×

รัฐบาลเศรษฐาเชื่อไทยอยู่ในวิกฤต ต้องการการกระตุ้นจากดิจิทัลวอลเล็ต มั่นใจ 320 เสียงไม่แตกแถว ดันโครงการผ่านสภา

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ดิจิทัลวอลเล็ต

วานนี้ (12 พฤศจิกายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาทที่สังคมมีทั้งคนเห็นด้วย เห็นต่าง และสนับสนุนว่า ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนและไม่อยากให้สังคมไทยทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายตรงข้าม หรือพวกเดียวกันมีธง อยากให้รับฟังความคิดเห็นว่าข้อดี-ข้อเสียคืออะไร แล้วหยิบยกมาพูดคุยกัน 

 

มั่นใจ 320 เสียงดันโครงการผ่านสภา

 

ส่วนกรณีที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า โครงการดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นจริง อาจไม่ผ่านสภา และประชาชนจะไม่มีโอกาสได้รับเงินจริง เศรษฐาให้ความเห็นว่า “ผมมั่นใจว่าเสียงของผม อย่างพรรคร่วมรัฐบาลมี 320 เสียง ผมว่าเสียงของผมมั่นคง และเราทำงานเป็นทีม เชื่อว่าผ่าน” 

 

เมื่อถามย้ำว่า คนไทยจะมีโอกาสได้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า มั่นใจ เป็นหน้าที่ของผู้นำรัฐบาลที่ต้องรับฟังเสียงประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดีเลย์จากที่ประกาศไว้ เพราะทีมงานของเราต้องรับฟังความเห็นทั้งหมด ทั้งเรื่องการออก พ.ร.บ. กำหนดเกณฑ์คนรวย และการจำกัดรายได้ที่พูดคุยและถกเถียงกัน

 

รัฐบาลเชื่อประเทศไทยวิกฤต ต้องการการกระตุ้น

 

เมื่อถามว่าโครงการนี้จะมีอุบัติเหตุที่จะทำให้สะดุดหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า มั่นใจว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี เหมาะสม และไม่เกี่ยวกับเรื่องเทคนิคหรือกฎหมาย รัฐบาลยืนยันว่าทำถูกต้องทั้งหมด และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงจะให้ข้อคิดเห็นในเชิงที่เป็นบวกว่าเราสามารถทำโครงการนี้ได้ แต่มีจุดเดียวคือมีคำถามว่า ตอนนี้เราอยู่ในวิกฤตหรือไม่ได้อยู่ในวิกฤต มีวิกฤตและความจำเป็นที่ต้องทำหรือไม่ ถ้าบอกว่ามีวิกฤตและความจำเป็นคือเรามี GDP ติดลบ แบบนั้นคงไม่ต้องทำเพราะ GDP ยังไม่ติดลบ 

 

เศรษฐากล่าวว่า 9-10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย GDP โตแค่ 1.9% ต่อปี เราไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศอื่นโตกว่าเรา 2 เท่า คู่แข่งของไทยทั้งประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีการเติบโต สมัยก่อนอาจจะอยู่ในโลกของเราคนเดียวได้ แต่ปัจจุบันอยู่ในโลกการแข่งขัน ถ้าไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจวันหนึ่งอาจไม่มีใครอยากมาลงทุนที่ไทย รัฐบาลเชื่อว่าเราอยู่ในวิกฤตที่ต้องการการกระตุ้น แม้คนอื่นจะบอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องใช้เงินขนาดนี้กระตุ้น แค่คนจนที่มีรายได้ต่ำจริงๆ ก็พอ หากเถียงกันไปอย่างนี้ก็ไม่จบ

 

ประชาชนผิดหวัง ไม่ได้เงินหมื่น

 

เมื่อถามว่าโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยบางส่วนรู้สึกผิดหวังที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงิน เนื่องจากมีเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท ทั้งที่เกิดจากวินัยการออม และมีรายรับไม่เกิน 70,000 บาท เศรษฐากล่าวว่า เข้าใจและเห็นใจ แต่ต้องรับฟังทุกภาคส่วน ทั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความชัดเจนว่าไม่ให้แจกคนรวย 

