มิเลนาเป็นหญิงชาวเยอรมันที่เกิดและเติบโตมาในย่านชานเมืองเล็กๆ ของเบอร์ลินตะวันออกในช่วงยุคสงครามเย็น หลังนาซีเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จนนำไปสู่การแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็นเยอรมนีตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา และเยอรมนีตะวันออกภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต รวมถึงมีการแบ่งกรุงเบอร์ลินที่ตั้งอยู่ในเยอรมนีตะวันออกออกเป็น 2 ส่วนอีกด้วย
และมิเลนาจะมาบอกเล่าความทรงจำในวัยเด็กของเธอ หลังแนวรั้วกำแพงที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เส้นแบ่งแยกผู้คนในทางกายภาพ แต่ยังเป็นเส้นแบ่งขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมที่สุดเส้นหนึ่งในช่วงเวลานั้น
ภาพ: Milena
เมื่อกำแพงเบอร์ลินก่อตัว
วันที่ 13 สิงหาคม 1961 ทางการเยอรมนีตะวันออกมีคำสั่งให้เริ่มสร้างแนวกั้นพรมแดนระหว่างสองประเทศ รวมไปถึงแนวกำแพงที่ล้อมรอบเบอร์ลินตะวันตกเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนอพยพออกและไปแสวงหาโอกาสในอีกฝั่งหนึ่งของเยอรมนี ซึ่งกำแพงดังกล่าวถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน
ในวันที่กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างขึ้นพ่อของมิเลนามีอายุเพียง 11 ขวบเท่านั้น มิเลนาเล่าให้ THE STANDARD ฟังว่า “ผู้คนในเบอร์ลินตะวันออกจะสามารถมองเห็นกำแพงเบอร์ลินได้จากระยะไกล กำแพงนั้นราวกับเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่เราไม่มีทางที่จะเอาชนะได้ โดยผู้คนจะอาศัยอยู่ห่างจากกำแพงออกไปอีกหลายกิโลเมตร เราเลยไม่เคยได้เข้าใกล้กำแพงนั้นจริงๆ
“บริเวณกำแพงเบอร์ลินเป็นเหมือนพื้นที่รักษาความปลอดภัยที่ผู้คนจะอาศัยอยู่ได้ต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากทางการ หรือเป็นตำรวจลับ (Stasi) ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวด มีกองกำลังทหาร มีลวดหนาม รวมถึงมีแถบมรณะที่เต็มไปด้วยกับดักอันตรายมากมาย”
ภาพ: Milena
ชีวิตหลังกำแพงเบอร์ลิน
ภาพจำของผู้คนที่ใช้ชีวิตในเบอร์ลินตะวันออก ซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ อาจเต็มไปด้วยภาพของความยากลำบาก ขัดสน และสู้ชีวิต แต่มิเลนาเล่าว่า “ชีวิตของฉันค่อนข้างปกติและเรียบง่ายมาก พ่อและแม่ของฉันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เรามั่นใจว่าเรามีทุกอย่างเพียงพอ แม้เราจะมีวันหยุดที่เรียบง่ายที่สุดในโรงแรมไม่กี่ดาวสไตล์เยอรมนีตะวันออก แต่พวกเราจะรู้สึกเหมือนกับได้ไปพักผ่อนในโรงแรม 5 ดาว
“ในเยอรมนีตะวันออกคุณจะสัมผัสได้ถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ที่อยู่รอบตัวคุณ ทั้งเครื่องแบบที่คุณใส่ไปโรงเรียน ความพยายามที่จะผลิตซ้ำชุดความคิดที่ว่า ‘ทุนนิยมเป็นศัตรูที่น่ากลัวอย่างไร’ ในโรงเรียนระดับชั้นต่างๆ รวมถึงชั้นอนุบาล และชีวิตที่นั่นไม่ได้มีตัวเลือกอะไรมากมายนัก”
