SCB CIO คาด Fed เริ่มส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนในการประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ หลังประธาน Fed สาขาต่างๆ มองดอกเบี้ยนโยบายสูงเพียงพอจะทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว แนะให้ลงทุนแบบระมัดระวัง เน้นสินทรัพย์คุณภาพ
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) ในปี 2516 พบ 3 ประเด็นสำคัญที่แตกต่างกันคือ
- สงครามรอบนี้เป็นกลุ่มฮามาสที่มีกำลังพลประมาณ 30,000 คน พร้อมอาวุธ ต่างจากปี 2516 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพอียิปต์และซีเรียโจมตีอิสราเอล
- สหรัฐฯ มีท่าทีสนับสนุนอิสราเอล แต่พยายามพบปะผู้นำหลายชาติที่เกี่ยวข้องเพื่อเจรจา ต่างจากปี 2516 ที่ส่งกองกำลังทางอากาศสนับสนุนอิสราเอล
- ท่าทีล่าสุดของประเทศตะวันออกกลางในกลุ่มประเทศ OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลักของโลก ไม่ได้มีแนวโน้มจำกัดการส่งออกน้ำมัน ต่างจากปี 2516 ที่กลุ่มนี้ออกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศที่สนับสนุนอิสราเอล จนนำไปสู่วิกฤตราคาพลังงานโลก
มองความเสี่ยงสงครามดันราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ SCB CIO ประเมินความเป็นไปได้ของสงครามครั้งนี้เป็น 3 ฉากทัศน์ (Scenario Analysis) ได้แก่
- สงครามจำกัดวง (Confined War) การสู้รบยังคงจำกัดอยู่ในฉนวนกาซา อิสราเอล และพรมแดนรอบๆ ไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น มีการจำกัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน
- สงครามตัวแทน (Proxy War) ความขัดแย้งลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เลบานอนและซีเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่าน ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน
- สงครามทางตรง (Direct War) ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับซึ่งนำโดยอิหร่าน และมีการจำกัดการส่งออกน้ำมันจากผู้ส่งออกหลักในตะวันออกกลาง
โดย SCB CIO มองว่ามีความเป็นไปได้ที่สงครามน่าจะอยู่ฉากทัศน์ที่ 1 ประมาณ 40% ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ทำให้ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk Premium) ด้านอัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับที่จัดการได้
ส่วนฉากทัศน์ที่ 2 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึง 40% เช่นกันที่อาจทำให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ตลาดน้ำมันโลกเกิดความกังวลแต่ไม่ถึงกับตื่นตระหนก (Concerned But Not Panic) และฉากทัศน์ที่ 3 มีโอกาสที่จะเกิดค่อนข้างน้อย ประมาณ 20% แต่เป็นฉากทัศน์ที่จะส่งผลรุนแรงต่อราคาน้ำมันโลกที่อาจพุ่งขึ้นรวดเร็วในระยะสั้น ประมาณ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเงินเฟ้อจากต้นทุน (Cost Push Inflation) ที่กระทบเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น
จับตา Fed ประชุม 1 พฤศจิกายนนี้ คาดหยุดขึ้นดอกเบี้ย
SCB CIO คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนในการประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยล่าสุดประธาน Fed สาขาต่างๆ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในระดับปัจจุบันสูงเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ดังนั้น SCB CIO จึงยังคงมุมมองว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 5.25-5.50% และเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3/2567 สู่ระดับ 4.50-4.75% ณ สิ้นปี 2567
ทั้งนี้ SCB CIO ยังแนะนำให้ลงทุนแบบระมัดระวัง เน้นสินทรัพย์คุณภาพ (Flight to Quality) ในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยยังสูงและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าสงครามครั้งนี้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม แต่ด้วยบทเรียนจากสงครามยมคิปปูร์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2516 ส่งผลกระทบต่อโลกการลงทุนเป็นวงกว้าง ทั้งตลาดน้ำมัน เศรษฐกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุนโลก มีผลรุนแรงทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรงในช่วง 6 เดือนหลังสงคราม โดยราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานเร่งตัวตามไปด้วย ในครั้งนั้นราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 4.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 15.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายใน 6 เดือน ส่งผลให้เศรษฐกิจ เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 12% ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar Index) มีการเร่งตัวขึ้น
แนะทยอยสะสมหุ้นสหรัฐฯ
ดังนั้นแนะนำให้จัดการความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ด้วยการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลากหลาย (Diversified Commodities) และระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ได้ปรับมุมมองให้ทยอยสะสม หรือ Slightly Positive หุ้นสหรัฐฯ จากเดิมแนะนำถือด้วยเหตุผลที่มูลค่า (Valuation) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ จากที่สัดส่วนตัวเลขคาดการณ์ราคาต่อกำไรต่อหุ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า (5 Year fwd P/E) ของตลาดหุ้น S&P 500 เคยสูงสุด 19.0 เท่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ตัวเลขนี้ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 17.25 เท่า ด้วยค่าความผันผวนเพียง -0.4 S.D.
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ Fed น่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนแล้ว ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นแค่ชะลอตัว (Soft Landing) เงินเฟ้อชะลอลง ทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มการปรับประมาณการผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ดีขึ้น
ด้านภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2566 ใน S&P 500 ล่าสุด (ข้อมูลถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2566) พบว่ามีการประกาศงบแล้ว 29% ของบริษัททั้งหมด โดย 78% ของบริษัทที่ประกาศแล้วออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ นำโดยกลุ่มเทคโนโลยี (IT) กลุ่มสุขภาพ (Health Care) และกลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer Staple) ขณะที่บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Mega Cap 10 ซึ่งมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่สุด 10 บริษัท ส่วนใหญ่ก็มีผลประกอบการไปในทิศทางที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้