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีระบุว่า คนที่มีรายได้เกิน 70,000 บาท และเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท รัฐบาลได้ออกโครงการ E-Refund หากมีการใช้จ่ายจะได้เงินคืนประมาณ 10,000 บาท เทียบเท่ากับเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ทีมงานคิดมาแล้ว รวมถึงโครงการระยะยาวที่จะนำไปลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve เป้าหมาย เช่น รถ EV, ไมโครชิป จำนวน 1 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มใช้ในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ต้องทำเร่งด่วน

 

เมื่อถามว่ากรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยว่า เงินฝาก 5 แสนบาทรวมไปถึงสลากออมสิน หุ้นกู้ กองทุนรวม และเงินเกษียณด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นับเฉพาะเงินฝากอย่างเดียว ไม่นับกองทุนรวมเพราะตรวจสอบไม่ได้ ส่วนเงินเกษียณ ถ้าอยู่ในบัญชีก็นับรวมด้วย แต่เงินสดที่เก็บอยู่ที่บ้านไม่นับ

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โดยจะเริ่มตรวจสอบว่ามีเงินในบัญชีตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้ เมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เติมเงินในแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่า 15% ไม่มีการใช้จ่าย เพราะคนไม่ได้ใช้ 

 

เพื่อไทยหาเงินได้ ใช้เงินเป็น 

 

เมื่อถามอีกว่า ประชาชนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีเงินพอที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประชาชนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยหาเงินได้ ใช้เงินเป็น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ผมเป็นนายกฯ ที่มาจากพรรคอะไร พรรคเพื่อไทย สื่อก็บอกว่าหาเงินได้ ใช้เงินเป็น ผมก็มั่นใจว่าผมหาเงินได้ ใช้เงินเป็น ส่วนเรื่องที่มาของเงินจะเป็นการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ทางผู้ว่า ธปท. ได้บอกเองว่านายกฯ กู้ดีกว่า ตอนนี้จาก 61% เป็น 64% เพราะเพดานเงินกู้อยู่ที่ 70% ให้กู้เลย ถ้านำมาใส่โครงการฯ บวกกับโครงการอื่น ยกระดับ GDP ขึ้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะลดตามไปแม้หนี้จะเพิ่ม แต่ถ้า GDP มากกว่าหนี้จะลดลง”

 

เกณฑ์ใครได้เงินหมื่นมาจากสถิติ

 

จากการแถลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการรายงานข้อมูลสถิติการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น 1 หน่วย (MPC) ของประเทศไทย พบว่า ยิ่งครอบครัวที่มีรายได้มาก การอุปโภคบริโภคกลับลดลง

 

  • ครอบครัวรายได้เฉลี่ย 7,100 บาทต่อเดือน มีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 0.8  
  • ครอบครัวรายได้เฉลี่ย 12,343 บาทต่อเดือน มีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 0.7
  • ครอบครัวรายได้เฉลี่ย 18,247 และ 27,706 บาทต่อเดือน มีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 0.6
  • ครอบครัวรายได้เฉลี่ย 64,807 บาทต่อเดือน มีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 0.2

 

ขณะเดียวกันก็มีการประมาณการยอดเงินที่ต้องใช้สำหรับโครงการและจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ พบว่า จากประชากรที่อายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 548,000 คน มีคนที่มีเงินเดือนเกิน 70,000 บาทเพียง 12,910 คน ส่วนคนที่มีเงินในบัญชีเกิน 500,000 บาทมีเพียง 35,315 คน นับเป็นเพียงส่วนน้อยจากคนที่จะได้รับสิทธิ์คือ 499,775 คนจากทั้งหมด

 

หากไม่ได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจ รากหญ้าจะกระทบหนัก

 

ในการแถลงข่าวของเศรษฐายังระบุด้วยว่า 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2020 GDP ของไทยลดลงไปอยู่ที่ -6.1% ก่อนที่จะขยับมาอยู่ที่ 2.6% ในปี 2022 ซึ่งในการแถลงข่าวระบุด้วยว่า จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอย และหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย และสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง

 

อ้างอิง:

  • ข้อมูลการแถลงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X