ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคอย่างเราที่มีต่อยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไปจนถึงการที่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจำนวนไม่น้อยเลือกเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย น่าจะเป็นบทพิสูจน์ที่ยืนยันให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ผู้คนสนใจและให้ความสำคัญกับยานยนต์พลังงานทางเลือกมากเพียงไร
ถึงอย่างนั้นก็ดี เราคงไม่สามารถเรียกได้เต็มปากว่าประเทศไทยเป็นยุคของยานยนต์ไฟฟ้า EV แบบ 100% เพราะแม้แต่หลายประเทศในกลุ่มยุโรปซึ่งถือเป็นตัวตั้งตัวตีในการเดินหน้าสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า ณ วันนี้ก็ยังอยู่ในช่วง ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ICE ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า xEV กันอยู่เลย
ปัญหาโครงสร้างขั้นพื้นฐานจำพวก จุดจอดชาร์จไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม คนแย่งกันจอง แย่งกันชาร์จ หนักข้อถึงขั้นกลายเป็นกรณีโพสต์ประจานลงโซเชียล จึงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวี่วัน ยังไม่นับรวมพฤติกรรมผู้ขับขี่ประปรายที่ต้องปรับเปลี่ยนเสียใหม่ ทั้งการต้องวางแผนการเดินทางให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพื่อให้ทุกๆ การเดินทางครอบคลุมระยะการวิ่งที่จำกัดของแบตเตอรี่รถยนต์
จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เมื่อผนวกรวมกับนิยามการเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจึงนำมาสู่การตั้งคำถามที่ว่า “แล้วรถยนต์ประเภทไหนกันแน่ที่จะช่วยให้เรารักษ์ได้ทั้งโลก และรักได้ทั้งไลฟ์สไตล์แบบเดิมๆ ของเรา”
(จากซ้ายไปขวา) ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน, พรหมมินทร์ งามจั่นศรี นักทดสอบรถยนต์ driveautoblog, พี่หลาม-ที่รัก บุญปรีชา กูรูด้านไอที, ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร แพทย์หญิงและนักแสดง
THE STANDARD จึงผนึกกำลังร่วมกับฮอนด้า ออโตโมบิล จัดเวทีเสวนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟในหัวข้อ ‘ยุคที่ผู้คนมีไลฟ์สไตล์หลากหลาย ทำไมรถยนต์ไฮบริดถึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณไม่ควรมองข้าม’ เพื่อหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า ในยุคที่มีรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) หรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แบบ 100% โลดแล่นอยู่บนท้องถนนมากมายหลายคัน รถไฮบริดยังน่าเล่นอยู่ไหม? ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นของตัวแทนจากหลากหลายแวดวง
ทั้ง พรหมมินทร์ งามจั่นศรี นักทดสอบรถยนต์ driveautoblog, พี่หลาม-ที่รัก บุญปรีชา กูรูด้านไอที, ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร แพทย์หญิงและนักแสดง โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
รีเซ็ตความจำ ทำความเข้าใจนิยาม EV เสียใหม่
หลายคนที่คร่ำหวอดในวงการรถยนต์คงแยกได้ไม่ยากว่า รถประเภท PHEV หรือ HEV และ BEV เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แล้วทั้งหมดใช่รถยนต์ EV เหมือนกันหรือเปล่า
