×

จากบุพเพสันนิวาส ถึง BNK48 ประยุทธ์เร่งพีอาร์ หากองหนุน หวังผลอะไร?

24.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปรากฏการณ์คนเด่นคนดังของประเทศเข้าพบผู้นำประเทศ โดยเฉพาะนายกฯ กลายเป็นธรรมเนียมทางการเมืองไปแล้ว ทั้งการเข้าพบเพื่อรับการยกย่องสดุดี ชื่นชม หรือเข้าพบเพื่อช่วยรัฐพีอาร์ประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ
  • พล.อ. ประยุทธ์ เคยประกาศว่าตนไม่ใช่นักการเมือง การสร้างความนิยมอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ในเวลาต่อมาก็กลับลำ แถมรัฐบาลนี้ยังให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษกับการพีอาร์ในช่วงนี้ ย่อมหมายถึงการเตรียมการ ‘บางอย่าง’ ในอนาคตที่มองเห็นได้ไกลถึง ‘การลงสู่สนามเลือกตั้ง’ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อใด
  • การเร่งหา ‘กองหนุน’ จึงต้องทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการดึงดูด ฉวยเอานักการเมืองที่มีฐานมวลชนมาเข้าร่วมรัฐบาล แต่สิ่งที่รัฐทำได้เลยก็คือการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตีปี๊บผลงาน โดยดึงเอาสิ่งที่เป็น ‘กระแส’ หรือในแง่หนึ่งเป็นการดึงเอา ‘พลังมวลชนผ่านพลังโซเชียล’ เข้ามาเป็นกองหนุน ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด ขณะที่วิธีการนี้ยังวินวินทั้งสองฝ่ายด้วย

ปลายปี 2560 กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายก ในฐานะกำกับกรมประชาสัมพันธ์และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับสื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งทุกหน่วยงานต้นสังกัดแจงข้อมูลให้ประชาชนทราบ โดยเน้นทำงานเชิงรุก ใช้สื่อรัฐประชาสัมพันธ์ผลงานทุกสัปดาห์ เน้นสร้างการรับรู้การดำเนินงาน

 

ข้ามมาปี 2561 สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลเข้าอวยพรนายกฯ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ สนทนากับพี่น้องสื่อมวลชนด้วยประโยคแกมขอร้องว่า “ต้องฝากสื่อช่วยกันประชาสัมพันธ์ด้วยว่าเรื่องไหนทำได้ก่อนหรือหลัง หรือประชาชนมีความต้องการอะไรก็สื่อเข้ามา รัฐบาลจะได้บอกได้ เพราะบางครั้งเราไม่ทราบว่าประชาชนมีข้อสงสัยตรงไหน เพราะหากไม่เข้าใจก็จะกลายเป็นความไม่เข้าใจกัน ผมยืนยันว่าผมไม่เคยมีปัญหาอะไรกับสื่อ ขอให้ช่วยกันทำปีใหม่ปีนี้เป็นปีแห่งความสุข”

 

แค่ 2 เหตุการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นนัยยะที่สำคัญของงานพีอาร์ ‘ประชาสัมพันธ์’ อย่างชัดเจนแล้วว่ามากขนาดไหน และมากขนาดที่รัฐบาลที่มีอำนาจควบคุมจัดการทุกอย่างยังต้องปาดเหงื่อ รุกหนักโหมประกาศผลงาน เพราะหมายความว่าความไว้เนื้อเชื่อใจต้องปรากฏเป็น ‘รูปธรรม’ ผ่านการปฏิบัติ จึงจะพูดได้เต็มปาก

 

แต่หากประชาชนไม่รับรู้แล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะโกยแต้มความไว้วางใจนี้ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่เข้ามาจากการรัฐประหารจะต้องเดินเครื่องสิ่งเหล่านี้ให้เต็มสูบเต็มกำลัง

 

พีอาร์ เรื่องที่รัฐบาลไหนก็ทำ ดารา คนดัง พบนายกฯ ธรรมเนียมการเมือง

หากใครที่ติดตามการเมืองจะเห็นว่า ช่วงหน้าร้อนเดือนเมษายนที่อุณหภูมิการเมืองก็ร้อนแรงพอกัน เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลประยุทธ์เหมือนจะโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผลงานรัฐและภาพลักษณ์ของรัฐบาลค่อนข้างหนักและถี่ ใช้องคาพยพที่มีในการแบ่งสรรปันส่วนการชี้แจงแถลงผลงาน ไม่เว้นแม้แต่ ‘ศูนย์กลางอำนาจ’ อย่าง ‘ทำเนียบรัฐบาล’ ที่กลายเป็นสมรภูมิประกาศผลงานมากขึ้นกว่าการใช้เป็นสถานที่ทำงาน และต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างเดียว