มิเลนายังเล่าอีกด้วยว่า เหตุการณ์ที่เธอตื่นเต้นและรู้สึกผจญภัยที่สุดคือ ช่วงที่มีการจัดงานวันเกิด พ่อและแม่จะเชิญญาติๆ ที่อาศัยอยู่ในเบอร์ลินตะวันตกมาร่วมพบปะและสังสรรค์กันยังอีกฝั่งหนึ่งของเมือง พวกเขามักจะนำขนมที่มีกลิ่นหอมหวาน ลูกกวาดและโยเกิร์ตที่มิเลนาชอบ ติดไม้ติดมือมาฝากด้วย และแน่นอนว่าบทสนทนาของผู้ใหญ่บนโต๊ะอาหารคงหนีไม่พ้นประเด็นทางการเมือง ประกอบกับการที่เราสามารถฟังวิทยุจากเยอรมนีตะวันตกได้ นั่นจึงทำให้มิเลนาเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี
“ผู้คนในเยอรมนีตะวันออกเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ที่จะซ่อมแซมเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงชอบที่จะถนอมอาหารเก็บไว้กินในฤดูหนาว ช่วงเวลาที่ฉันมีความสุขที่สุดในฤดูหนาวอาจเป็นวันที่ฉันเจอขวดพีชดองจากห้องใต้ดิน วันนั้นจะกลายเป็นวันพิเศษของฉันไปโดยปริยาย”
ภาพ: Milena
ความคิดที่อยากจะข้ามกำแพงเบอร์ลิน
เราถามมิเลนาว่า เธอและครอบครัวเคยมีความคิดที่อยากจะข้ามกำแพงเบอร์ลินและไปใช้ชีวิตในเบอร์ลินตะวันตกบ้างไหม? มิเลนาตอบว่า “แน่นอนสิ แต่พ่อกับแม่ของฉันไม่ต้องการที่จะทิ้งพ่อแม่ของพวกเขาไว้ข้างหลัง นั่นเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก แต่สำหรับฉัน ฉันคิดว่าการที่ครอบครัวของเราได้อยู่ด้วยกันคือสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว”
มิเลนายังเล่าอีกว่า “ในกรุงเบอร์ลิน วิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายมากนัก เรามีอาหารวางอยู่บนโต๊ะเสมอ แม้บางครั้งมันจะดูน่าเบื่อและไม่ใช่อาหารที่เลิศรสอะไรนัก แต่เราก็ยังอิ่มท้อง มีช่วงเวลาที่ตลกและได้เล่นสนุก เพื่อนบ้านของมักจะมากดกริ่งแล้วบอกเราในช่วงฤดูร้อนว่า คนขายผลไม้กำลังมา ถ้าโชคดีหน่อยฉันอาจเดินกลับบ้านพร้อมกับตะกร้าใบเล็กที่มีสตรอว์เบอร์รีอยู่ในนั้น”
ด้วยเหตุผลทางด้านครอบครัวกับสภาพเศรษฐกิจในเบอร์ลินที่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อครอบครัวของมิเลนา อีกทั้งญาติๆ จากฝั่งตะวันตกก็ยังพอที่จะเดินทางมาหาพวกเธอได้เป็นครั้งคราว นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มิเลนาและครอบครัวของเธอยังคงเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีตะวันออกต่อไป
ภาพ: Milena
เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มสาดส่อง
มิเลนามองว่าแนวนโยบายกลัสนอสต์และเปเรสตรอยกาที่พยายามจะฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่ใกล้จะล่มสลายในบรรดาประเทศคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่อย่าง มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตในช่วงเวลานั้น รวมกับความปรารถนาของผู้คนและรัฐบาลที่ต้องการจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเยอรมนีตะวันออก เป็นจุดเปลี่ยนและเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน
เธอยังเล่าอีกด้วยว่า สัญญาณดังกล่าวเริ่มเด่นชัดขึ้นหลังมิเลนาเข้าร่วมประท้วงอย่างสันติในกรุงเบอร์ลิน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกลับไม่ได้ปราบปรามหรือยิงทำร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงในครั้งนั้นแต่อย่างใด และนั่นเป็นหนึ่งในปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอ และเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นแล้วในกรุงเบอร์ลิน
