×

สคฝ. เผย เงินฝากคนไทยลดลงกว่า 2 แสนล้าน หดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี ผลจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และพฤติกรรม Search for Yield

02.11.2023
  • LOADING...
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เผยสถิติเงินฝากคนไทยหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากจากผลิตภัณฑ์อื่นของนักลงทุน 

 

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สคฝ. เปิดเผยว่า การจัดทำสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองของ สคฝ. ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า มีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 212,688 ล้านบาท หรือลดลง 1.32% โดยจำนวนเงินฝากที่ลดลงนั้นครอบคลุมผู้ฝากเงินทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่มีเงินฝากในบัญชีต่ำกว่า 50,000 บาท ไปจนถึงกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 5 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เงินฝากของกลุ่มคนที่อาจไม่ได้มีเงินในบัญชีสูงมากลดลงคือ ภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และส่วนหนึ่งอาจนำเงินมาฟื้นฟูกิจการจากช่วงโควิด ส่วนปัจจัยที่ทำให้เงินฝากของกลุ่มผู้ฝากเงินรายใหญ่ลดลงคือ พฤติกรรม Search for Yield หรือการมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ

 

“ปัจจุบันเรามีจำนวนผู้ฝากเงินที่ได้รับการคุ้มครองอยู่ 93.46 ล้านราย ในจำนวนนี้ 81 ล้านรายมีเงินในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาท และส่วนมากมีเงินในบัญชีไม่ถึง 5,000 บาท เวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวของแพงขึ้น คนกลุ่มนี้ก็ต้องนำเงินออมออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ภาพรวมเงินฝากปรับตัวลดลง” ทรงพลกล่าว

 

ขณะเดียวกัน ภาวะดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น และการแข่งขันด้านผลตอบแทนระหว่างผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ เช่น ทองคำ หุ้นกู้ และบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ ก็ทำให้กลุ่มคนที่มีเงินฝากสูงบางส่วนเลือกที่จะโยกเงินไปลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน 

 

“ในช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์บางแห่งเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ ทำให้คนบางส่วนถอนเงินบาทที่ได้รับดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% กว่าๆ ไปฝากเป็นสกุลดอลลาร์เพื่อรับดอกเบี้ยที่ 5% กว่าๆ แต่การฝากเงินสกุลต่างประเทศก็ต้องแลกมากับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการไม่ได้รับการคุ้มครองจาก สคฝ. เช่นกัน” ทรงพลกล่าว

 

ผู้อำนวยการ สคฝ. เปิดเผยอีกว่า เมื่อพิจารณาสถิติเงินฝากย้อนหลังไป 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – เดือนสิงหาคม 2566 จะพบว่า ถึงแม้จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาทจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ปี 2565 โดยปรับลดลง 0.63% และในเดือนสิงหาคม 2566 ปรับลดลง 3.61% ขณะที่ผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ก็มีการปรับตัวลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 

 

สำหรับภาพรวมเงินฝากในช่วงที่เหลือของปีนี้ สคฝ. คาดว่า จะยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อที่ยังเติบโตในกรอบต่ำ ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37% โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด 1 ล้านบาท ยังคงสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98.09% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ

 

ทรงพลกล่าวอีกว่า จากการติดตามสถิติเงินฝากและปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ทำให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566-2570) ในหลายเรื่อง รวมถึงการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดความเข้าใจถึงการบริหารจัดการและแนวทางในการกอบกู้สถานการณ์เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงิน 

 

นอกจากนี้ สคฝ. ยังมุ่งสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดีให้กับประชาชนด้วยความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก โดยวางเป้าหมายการดำเนินงานปี 2567 ที่สำคัญ เช่น การประมวลผลข้อมูลผู้ฝากให้มีความถี่ขึ้น และความร่วมมือกับธนาคารเฉพาะกิจในการเป็น Paying Agent, การเตรียมกระบวนการด้านชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล และรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X