 

 

แน่นอนว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลแรกที่ทำเรื่องการพีอาร์ ประชาสัมพันธ์ รัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ล้วนอาศัยพื้นที่สื่อ ทั้งสื่อหลักในมือและสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ตนเองสร้างขึ้นเป็นฐานในการบอกเล่าเก้าสิบต่อประชาชนว่าได้ทำสิ่งที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ เป็นมรรคผล รูปธรรม อย่างไรบ้างแล้ว จะอาศัยสื่อมวลชนอย่างเดียวก็คงไม่ได้อะไรที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะสื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้กับรัฐ อย่างที่สมาคมนักข่าวฯ เคยตอบนายกฯ ประยุทธ์ไปแล้วถึงข้อเรียกร้องในการนำเสนอข่าวของรัฐบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

ปรากฏการณ์คนเด่นคนดังของประเทศเข้าพบผู้นำประเทศ โดยเฉพาะนายกฯ จึงกลายเป็นธรรมเนียมหนึ่งทางการเมืองไปแล้ว ทั้งการเข้าพบเพื่อรับการยกย่องสดุดี ชื่นชม หรือเข้าพบเพื่อช่วยรัฐพีอาร์ประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ขณะที่ผู้นำโลกในประเทศอื่นๆ ก็อาจมีบ้าง เช่น ในสหรัฐอเมริกาก็มีปรากฏ แต่ขณะเดียวกันเสรีภาพทางการเมืองของเขาเปิดให้คนเด่นคนดังเหล่านั้นเลือกที่จะสนับสนุนฝ่ายใดด้วย ความเป็นการเมืองชัดแจ้งอยู่ในตัวบุคคลนั้นๆ อยู่แล้ว

 

 

ขณะที่เมื่อกล่าวถึงปัจจัยทางการเมืองของไทย หากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผ่านการเลือกด้วยนัยยะ Popular Vote คงไม่ยากนักที่การสร้างความนิยมให้เกิดในหมู่มวลชน เพราะล้วนมีฐานความนิยมชมชอบอยู่บ้าง ผ่านมวลชนที่เรียกว่า ‘พรรคการเมือง’ แต่นัยยะความนิยมของผู้นำที่มาจากรัฐประหารย่อมต่างกัน มิพักต้องพูดถึงความชอบธรรมเรื่องการเข้าสู่อำนาจ การสร้างความนิยมอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ย่อมหมายถึงการเตรียมการ ‘บางอย่าง’ ในอนาคตที่มองเห็นได้ไกลถึง ‘การลงสู่สนามเลือกตั้ง’ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อใด

 

 

หากองหนุน ต่ออายุทางการเมือง

การจะอยู่ยาวหรืออยู่รอดตลอดไปในสนามการเมืองจำเป็นต้องมี ‘กองหนุน’ เพราะ หากลดน้อยถอยลงย่อมหมายถึงที่ทางและอายุขัยของรัฐบาลที่หดแคบลงด้วย การเร่งหากองหนุนจึงต้องทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการดึงดูด ฉวยเอานักการเมืองที่มีฐานมวลชนมาเข้าร่วมรัฐบาล แต่สิ่งที่รัฐทำได้เลยก็คือ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตีปี๊บผลงาน โดยดึงเอาสิ่งที่เป็น ‘กระแส’ หรือในแง่หนึ่งเป็นการดึงเอา ‘พลังมวลชนผ่านพลังโซเชียล’ เข้ามาเป็นกองหนุน ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด

 

 

ในเดือนเมษายน ท่ามกลางกระแส ‘ออเจ้า’ จากละคร บุพเพสันนิวาส ละครแนวย้อนยุคที่มี โป๊ป-เบลล่า เป็นนักแสดงตีบทแตก ดูดเอาคลื่นความนิยมจากประชาชนอย่างมหาศาลมาสู่ช่อง 3 และขยายไปสู่แวดวงอื่นๆ ที่ได้รับอานิสงส์ไปตามๆ กัน คำถามจึงดังขึ้นว่า ‘เมื่อไรจะมาพบนายกฯ’ ไม่นานจากนั้นก็ปรากฏภาพพี่หมื่นและแม่การะเกด รวมทั้งตัวละครอื่นๆ มาเดินเฉิดฉายที่ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุขสนุกสนานของนายกรัฐมนตรีและดารานักแสดง ปริมณฑลก็ขยายเข้าสู่แวดวง ‘การเมือง’ อย่างแยกไม่ออก

 

ถัดมาวันนี้ ศิลปินกลุ่มไอดอลหญิงยอดนิยม BNK48 ซึ่งโด่งดังจากเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย กับท่าเต้นโอนิกิริ ที่สร้างปรากฏการณ์ความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ได้คิวเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นการเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์สถานีวิทยุเพื่อครอบครัวที่ชื่อว่า ‘Happy Family Radio F.M.105 MHz.: วิทยุเพื่อครอบครัว’ ของกรมประชาสัมพันธ์ก็ตาม แต่เป้าที่ต้องการ ‘เน้นตอบสนองกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่’ ยิ่งแจ่มชัดขึ้นไปอีก

 

แต่นัยยะนี้ก็อาจแสดงให้เห็นด้วยว่า การทำพีอาร์ของฝ่ายรัฐเอง ด้วยตัวผู้นำหรือคีย์แมนมีความไปไม่ถึงมวลชน หรือพูดง่ายๆ คือไม่สามารถสำเร็จหรือเฉิดฉายได้มากเพียงพอ ต้องอาศัยกระแสเป็นกองหนุนเพิ่มเติม

 

Photo: GM LIVE

 

เกาะกระแสวัฒนธรรมป๊อป รัฐได้ 2 เด้ง เอกชนก็วินวิน

เฉพาะสองตัวอย่างข้างต้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการดึงเอากองหนุนผ่านกระแสความนิยม เข้ามาช่วยให้รัฐบาลได้พื้นที่สื่อและภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ต้องการสื่อสาร เพื่อให้กระแสเหล่านี้บอกเล่าความนิยมของรัฐแบบฝังแฝงไปพร้อมๆ กันด้วย นับว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่ก็วินวินทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายดารานักแสดง ผู้จัด ไปพร้อมๆ กัน

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อปรากฏการณ์นี้กับ THE STANDARD ว่า เมื่อนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ ตามปกติแล้วหากเป็นสังคมประชาธิปไตย เรื่องความนิยมเป็นเรื่องวัดได้จากการเลือกตั้ง แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแบบพล.อ. ประยุทธ์ ก็ต้องสร้างความป๊อปขึ้นมา ซึ่งเมื่อใกล้เลือกตั้ง หรืออาจจะไม่ใกล้ แต่มีแนวโน้ม ก็ยิ่งต้องสร้างการประชาสัมพันธ์หาคะแนนนิยม แน่นอนว่าเมื่อรัฐเป็นฝ่ายควบคุมและมีอำนาจกว่า การเรียกหรือการดึงเอากระแสเข้ามาในพื้นที่ของตนก็เพื่อต้องการสร้างพื้นที่สื่อ และต้องการได้พื้นที่สื่อผ่านการเกาะกระแสวัฒนธรรมป๊อปเหล่านี้ที่มีฐานและพลังโซเชียลค่อนข้างกว้างและแข็งแกร่ง

 

“พูดง่ายๆ คือ กลุ่มนี้มายังไงคนที่สนใจหรือไม่สนใจก็ต้องดู ต่อไปก็มีคนเอาไปทำมีมทำแก๊กต่อ อย่างเพจคาราโอเกะชั้นใต้ดิน รัฐก็ได้ขยายฐานความนิยมออกไปจากกระแส”

 

อีกส่วนคือการสร้างภาพลักษณ์ ถ้าเราพิจารณาดูตัวละคร บุพเพสันนิวาส จะเห็นกลุ่มอายุที่ติดตามจะประมาณ 30-40 ปี จนถึงวัยคุณปู่คุณย่าก็มี ส่วน BNK48 ก็จะได้ฐานจากวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และมีกำลังซื้อด้วย เพราะการจะเข้าถึงกลุ่มศิลปินต้องจ่ายในบางกรณี

 

“การสร้างภาพลักษณ์ผ่านนักแสดง กลุ่มศิลปินเหล่านี้ เพื่อสื่อสารว่าบุคลิกของตนเองก็มีความเป็นมนุษย์ เพราะโดยสถานะของตำแหน่งแล้วเรียกว่าอยู่บนยอดพีระมิด สิ่งที่สื่อสารออกไปก็จะทำให้เห็นถึงความซอฟต์ ความเข้าถึง และสนใจเรื่องที่เป็นกระแสของกลุ่มต่างๆ ด้วยนั่นเอง”

 

อย่างที่บอกว่าทำเนียบรัฐบาลคือ ‘ศูนย์กลางอำนาจ’ แน่นอนว่า ‘ศูนย์กลางสื่อมวลชน’ แทบทุกสำนักจึงปักหลักอยู่ที่นี่ การปรากฏตัวของกลุ่มต่างๆ เคียงข้างนายกฯ จึงเป็นผลพลอยได้ทางการตลาดที่แทบไม่ต้องลงทุนเม็ดเงิน เพราะปรากฏตัวทีเดียวก็เป็นข่าวบนหน้ากระดานสื่ออย่างพร้อมเพรียง เรียกว่าวินวินทั้งสองฝ่าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X