จากกรณีที่วานนี้ (8 พฤศจิกายน) เวลาประมาณ 11.45 น. ที่ปากซอยสุขุมวิท 64/1 รถบรรทุกทะเบียน 83-3281 นนทบุรี ซึ่งวิ่งมาตามถนนสุขุมวิทขาเข้า และเมื่อขับขี่มาถึงหน้าปากซอยดังกล่าว ได้เกิดเหตุฝาครอบ (แผ่นปิด) ของหลุมท่อขนาดใหญ่ทรุดตัวลงแยกเป็นสองแผ่น
เป็นเหตุให้รถบรรทุกตกลงไปในหลุม รถจักรยานยนต์และรถยนต์แท็กซี่ที่ขับตามมาได้รับความเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
อุบัติเหตุนี้สังคมเกิดคำถามอะไรบ้าง
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมเกิดคำถามทันทีถึง ‘ความปลอดภัยในฐานะผู้ใช้รถ-ใช้ถนน’ เพราะอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมาบริเวณถนนมักกะสัน ในครั้งนั้นเป็นรถยนต์ของประชาชนที่ตกลงไปในหลุม หลังจากรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านไปก่อน
ทั้งสองเหตุการณ์ล้วนเกิดจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ ประเด็นที่สังคมสงสัยคือ ‘ความมั่นคงของพื้นชั่วคราวที่วางทับบนพื้นที่ก่อสร้างใต้ถนน’ ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามไปที่ฝั่งรถบรรทุกถึงเรื่อง ‘น้ำหนักรถบรรทุกและของที่บรรทุก’ และ ‘สติกเกอร์รูปดาวพร้อมตัวอักษร B ที่แปะกึ่งกลางกระจกหน้ารถ’
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้คำตอบเรื่องน้ำหนักและขอบเขตหน้าที่ กทม.
วันนี้ (9 พฤศจิกายน) เมื่อเวลา 09.09 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้น สรุปได้ดังนี้
- กรณีที่ถนนมักกะสัน จุดที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่อระบายน้ำของ กทม. กรณีที่สุขุมวิทเป็นงานก่อสร้างของการไฟฟ้านครหลวง โครงการวางท่อเพื่อนำสายไฟสายสื่อสารลงดิน จุดที่เหมือนกันคือมีการนำแผ่นชั่วคราวมาวางบนถนนเพื่อให้รถสัญจร แผ่นดังกล่าวเปิด-ปิดได้ เหตุที่เกิดขึ้นคือแผ่นชั่วคราวนี้ยุบตัว
- สาเหตุการยุบตัวที่ถนนสุขุมวิทเป็นได้ 2 ข้อ คือ
- รถบรรทุกน้ำหนักเกิน
- การก่อสร้างไม่เรียบร้อย
- จากการประเมินด้วยสายตา รถที่เกิดเหตุเมื่อคำนวณจากความสูงของกระบะคูณด้วยน้ำหนักดิน อาจเป็นไปได้ที่รถคันนี้มีน้ำหนักถึง 45 ตัน เมื่อสุ่มดูข้อมูลจากตัววัดน้ำหนักที่สะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พบว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมรถคันดังกล่าวบรรทุกน้ำหนักถึง 61 ตัน
- เรื่องน้ำหนักรถบรรทุกเป็นความรับผิดชอบของ กทม. ร่วมกับตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง ที่กำหนดให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล กทม. จึงเป็นผู้ที่ออกกฎน้ำหนักบรรทุกเอง โดยออกไว้ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2565 ที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะด่านชั่งจะอยู่ในพื้นที่รอบนอกเมือง อาทิ ทางหลวงชนบท
- การตั้งด่านตรวจน้ำหนักในเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะทำให้การจราจรติดขัด สิ่งที่ กทม. ทำอยู่คือ นำเครื่องมือวัดไปติดตั้งบนสะพาน เพื่อวัดการเคลื่อนตัวของสะพานเมื่อรถบรรทุกวิ่งผ่าน แล้วนำผลการเคลื่อนตัวของสะพานเปลี่ยนเป็นน้ำหนัก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะต้องทำอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ คาดว่าใน 1-2 เดือนจากนี้ กทม. จะติดตั้งเครื่องมือนี้ได้เรียบร้อย
- ถนนสุขุมวิทหลังเกิดเหตุ กทม. ได้เสริมตัวคานรับน้ำหนักที่จุดดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันรถที่น้ำหนักมากวิ่งผ่าน ขณะที่เส้นทางอื่นๆ รอบกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีการก่อสร้างทั้งของ กทม. เรื่องท่อระบายน้ำ, รถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.), เรื่องรถไฟฟ้าสายสีม่วง และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เรื่องการนำสายไฟลงดิน
