วันนี้ (17 พฤศจิกายน) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตได้มีการพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ และข้อเสนอว่าการดำเนินการจะเป็นไปอย่างรอบด้านหรือไม่
ส่วนการที่กฤษฎีการะบุว่า อยากจะช่วยดูรายละเอียด ถ้ามีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมายทุกฝ่ายจะได้สบายใจ แต่ไม่ได้หมายความว่ากฤษฎีกาจะปฏิเสธ ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการ คาดว่าน่าจะทำโดยเร็วที่สุด ถ้าสรุปได้ข้อชัดเจนอย่างไรก็จะดำเนินการตามนั้น
ย้ำรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินได้ แต่ไม่ทำ
ขณะนี้เราพยายามรับฟังเสียงข้อเสนอแนะให้ครอบคลุมมากที่สุด หากรัฐบาลจะออกเป็น พ.ร.ก. สามารถทำได้ แต่เพียงอยากให้ทุกคนสบายใจ ซึ่งการเสนอเข้ารัฐสภาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยต้องรอกฤษฎีกาตีความออกมาอย่างชัดเจน และตอนนี้เป็นไปตามขั้นตอนไม่ได้มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า ขั้นตอนของกฤษฎีกาจะใช้เวลานานเท่าไร ภูมิธรรมระบุว่า ขึ้นอยู่กับกฤษฎีกา แต่คิดว่าเร็วที่สุด เพราะทุกคนรู้ว่าเป็นเรื่องด่วนที่จะต้องทำ
พ.ร.ก.กู้เงิน ต้องรับฟังกฤษฎีกา หากไม่มีปัญหาอะไรก็ผ่านได้เลย
เมื่อถามถึงเงื่อนไขว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่ ภูมิธรรมย้ำว่า จะต้องฟังทางกฤษฎีกา ถ้ากฤษฎีกาบอกว่าไม่มีปัญหาอะไรก็ผ่านได้เลย แต่ถ้ามีข้อท้วงติงก็จะต้องมีการประชุมกันอีก ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็จะเป็นการปรับและนำเสนอได้เลยเช่นกัน
เมื่อถามว่า หากท้ายที่สุดแล้วโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำได้จะต้องยุติเลยหรือไม่ ภูมิธรรมระบุว่า ยังไม่รู้ว่าข้อกฎหมายจะออกมาเป็นแบบไหน การจะตัดสินใจอย่างไรขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางกฎหมาย
ศรีสุวรรณยื่นผู้ตรวจการฯ ตรวจสอบ พ.ร.ก.กู้เงิน ขัด รธน. หรือไม่
ก่อนหน้านี้ ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน จากกรณีการแถลงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงมาในช่วงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐาได้พูดถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้กับโครงการนี้ว่าจะไม่มีการกู้มาโดยเด็ดขาด แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็ได้เห็นความตระบัดสัตย์ของนายกฯ ว่าเงินที่จะนำมาใช้ต้องออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน
และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งกฎหมายใหญ่ที่สุดคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การที่จะใช้เงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะการออกกฎหมายเป็นเงินงบประมาณที่ว่าด้วยการเงินการคลังและกฎหมายวินัยการเงินการคลังเท่านั้น เว้นแต่จะเป็นเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วนที่กฎหมายจะเปิดโอกาสให้
แต่พอเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนก็ต้องมาดูอีกกฎหมายคือพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 53 ว่า การที่จะกู้เงินของรัฐนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยหนี้สาธารณะฯ มีเหตุที่จะดำเนินการได้ 4 กรณี คือ ต้องเป็นเหตุเร่งด่วน ต้องเป็นเหตุที่เกิดปัญหาต่อเนื่อง ต้องนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และอาจจะกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน
“การที่รัฐบาลใช้วิธีการเช่นนี้ องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เห็นว่าน่าจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 53 โดยชัดเจน”