×

เรืองไกรเปิดข้อมูลภรรยาสุทิน-ไชยา อาจถือหุ้นเกิน 5% ร้อง กกต. ​สอบส่งศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่-พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2023
  • LOADING...
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

วันนี้ (6 พฤศจิกายน) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบรัฐมนตรี 2 คนคือ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

 

โดยเรืองไกรระบุว่า ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งพบว่าอาจมีการครอบครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) เกิน 5% ตามที่กฎหมายกำหนด อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 เนื่องจากมาตราดังกล่าวกำหนดครอบคลุมไปถึงคู่สมรสด้วย  

 

ภรรยาไชยาอาจถือหุ้นใน หจก.ศรีบุญเรืองวัฒนา เกิน 5%

 

เรืองไกรกล่าวว่า ในส่วนของไชยาแจ้งข้อมูล ‘ค่อนข้างแปลก’ จากเอกสารบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 

 

โดยแจ้งการลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุญเรืองวัฒนา ของ อัญชลี พรหมา ภรรยาจำนวน 400,000 บาท จากทั้งหมด 500,000 บาท ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อของ อธิษฐาน พรหมา ซึ่งเป็นลูกสาว 

 

เรืองไกรระบุว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 16 กันยายน ยังปรากฏชื่อของอัญชลีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยปรากฏรายการการรับเงินจากลูกสาว ระบุในใบรับเงินว่าเป็นการเพิ่มทุน

 

นอกจากนี้ยังมีการเอามูลค่าของห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมกำไรสะสม ซึ่งควรจะเป็นของห้างหุ้นส่วน ไม่ใช่ของตัวเองมายื่นต่อ ป.ป.ช. จึงมีเหตุให้ต้องตรวจสอบลึกลงไปอีก

 

“จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1-16 กันยายนที่ผ่านมา ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเข้าข่ายความผิดมาตรา 187 ว่า รัฐมนตรีต้องไม่คงไว้ซึ่งหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด เกิน 5% พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 คล้ายกับกรณีของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”

 

“มีข้อสังเกตว่าทำไมยังเป็นหุ้นส่วนอยู่ ทั้งที่ความเป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการควรมาจากคนที่เป็นหุ้นส่วน ถ้าโอนให้ลูกสาวแล้วก็ควรเป็นลูกสาวที่เป็นคนเซ็นเอกสาร (รับเงิน) นั้น”

 

ภรรยาสุทินถือหุ้นใน หจก.คลังแสงอีสาน เกิน 5% มากว่า 2 เดือน

 

ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรืองไกรระบุเช่นเดียวกันว่ามีข้อผิดแปลก

 

โดยการยื่นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่เข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แจ้งว่าคู่สมรสมีเงินลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดคลังแสงอีสาน 1.5 ล้านบาท แล้วพบว่ามีเศษสตางค์ด้วย 

 

แต่เมื่อย้อนไปดูเมื่อเดือน 20 มีนาคม 2566 ก็พบว่า ลงทุนไว้ 1 ล้านบาท คำถามคือแล้ว 5 แสนบาทนี้เพิ่มมาจากที่ไหน 

 

จากการตรวจสอบงบกำไร-ขาดทุน ปี 2565 พบว่าตัวเลข 1.5 ล้านบาท เป็นยอดรวมของหุ้นส่วนกับหนี้สินถือว่าผิด เรืองไกรตั้งคำถามว่า ป.ป.ช. ไม่เอะใจบ้างหรือ

 

เมื่อดูที่ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ภรรยาของสุทินถือว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการยังถือหุ้นอยู่ ซึ่งต่างจากของไชยาที่เปลี่ยนไปเป็นชื่อของลูกสาวแล้ว ระยะเวลาเกิน 2 เดือน ถือว่าเกิน 30 วันตามกฎหมาย 

 

ดังนั้นเป็นเหตุให้มีการตรวจสอบโดยเร็วว่าวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 สุทินในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด คลังแสงอีสาน 1 ล้านบาท ในนามคู่สมรส เกิน 5% หรือไม่ ซึ่งหากพบว่ายังมีการคงไว้ จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของสุทินสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่  

 

“ขอให้ กกต. นำ พ.ร.บ.ห้างจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาประกอบการพิจารณาด้วย หาก กกต. เห็นว่า รัฐมนตรีทั้ง 2 คน มีเหตุเข้าข่ายจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ขอให้รีบส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป และขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนด้วย” เรืองไกรกล่าว

 

ทำไมรัฐมนตรีถือหุ้นเกินในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเกิน 5% ไม่ได้

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 187 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด

 

“ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีตามวรรคหนึ่งต่อไป ให้แจ้งประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้แต่งตั้ง และให้โอนหุ้น ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น”

 

ซึ่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 บัญญัติซ้ำอีกว่า “รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท” แต่ยกเว้นการถือหุ้นไม่เกิน 5% ทั้งในบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทมหาชน

 

อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลที่รัฐมนตรีจะโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้จัดการตามพระราชบัญญัตินี้ได้ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมายโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

 

ทั้งนี้ หากมีการถือหุ้นเกิน 5% และถือเกิน 30 วันหลังการได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี โดยไม่ได้โอนหุ้นออกและแจ้งประธาน ป.ป.ช. ถือเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวทันทีหากมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X