- การแก้ปัญหาระยะสั้น นำเครื่องวัดจากกรมทางหลวงเข้ามาช่วย โดยในระยะกลางติดตั้งระบบ BIM (เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม) ให้มากขึ้น และระยะยาวเสนอรัฐบาลให้ปรับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- เรื่องส่วยสติกเกอร์ กทม. ไม่ทราบจริงๆ ยอมรับว่าในทางปฏิบัติการจัดการรถบรรทุกตำรวจเป็นส่วนสำคัญ เพราะตำรวจเป็นผู้ระบุว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องความผิด เทศกิจไม่เคยจับรถบรรทุกมาก่อน
ตั้งสอบตำรวจปมส่วยสติกเกอร์
เพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่รับผิดชอบมีพฤติการณ์ปล่อยปละละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวจะมีมูลอันเป็นการกระทำความผิดทางวินัยตำรวจหรือไม่
วันนี้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
- พ.ต.อ. ภพธร จิตต์หมั่น รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 เป็นประธานกรรมการ
- พ.ต.อ. สุนทร ไชยรักษา ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 เป็นกรรมการ
- พ.ต.ท. กฤษณะ จันทร์ประเสริฐ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาล (สน.) วัดพระยาไกร กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 เป็นกรรมการและเลขานุการ
รอง ผบ.ตร. ให้คำตอบปมส่วยสติกเกอร์
วันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะกำกับดูแลด้านการจราจร เข้าประชุมที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) พระโขนง เพื่อดูรายละเอียดของสำนวนคดีที่เกิดขึ้น พร้อมให้สัมภาษณ์ สรุปได้ว่า
- ชุดทำงานมุ่งประเด็นไปที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นเรื่องแรก ก่อนจะเชื่อมโยงไปถึงประเด็นเรื่องส่วยสติกเกอร์ ยืนยันว่าจะทำคดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง ถ้ารถบรรทุกน้ำหนักเกินจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง ตัวรถก็จะถูกศาลยึดไว้ ไม่สามารถเอาไปใช้ประกอบอาชีพได้ต่อไป
- กรณีที่ผู้ประกอบการตักดินออกจากรถก่อนที่จะมีการชั่งน้ำหนัก ส่วนนี้เข้าใจได้ว่ารถมีน้ำหนักมากทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงจำเป็นต้องตักดินออกก่อน แต่ตอนนี้ดินทั้งหมดกลับมาสู่รถและเตรียมเข้าสู่กระบวนการชั่ง
- ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ รถบรรทุกที่จะวิ่งเข้าเมืองต้องผ่านการชั่งน้ำหนัก และรถที่วิ่งในกรุงเทพฯ ก็จะต้องถูกชั่งน้ำหนักก่อนออกจากไซต์ก่อสร้าง
- ยอมรับว่าโรงพักในพื้นที่นครบาลไม่ได้มีตาชั่งเหมือนกับโรงพักต่างจังหวัด จึงประสานกับกรมทางหลวงให้นำตาชั่งออกมาช่วยดำเนินการร่วมกันกับตำรวจ
- ในประเด็นสติกเกอร์หน้ารถ จากการสอบถามเจ้าของรถให้ข้อมูลว่า สติกเกอร์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์การเข้า-ออกไซต์งานก่อสร้าง เพราะในบริษัทมีรถบรรทุกหลายคัน แต่ทั้งนี้ ตำรวจยังตั้งข้อสงสัยและจะสืบขยายผลต่อไปโดยไม่ปักใจเชื่อเฉพาะคำให้การดังกล่าว
ขอเวลา 3 วันหาคำตอบให้สังคม
ด้าน พ.ต.อ. ภพธร จิตต์หมั่น รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีดังกล่าว ให้สัมภาษณ์เมื่อเวลา 14.00 น. ยืนยันว่าน้ำหนักรถบรรทุกคันดังกล่าวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างแน่นอน
ขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องของเพลาล้อหลังรถบรรทุกที่ตอนนี้ยังชำรุดเนื่องจากการตกลงไปใต้พื้นถนน โดยตามกำหนดเวลาว่าจะชั่งน้ำหนักรถบรรทุกได้ภายในเวลา 14.00 น. นั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยับเวลาออกไปจนกว่าช่างจากแขวงการทางจะดำเนินการซ่อมเพลารถที่ชำรุดให้กลับมาสมบูรณ์
เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญ หากเพลาและกระทะล้อด้านหลังยังไม่สมบูรณ์ จะไม่สามารถแสดงน้ำหนักที่แท้จริงทั้งหมดของรถบรรทุกและดินที่อยู่ภายในส่วนบรรทุกด้านหลังออกมาได้ เนื่องจากไม่มีการถ่ายเทน้ำหนักลงไปอย่างสมบูรณ์ และรถจะไม่สามารถเคลื่อนขึ้นไปบนตาชั่งได้
ส่วนขั้นตอนการสอบสวน พ.ต.อ. ภพธร ระบุว่า ตอนนี้ได้วางกรอบและขั้นตอนการสอบสวนทั้งหมดไว้แล้ว โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน