วันนี้ (6 พฤศจิกายน) บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า “บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งให้ทราบว่า สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ได้แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัทฯ และบริษัทในเครือทั้งหมด โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566”
ส่งผลให้ปัจจุบันช่อง 3 ขาดผู้บริหารจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคนใหม่เข้ามารับหน้าที่แทน
สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ คือใคร
สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ อดีตกรรมการบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ วัย 59 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเข้าศึกษาระดับปริญญาโท Master of Arts, Economics ที่ Middle Tennessee State University สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ สุรินทร์เคยให้สัมภาษณ์กับ MiX Magazine ว่าเขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ Unilever ในตำแหน่ง Management Trainee ก่อนมาดูแลเรื่องการตลาดที่ Pepsi จากนั้นได้ขยับงานและตำแหน่งไปอีกหลายบริษัท ก่อนที่จะปักหลักอยู่ช่อง 3 ยาวถึง 13 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2560 โดยตำแหน่งสุดท้ายที่ช่อง 3 คือรองกรรมการผู้จัดการช่อง 3 และรักษาการกรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด
ทิ้งช่อง 3 ไปบริหาร PPTV ก่อนหวนกลับมาอีกครั้ง
ปี 2560 สุรินทร์เลือกลาออกจากช่อง 3 ไปรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ PPTV รับหน้าที่หัวเรือใหญ่ได้เพียง 3 ปีเศษ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2563 เขาตัดสินใจลาออกจากสถานีโทรทัศน์ PPTV
ในขณะที่ฝั่งช่อง 3 กำลังขาดผู้บริหารจากการตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ผู้บริหารของ อริยะ พนมยงค์ ที่เข้ามารับหน้าที่เพียงปีเศษ
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2563 สุรินทร์กลับมาอยู่ที่ช่อง 3 อีกครั้ง แต่กลับมาในตำแหน่งใหม่คือกรรมการบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์
พาช่อง 3 ปรับตัว พลิกฟื้นจากขาดทุนสู่กำไร (อีกครั้ง)
การกลับมาบริหารช่อง 3 ของสุรินทร์นำพาสถานีโทรทัศน์ย่านพระราม 4 กลับมามีกำไรอีกครั้งในปี 2564 หลังขาดทุนติดต่อกัน 3 ปี 2561-2563 จากพิษการถือครองทีวีดิจิทัล 3 ช่อง และการมาของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามาทดแทนการรับชมทีวีแบบเดิม
สุรินทร์ปรับแพลตฟอร์มช่อง 3 ที่ไม่ได้มีแค่ทีวี แต่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ในชื่อ 3Plus ซึ่งสามารถรับชมละครและรายการของช่อง 3 ย้อนหลังได้ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน
ปรับกลยุทธ์ละครให้ไปไกลกว่าในประเทศ โดยส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดึงดูดคนกลุ่มใหม่ๆ และละครวายอย่าง คุณหมีปาฏิหาริย์ ที่ออกอากาศในช่วงละครหลังข่าวซึ่งเป็นเวลาไพรม์ไทม์ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการทีวีของประเทศไทย
จับตาอนาคตช่อง 3 ในมือของผู้บริหารคนใหม่
ปัจจุบันบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง 3 มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มมาลีนนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้ง และกลุ่มจุฬางกูร ที่ทยอยเข้ามาซื้อหุ้น อย่างไรก็ตาม ทิศทางการบริหารยังมาจากทางกลุ่มมาลีนนท์
โจทย์ของผู้บริหารคนใหม่ของช่อง 3 คือสมรภูมิทีวีที่ต้องผสานกับออนไลน์เพื่อต่อสู้กับเพื่อนร่วมสนาม แม้มีจุดแข็งเรื่องข่าวมายาวนานจากแม่เหล็กอย่าง สรยุทธ สุทัศนะจินดา แต่ปัจจุบันไม่ใช่เครื่องการันตีทุกอย่างอีกต่อไป เมื่อดาวดวงใหม่เริ่มปรากฏ รวมถึงโจทย์ใหญ่คือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2572 เหลืออีกเพียง 5 ปีเศษ ซึ่งต้องวางแผนและประเมินว่าช่อง 3 จะไปในทิศทางไหนในการประมูลครั้งต่อไป
เข้าสู่ปีที่ 53 ของช่อง 3 ภายใต้การบริหารของสุรินทร์มาอย่างยาวนาน และเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของช่อง 3 แต่การมาของผู้บริหารจากที่อื่นๆ อาจทำให้การทำงานไม่สอดประสานกับกลุ่มผู้ถือหุ้นดังที่เคยปรากฏมาแล้ว นอกจากการหาคนที่ทำงานเก่งแล้วยังต้องหาคนที่เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรที่เก่าแก่กว่าครึ่งศตวรรษอีกด้วย