ขณะที่คนจำนวนอีกไม่น้อยอาจเกิดความสับสนในนิยามของการเป็นรถไฟฟ้า ว่าท้ายที่สุดแล้วจำเป็นจะต้องเป็น BEV หรือไม่ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นรถไฟฟ้าที่แท้จริง
ในประเด็นนี้ พรหมมินทร์เริ่มต้นด้วยการอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นว่า ในอดีตการแบ่งประเภทของรถจะแบ่งจาก ‘ที่มาของแหล่งพลังงาน (ประเภทเชื้อเพลิง)’ เช่น รถคันนี้ใช้น้ำมัน, ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือใช้พลังงานทางเลือกใหม่แบบไฮโดรเจน ขณะที่รถยนต์ไฮบริด เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่ยังใช้น้ำมันอยู่จึงถูกจัดให้อยู่ในหมวดรถยนต์ประเภทใช้น้ำมัน
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง โลกต้องการลดการปล่อยคาร์บอน ประเทศในกลุ่มยุโรปหลายๆ ประเทศจึงเริ่มทยอยประกาศใช้มาตรการห้ามจำหน่ายรถยนต์กลุ่มสันดาป อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลาจริงนโยบายดังกล่าวกลับไม่สามารถทำได้โดยสมบูรณ์ เนื่องจากต้นทุนในการเปลี่ยนผ่านยังมีอยู่มาก ทั้งค่าใช้จ่าย และภาระทางสิ่งแวดล้อม ขณะที่ค่ายรถยนต์ก็ยังไม่มีความพร้อม
ผลสุดท้าย ยุโรปจึงตัดสินใจจัดกลุ่มประเภทรถยนต์ใหม่ จากเดิมที่แบ่งจากที่มาของแหล่งพลังงาน เปลี่ยนมาเป็นการจำแนกจาก ‘ระบบในการขับเคลื่อน’ นั่นหมายความว่า ไม่ว่ารถของคุณจะชาร์จไฟด้วยการเสียบปลั๊ก หรือจะเติมน้ำมันเพื่อให้เครื่องยนต์ปั่นกระแสพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการขับเคลื่อน ท้ายที่สุดแล้วหากตัวรถขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้าก็จะเรียกรวมว่า xEV อยู่ดี ไม่ได้จำเป็นต้องเป็น BEV (Battery Electric Vehicle) เหมือนในอดีต
ปัจจุบันรถยนต์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม xEV จึงประกอบไปด้วย
- HEV: Hybrid Electric Vehicle หรือรถยนต์ไฮบริด ที่ใช้เครื่องยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันผสานการทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า และมีแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบในการเก็บและจ่ายไฟไปยังมอเตอร์ และสำคัญที่สุดคือระหว่างที่ตัวรถยนต์ขับเคลื่อนจะต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเป็นหลักถึงจะเรียกว่าเป็น HEV ประเภท Full Hybrid
- PHEV: Plug-in Hybrid Electric Vehicle เป็นรถยนต์ลูกผสมที่ประสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์ เชื้อเพลิงน้ำมันและแบตเตอรี่ โดยที่แบตเตอรี่จะมีขนาดใหญ่กว่า HEV สามารถเสียบชาร์จไฟได้
- BEV: Battery Electric Vehicle รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่อาศัยการขับเคลื่อนจากกระแสไฟฟ้าที่ได้จากตัวแบตเตอรี่แบบ 100% จ่ายกระแสไฟฟ้าไปให้กับมอเตอร์ตัวรถยนต์
- FCEV: Fuel Cell Electric Vehicle รถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงมาเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนในปัจจุบันจะใช้ก๊าซไฮโดรเจนมาเป็นแหล่งพลังงานที่สร้างปฏิกิริยาเคมีให้เกิดความร้อนและสร้างพลังงานไฟฟ้าไปเก็บประจุที่แบตเตอรี่ ก่อนจะจ่ายประจุไฟฟ้าต่อไปให้มอเตอร์ของรถยนต์ทำงาน โดยผลสุดท้ายที่ได้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ประเภทนี้จะได้เป็น H2O หรือน้ำ เรียกได้ว่าสะอาดสุดๆ
