเพิ่มเติม เช่น ใช้ CBDC ผ่านโครงการ mBridge

 

Snapshot ที่ 2 คือ Transition Finance โจทย์สำคัญในเรื่องนี้คือจะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบการเงินของไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน ถือเป็นประเด็นที่มีความท้าทายอย่างมาก สอดรับกับแผนของประเทศไทยที่ตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ขณะที่ประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงเนื่องจากมีกลุ่มสังคมการเกษตร พึ่งพาการท่องเที่ยว และมีอุตสาหกรรมเก่าเป็นจำนวนมาก 

 

สำหรับภาคการเงินต้องมีกระบวนการตัดสินที่คำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) ที่มากขึ้น โดยที่ผ่านมา ธปท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลมีการออกคู่มือแนวปฏิบัติมาตรฐาน (Standard Practice) ใช้อ้างอิงในการทำธุรกิจแบบครบวงจร ทำให้ทุกแบงก์เริ่มปรับตัวในทิศทางเดียวกัน และมี ‘ไม้บรรทัด’ (Taxonomy) วัดกิจกรรมสีเขียวที่เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับบริบทไทย อีกด้านที่ยังขาดคือผลิตภัณฑ์การเงินที่เอื้อต่อ Transition Finance ที่มากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ในไม่ช้านี้คงจะมีการแถลงความคืบหน้าต่อไป

 

Snapshot ที่ 3 คือ Open Data for Consumer Empowerment เป็นเรื่องของข้อมูลผู้บริโภคในระบบการเงิน โดยหากผู้บริโภคยินยอมเปิดเผยข้อมูลของตนไปยังผู้ให้บริการต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและปลอดภัย ก็ถือเป็นประโยชน์กับตัวผู้บริโภค เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์แข่งขันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการ ให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการ คล้ายกับในต่างประเทศที่มีหน่วยงานกลางรวบรวมข้อมูลของผู้บริโภคไว้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปใช้ได้

 

ดังนั้นประเด็นสำคัญคือผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของข้อมูล ซึ่งหากยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลก็จะสามารถมีโอกาสผลักดันให้เกิดขึ้นได้

 

โดยหน้าที่ของ ธปท. คือ 1. การออกกฎเกณฑ์ที่สามารถให้ทำข้อมูลของผู้บริโภคมีความเชื่อมโยงกันได้ในระบบ 2. ต้องมีมาตรฐานกลางในการเก็บข้อมูล 3. Common Infrastructure กลาง เพื่อให้ผู้อยู่ในระบบสามารถนำมาใช้งานได้

 

“ใน 3 Snapshot ที่เป็นรูปธรรมของ Financial Landscape ในทุกเรื่องที่เราพูด ธปท. คงทำคนเดียวเองไม่ได้ ทุกเรื่องถ้าจะไปถึงที่สุดได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เราก็จะทำในส่วนหน้าที่ของเรา สุดท้ายเราพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายให้เรื่องต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศของเราพร้อมรับอนาคต Future Ready”

 

 


📌อัปเดตเทรนด์โลกกว่า 20+ Sessions ซื้อบัตรชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/TSEF2023ED 

 

✅ ราคาพิเศษ! 2,500 บาท ถึง 31 ธันวาคม 2566 เท่านั้น

✅ รับชมออนไลน์ทุกที่ทั่วโลก 

✅ ดูย้อนหลังนาน 6 เดือน (1 ธันวาคม 2566 – 31 พฤษภาคม 2567)

✅ สรุปเนื้อหา Visual Summary ทุกเวที

 

Media Partner

📌รับสรุปเนื้อหาทุกเวที 20+ Sessions 

ซื้อบัตรชมย้อนหลังวันนี้ดูได้นานถึง 6 เดือน

https://bit.ly/TSEF2023MP 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X