ภาพ: Milena
กำแพงเบอร์ลินถูกทุบทำลาย
มิเลนาเล่าว่า เธอยังคงจำความรู้สึกในวันที่เธอได้ก้าวข้ามชายแดนจากเยอรมนีตะวันออกมาเยอรมนีตะวันตกได้เป็นอย่างดี แม้กำแพงเบอร์ลินจะเริ่มถูกทุบทำลายในวันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 1989 หรือวันนี้เมื่อ 34 ปีก่อน แต่ภาพเหตุการณ์นั้นยังคงเด่นชัดเสมอมา
“เมื่อฉันได้ข้ามชายแดนเป็นครั้งแรก ฉันรู้สึกเหมือนนั่นเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในโลก ฉันกับแม่เดินทางข้ามกำแพงไปยังเยอรมนีตะวันตกในเช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่พ่อของฉันเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว 1 วันหลังจากที่เขาได้รับวีซ่าเป็นครั้งแรกในชีวิตให้สามารถเดินทางไปร่วมฉลองวันเกิดปีที่ 70 ของป้าของเขาได้ ซึ่งป้าอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่ห่างออกไปจากแนวกำแพงเพียง 5 นาทีเท่านั้น
“ตอนนั้นฉันอายุ 13 ปี เราต่างรีบมุ่งหน้าไปยังบ้านของป้า ทุกๆ ย่างก้าวของฉันในเบอร์ลินตะวันตกช่างแสนพิเศษ เมื่อประตูอพาร์ตเมนต์ถูกเปิดออก ญาติพี่น้องและแขกทุกคนต่างอยู่ภายในนั้น พ่อและแม่ของฉันสวมกอดกัน และทุกคนต่างร่วมร้องไห้ยินดี นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นผู้คนร่วมร้องไห้เพราะความดีใจและปีติยินดี ฉันไม่แน่ใจว่าคุณเคยร้องไห้เพราะคุณมีความสุขไหม แต่นั่นเป็นความรู้สึกที่สุดยอดมากๆ
“ทุกวันนี้ฉันยังขอบคุณกอร์บาชอฟสำหรับแนวทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเขา ขอบคุณผู้กล้าของเราทุกคน ขอบคุณพ่อและแม่ของฉันที่เป็นแบบอย่างของการปรับตัวและยืดหยุ่นในช่วงที่ยังอาศัยอยู่ในเยอรมนีตะวันออก โดยเฉพาะพ่อ ขอบคุณสำหรับความกล้าหาญและแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ทำให้ฉันรู้ว่า หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของฉันก็คือ การมีเสรีภาพในการพูด”
ภาพ: Milena
มิเลนากล่าวทิ้งท้ายถึงคนที่ผ่านมาพบเจอเรื่องราวของเธอ รวมถึงคนอื่นๆ ในสังคมว่า “ไม่มีกำแพงใดที่พังทลายไม่ได้ มีหนทางไปต่อเสมอ จงช่วยกันทำให้เสรีภาพในการพูดเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุดในสังคมของคุณ ช่วยกันปกป้องและเคารพสิ่งนั้น อย่าปล่อยให้คนอื่นมาตัดสินใจว่าคุณควรคิดอย่างไรหรือควรทำอะไร พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลูกหลานของคุณแสดงความคิดเห็น เปิดโอกาสให้คนมีความรู้ความสามารถก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ และผู้นำควรมีเป้าหมายสำคัญในการมุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ปกครองและบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง”
- ชมคลิป ‘กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย | 9 พฤศจิกายน 1989’ ได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=hhwvz-NWous