DNA ของ ‘ความแรง’ คือหัวใจความต่างที่ทำให้ e:HEV หรือเทคโนโลยีรถยนต์ไฮบริดของฮอนด้าโดดเด่น แรงแซงคู่แข่ง
จริงอยู่ที่ e:HEV ของฮอนด้า ก็คือเทคโนโลยีรถยนต์เครื่องยนต์แบบไฮบริดที่ใช้ทั้งน้ำมันและพลังงานไฟฟ้าในการช่วยขับเคลื่อนมอเตอร์ของรถให้พุ่งไปข้างหน้าแบบที่รถยนต์ไฮบริดแบรนด์อื่นๆ ก็ใช้เหมือนกัน
แต่จุดตัดที่ทำให้ e:HEV ของฮอนด้าไม่มีใครเหมือน และไม่มีวันเหมือนใคร อยู่ที่ DNA ความเป็นฮอนด้า ที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะตัวรถยนต์ที่ต้องแรงและประหยัด เรื่อยไปจนถึงความเชี่ยวชาญที่พวกเขาสั่งสมจากการพัฒนารถยนต์ e:HEV มาเป็นระยะเวลานาน
พรหมมินทร์บอกว่า “ฮอนด้ามีการพัฒนาเทคโนโลยี e:HEV มาตลอด โดย Honda มีรถ e:HEV ครบทุกไลน์อัพ ไม่ว่าจะเป็น City e:HEV, City Hatchback e:HEV, Civic e:HEV, HR-V e:HEV, CR-V e:HEV รวมไปถึง All-new Honda Accord e:HEV ที่เพิ่งเปิดตัวไปในประเทศไทย
“เมื่อเปลี่ยนมาถึงยุคของการลดการปล่อยคาร์บอน แต่ยังต้องประหยัด ฮอนด้าก็สามารถปรับตัวตามได้ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย และยังถือเป็นจุดแข็งด้วยซ้ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่ายคู่แข่งเซกเมนต์ต่อเซกเมนต์คือ รถของฮอนด้าแรงม้าจะต้องสูงกว่า แรงกว่า และมาพร้อมกับความประหยัดเสมอ รวมไปถึงดีไซน์แบบสปอร์ตที่ได้ใจแฟนๆ ของฮอนด้ามานักต่อนัก
“ตัวเทคโนโลยี e:HEV ของฮอนด้าก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะเขาจะใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเสมอ บางค่ายอาจจะใช้แบตเตอรี่ประเภทอื่น แต่ฮอนด้าไม่เคยลดทอนคุณภาพของแบตเตอรี่ที่พวกเขาใช้งาน เพื่อคงประสิทธิภาพในการกักเก็บประจุไฟฟ้าและการจ่ายกระแสไฟฟ้าออกไปยังตัวมอเตอร์ ส่วนตัวมอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนตัวรถยนต์ e:HEV ของฮอนด้า ก็จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเทคโนโลยีเดียวกันของค่ายคู่แข่งด้วย
“อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า e:HEV ของฮอนด้า ในแต่ละรุ่นก็มีความโดดเด่นแตกต่างกัน ความแรงของแต่ละโมเดล แต่ละเซกเมนต์ ก็ต่างกันตามราคา ฮอนด้าไม่ได้ยกแพตเทิร์นเดียวกันมาใช้กับรถยนต์ทุกโมเดล เช่น City e:HEV ใช้มอเตอร์สองตัวมาประกบกันร่วมกันทำงาน ส่วน All-new Honda Accord e:HEV ก็จะมีขนาดมอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนที่ใหญ่กว่า สะท้อนให้เห็นว่าฮอนด้า เขาละเอียดมาก ไม่ได้พัฒนาเครื่องยนต์ประเภทเดียวมาใช้กับรถทุกรุ่น แล้วเปลี่ยนแค่ตัวบอดี้”
ด้านกูรูไอทีอย่างพี่หลามเสริมว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในการใช้งานรถยนต์ของตน ตนมีรถยนต์ฮอนด้าจำนวนมากกว่า 9 คัน ซึ่งการใช้งานรถแบรนด์เดียวมากกว่า 9 คัน ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องยืนยันที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เขามีต่อคุณภาพบริการหลังการขาย และการบำรุงรักษาที่ดีของฮอนด้าที่ทำให้เขาเชื่อมั่นและใช้งานรถยนต์ฮอนด้ามาตลอดต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี”
