วานนี้ (17 พฤศจิกายน) เวลา 11.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ที่ศูนย์ประชุม Moscone Center เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) ในหัวข้อ ‘Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies’ พร้อมร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 30 โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ด้วย
ขณะเดียวกันนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงโดยระบุว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและ APEC เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และสงบสุข
เสนอ 3 แนวทางหนุนการค้า APEC
นายกรัฐฯ กล่าวว่า วานนี้ได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตนเห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่าถึงเวลาที่ต้องลงมือแล้ว และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายกฯ ได้เสนอ 3 มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อ APEC คือ
- ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่ง APEC มีความก้าวหน้าอย่างมากในปีนี้ จากโครงการมากกว่า 280 โครงการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายนี้ ในขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge รวมถึงการจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
- เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง APEC สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมี WTO เป็นแกนกลางนั้น ถือเป็นกุญแจสำคัญไปสู่ผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป ซึ่งไทยมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นๆ ในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่ เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่
- เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดยไทยกำลังเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งยังได้อนุมัติฟรีวีซ่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจ APEC (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ทอัพอีกด้วย
นายกฯ ยังกล่าวยินดีกับสหรัฐอเมริกาในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรู เพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป
พบสภาหอการค้า-ธุรกิจสหรัฐฯ ตอกย้ำนโยบายการค้าการลงทุน
นายกฯ พบปะหารือกับ US-APEC Business Coalition ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าสหรัฐฯ และสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน พร้อมย้ำการเปิดกว้างของรัฐบาลไทยในด้านการค้าและการลงทุน ด้วยมาตรการ Quick Win รวมถึงการลดค่าครองชีพ การสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ และการขยายการลงทุนและธุรกิจ
ไทยมุ่งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้านการพาณิชย์และโลจิสติกส์ เปิดประตูสู่ตลาดใหม่ เร่งการเจรจา FTA เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดจนเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในภูมิภาคผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย
นายกฯ หวังว่า US-APEC Business Coalition จะสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมถึง APEC ให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การเชื่อมโยงทางกายภาพและดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
ร่วมประชุมวันสุดท้ายก่อนส่งต่อเจ้าภาพเปรู
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวนายกฯ เข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงในลำดับที่ 18 ในหัวข้อ ‘การสร้างเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นจากความเชื่อมโยง’ ก่อนที่จะปิดการประชุม APEC อย่างเป็นทางการที่สหรัฐฯ และส่งต่อให้เจ้าภาพถัดไปคือเปรู ในการจัดการประชุม APEC 2024 ณ เมืองกุสโก
ทั้งนี้ เปรูเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC มาแล้วด้วยกัน 2 ครั้ง ในปี 2008 และปี 2016 ขณะที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมถึง 3 ครั้ง ในปี 1992 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน, ปี 2003 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และปี 2022 สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะเดียวกัน ในช่วงบ่ายนายกฯ และคณะจะเดินทางไปยังบริษัท NVIDIA เพื่อพบผู้บริหารและเยี่ยมชมบริษัท ก่อนที่ช่วงเย็นจะพบปะกับชุมชนไทยในสหรัฐฯ และเดินทางกลับไทยโดยออกจากท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ด้วยเที่ยวบินพิเศษ TG8839 ใช้เวลาประมาณ16 ชั่วโมง จะถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 07.00 น. วันที่ 19 พฤศจิกายน