×

ดีเดย์ 9 ธ.ค. ประชาธิปัตย์ได้ฤกษ์เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมตั้ง ‘เฉลิมชัย’ นั่งรักษาการแทนจุรินทร์

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (14 พฤศจิกายน) ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ โดยใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง หัวข้อการถกเถียงในวงประชุมคือประเด็นข้อกฎหมาย และข้อบังคับการประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 รวมทั้งการแก้ไขข้อบังคับให้เพิ่มองค์ประชุมอีก 150 คน โดยมีที่มาจากตัวแทนภาคภาคละ 30 คน เพื่อสำรองกรณีองค์ประชุมไม่ครบ โดยให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์สมัครเข้ามาด้วยตนเอง หากสมัครเกินจำนวนให้ใช้วิธีจับสลาก 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคุณสมบัติสมาชิกที่จะมาเป็นองค์ประชุม 5 คน ประกอบด้วย ชนินทร์ รุ่งแสง, ผ่องศรี ธาราภูมิ, น.ต. สุธรรม ระหงษ์, ธนา ชีรวินิจ และ ขนิษฐา นิภาเกษม ตัวแทนสาขาพรรค 

 

ที่ประชุมยังมีมติตั้ง ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการพรรค ให้เป็นรักษาการหัวหน้าพรรคอีกหนึ่งตำแหน่ง แทนที่ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ที่ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคไปก่อนหน้านี้ โดยเฉลิมชัยจะสามารถดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคพร้อมกันได้ เนื่องจากข้อบังคับพรรคไม่ได้ห้ามไว้

 

ย้อนรอยประชุมใหญ่ 2 ครั้ง ที่ล่มทั้ง 2 ครั้ง

 

พรรคประชาธิปัตย์ผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง โดยผลสุดท้ายองค์ประชุมล่มทั้ง 2 ครั้ง เนื่องจากข้อบังคับพรรคได้กำหนดเกณฑ์การเลือกหัวหน้าพรรคคิดเป็นอัตราส่วน 70 ต่อ 30 โดยให้น้ำหนักกับ สส. 25 คน คิดเป็น 70% และอีก 30% ให้เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคทั่วประเทศ เป็นไปได้ว่าข้อบังคับพรรคและเกณฑ์ 70-30 อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่

 

พรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมใหญ่ครั้งแรกหลังจุรินทร์ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ หลังการประชุม สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ได้เสนอยกเว้นข้อบังคับการประชุมข้อที่ 87 ที่กำหนดว่า

 

ให้การโหวตหัวหน้าพรรคจะใช้น้ำหนักในการลงคะแนน 70% สส. ปัจจุบัน 25 คน และมาจาก 30% กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคทั่วประเทศ รวมถึงให้ยกเว้นข้อบังคับที่ 37 กรณีเมื่อหัวหน้าพรรคลาออกต้องตั้งกรรมการบริหารพรรคใน 60 วัน แต่ท้ายสุดที่ประชุมไม่เห็นด้วยและถูกตีตกไป

 

ต่อมาเมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอชื่อผู้ประสงค์สมัครเป็นหัวหน้าพรรค แต่เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุมทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้

 

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นจากการประชุมครั้งแรกคือ พรรคประชาธิปัตย์ได้แตกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ประกอบด้วย สส. เสียงข้างมากอยู่ในขั้ว เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย เดชอิศม์ ขาวทอง สส. สงขลา ผู้กุมบังเหียนดูแล สส. ภาคใต้ และกุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ สนับสนุน นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรค ขึ้นมานำทัพพรรค

 

ส่วน สส. เสียงส่วนน้อยอยู่ในขั้ว สส. บัญชีรายชื่อทั้ง 3 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ สส. เขตภาคใต้บ้านใหญ่ตระกูลดัง เช่น สรรเพชญ บุญญามณี สส. สงขลา, สุพัชรี ธรรมเพชร สส. พัทลุง, ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. พัทลุง, ยูนัยดี วาบา สส. ปัตตานี และ สมบัติ ยะสินธุ์ สส. แม่ฮ่องสอน สนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง 

 

ชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในขั้วเสียงส่วนใหญ่ กล่าวภายหลังการประชุมล่มครั้งที่ 1 ว่า “การที่ไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคภายในวันนี้ได้นั้นไม่ใช่ความล้มเหลว” พร้อมทั้งเชื่อว่าการประชุมครั้งหน้าจะไม่มีปัญหา และมองว่าคนที่เป็นองค์ประชุมควรมีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ 

 

ขณะที่การประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม วันดังกล่าวมีแกนนำพรรคเข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็น ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค รวมทั้งแกนนำ สส., อดีต สส. และตัวแทนสาขาพรรค 

 

เมื่อถึงกำหนดเริ่มประชุม น.ต. สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรค แจ้งว่ามีองค์ประชุมเพียง 210 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะตามข้อบังคับพรรคจะต้องมีองค์ประชุม 250 คนขึ้นไป แม้จะมีการรอเวลาให้สมาชิกเดินทางมาเพิ่ม แต่สุดท้ายก็ไม่ถึงตามที่ข้อบังคับพรรคกำหนด และไม่สามารถประชุมได้ 

 

สิ้นเสียงแจ้งองค์ประชุมไม่ครบ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำ สส. ออกจากห้องประชุม ยืนแถวหน้ากระดาน แถลงประณามต่อเหตุการณ์ประชุมล่มครั้งที่ 2 นี้ ระบุว่า

 

“เป็นพฤติกรรมที่เลวร้าย ไม่เคยเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ผลที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่างมาก องค์ประชุมไม่ครบทั้ง 2 ครั้ง ไม่สามารถดำเนินการได้ และครั้งนี้ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ แต่เกิดจากพฤติกรรมของบางกลุ่มในพรรค 

 

“ให้องค์ประชุมออกจากห้อง ไม่ลงชื่อเข้าประชุม ไปเที่ยวต่างประเทศ พฤติกรรมเหล่านี้เลวทราม ไม่ควรจะเกิดขึ้นในพรรค อยากจะฝากอีกครั้งว่าช่วยปลุกจิตสำนึกของคนในพรรคประชาธิปัตย์ พวกเขารู้ตัวว่าทำพฤติกรรมอะไรไว้ หากจิตสำนึกกลับคืนมา ถ้ามีจิตสำนึกต้องมาช่วยให้พรรคเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เล่นเกมการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของใครบางคน” เฉลิมชัยกล่าว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X