เมื่อ ‘บริบทชีวิตแต่ละคนแตกต่างกัน’ e:HEV หรือไฮบริดจึงเป็นคำตอบ
อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลัง ‘เปลี่ยนผ่าน’ เข้าสู่สังคมของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้อะไรหลายๆ อย่างข้างเคียงที่อาจยังไม่สมบูรณ์ 100% บางครั้งก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การใช้งานรถไฟฟ้ากลายเป็นเรื่องยุ่งยากได้
ไหนจะปัญหาเรื่องการจองจุดชาร์จไฟฟ้า, การวางแผนการเดินทางที่ต้องละเอียด รัดกุม การใช้เวลาไปกับการชาร์จแบตเตอรี่ กรณีเดินทางไกลและหัวชาร์จแบบ Fast Charge ไม่เพียงพอ ต้นทุนค่าประกันรถฯ ที่สูงกว่าปกติ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านของผู้บริโภคยังไม่เท่ากัน
“ส่วนตัวผมจึงมองว่า เทคโนโลยี e:HEV ของฮอนด้า ถือเป็นเทคโนโลยีของรถยนต์ที่ดีเป็นอย่างมากในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านนี้” ที่รักบอกต่อว่า “เทคโนโลยี e:HEV ช่วยให้เราในฐานะผู้บริโภคยังสามารถใช้ชีวิตและพฤติกรรมตามเดิมโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนให้ยุ่งยากหรือเยอะ เพราะระดับความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านของผู้บริโภค ณ วันนี้ก็ยังไม่เท่ากัน โดยเฉพาะการต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อีกต่างหาก
“เวลาผมเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเยี่ยมพ่อตาแม่ยายที่เชียงใหม่เป็น Long Day Trip ผมจะต้องทำให้การเดินทางมันโฟลวให้ได้มากที่สุดด้วยการลดข้อแม้การพักจอดรถลงให้น้อยที่สุด ซึ่งแค่ทุกคนเข้าห้องน้ำระหว่างทางก็ใช้เวลาเยอะแล้ว ดังนั้นรถที่จะช่วยให้ผมเดินทางด้วยความราบรื่นมากที่สุดก็เป็นรถยนต์ไฮบริด ผมสามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างลื่นไหล ต่อเนื่อง ไม่มีข้อจำกัด”
ด้าน ฟรัง นรีกุล ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เธอมีไลฟ์สไตล์การเที่ยวแบบปุ๊บปั๊บ เป็นคนไม่ชอบวางแผนให้วุ่นวาย ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของตัวเอง รถยนต์ e:HEV หรือรถยนต์แบบไฮบริดจึงตอบโจทย์ตัวเธอเองแบบสุดๆ
“ฟรังไม่จำเป็นต้องมานั่งวางแผนเรื่องการเดินทางและจุดชาร์จต่างๆ แต่ก็ยังคงเรื่องความประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าเชื้อเพลิง ทั้งยังมีส่วนในการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ไม่ต่างกัน”
ส่วนสาเหตุที่เธอเชื่อมั่นในแบรนด์ฮอนด้าก็เป็นเพราะความสามารถของค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นเจ้านี้ที่สามารถการันตีได้ถึงบริการหลังการขาย และการบำรุงรักษาระยะยาวที่ดี มีคุณภาพ ซึ่งทำให้เธอแทบไม่ต้องมานั่งกังวลประเด็นด้านปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวรถเลยแม้แต่น้อย
‘Easy to Use’ นิยามที่กระชับแต่ตรงใจ และใช่กับความเป็น e:HEV ของฮอนด้า แบบเต็มสิบไม่หัก
พรหมมินทร์ขยายความต่อในประเด็นความแตกต่างของเทคโนโลยี e:HEV รถยนต์ฮอนด้าแต่ละโมเดล ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจริตและศักยภาพที่ต่างกันออกไป โดยเริ่มต้นที่ City e:HEV ที่เจ้าตัวบอกว่า เป็นรถ B-ECO ที่หายห่วงเรื่องความประหยัดและสมรรถนะ โดยหากอยากขับไฮบริดให้ประหยัด ถนอมการใช้งานระยะยาว สิ่งที่สำคัญคือ การต้องออกตัวอย่างสมูธ ไม่ขับกระแทกกระทั้น ทั้งยังช่วยให้ถนอมอายุแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานนานต่อเนื่อง อาจมากกว่าอายุรับประกันของฮอนด้าที่ 10 ปีด้วยซ้ำ
“แต่ถ้าอยากเพิ่มความแรงขึ้นอีกระดับก็ต้องเลือก Civic e:HEV เนื่องด้วยตัวรถมีความสปอร์ต เครื่องจะเป็นเครื่องแบบหัวฉีดตรง มีความแรงกว่า ซึ่งในโมเดล Civic e:HEV ไล่ขึ้นมา ตัวเครื่องไฮบริดจะแยกมอเตอร์ขับเคลื่อนออกจากตัวเจเนอเรเตอร์ปั่นไฟ อยากแรงแค่ไหนก็จัดได้เลย
“แล้วเสียงสังเคราะห์ของตัว Civic e:HEV โมเดล RS เป็นอะไรที่ผมชอบมาก เพราะเป็นเสียงเครื่องยนต์สปอร์ต ฮอนด้าเขาละเอียดมาก ไม่ลืมดีเทลเล็กๆ น้อยๆ และปัจจุบันฮอนด้าประเทศไทยยังได้เปิดตัว Accord โมเดล RS เป็น World Premiere ครั้งแรกของโลกอีกด้วย” พรหมมินทร์เล่า
ส่วน CR-V รถยนต์ SUV ขนาดใหญ่ของฮอนด้าก็ยังสามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะกวาดยอดขายในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2566) ไปได้มากกว่า 5,900 คัน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีต่อโมเดล CR-V ได้เป็นอย่างดี
“เรื่องความล้ำของเทคโนโลยี ณ วันนี้ต้องยกให้ All-new Honda Accord e:HEV เพราะเขาถือเป็นที่สุดแล้ว ใช้เครื่อง 2.0 ลิตร ฉีดตรง มาพร้อมดีไซน์มอเตอร์ขับเคลื่อนแบบใหม่แยกออกจากเจเนอเรเตอร์ นั่นจึงทำให้ Accord ใหม่นี้ที่ผมวิเคราะห์จากข้อมูลน่าจะทั้งแรง นุ่ม และพรีเมียม รวมไปถึงแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ คิดว่าทั้งหมดใน Accord นี้น่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคในไทยได้”
เมื่อถามถึงนิยามและความเห็นที่เขามีต่อเทคโนโลยี e:HEV พรหมินทร์ยอมรับแบบไม่ลังเลเลยว่า เขามองรถยนต์ไฮบริดว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้งานได้ง่ายที่สุดแล้ว Easy to Use เนื่องจากการใช้งานรถยนต์ BEV ในมุมมองของเขายังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องความยุ่งยากในการวางแผนการเดินทาง การจองจุดชาร์จประจุไฟฟ้าซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดเต็มไปหมด ทั้งความยากในการจอง การคำนวณเวลาและระยะทางที่เหลือที่ตัวรถจะสามารถวิ่งไปถึงยังปลายทางได้
All-new Honda Accord e:HEV ยนตรกรรมที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรูหรา พรีเมียม กับไลฟ์สไตล์ที่สะดวกสบายเหนือระดับจากฮอนด้า
ดังนั้นหากวัดเรื่องความสะดวก สมรรถนะของตัวรถที่ไม่เป็นสองรองใคร ไปจนถึงความง่ายที่เราไม่ต้องโน้มตัวปรับเข้าหาให้เยอะจนไลฟ์สไตล์เดิมๆ วุ่นวายเต็มไปด้วยข้อจำกัด เทคโนโลยี e:HEV หรือไฮบริดจึงกลายเป็นคำตอบที่ทั้งง่ายและใช่ไปซะหมดในทุกมิติ ณ วันนี้นั่นเอง
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.honda.co.th/accordehev