วันนี้ (29 ตุลาคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ทั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ได้เริ่มทำงานและมีการเรียกประชุมหลายครั้ง ซึ่งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ได้ประชุมพูดคุยกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย และฝ่ายพรรคการเมือง
โดยได้ดำเนินการไปแล้วอย่างน้อย 2 เรื่อง คือได้ประชุมร่วมกับเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา โดยได้ตกลงกันว่าจะรับฟังเสียงความคิดเห็นผ่านแบบสอบถาม เพื่อให้ สว. ได้ออกความคิดเห็นว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน อย่างไร นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ซึ่งตกลงกันว่าจะทำแบบสอบถามในการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในส่วนการเมืองมีบทบาทสำคัญในการยกผ่านร่างฯ ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ต้องนำมาคิด เพราะอย่างน้อย สส. ทั้ง 500 คนก็เป็นตัวแทนประชาชนจากกลุ่มต่างๆ และ สว. ก็เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ มีอำนาจตัดสินใจว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นการได้รับรู้ความเข้าใจและความคิดทั้ง 700 กว่าคน จะทำให้เห็นว่าแนวทางที่รัฐธรรมนูญนั้นจะผ่านได้เป็นอย่างไร
ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ขณะนี้เหลือการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มนักศึกษาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และการรับฟังจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ยังเหลือพรรคการเมืองบางพรรคที่ยังไม่มาร่วมในที่ประชุม ตัวแทนกลุ่มทหาร ตำรวจ สมัชชาคนจน และพีมูฟ โดยจะมีการรับฟังประมาณวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งการรับฟังเสียงจากภาคประชาชนจะทำให้รู้ถึงแนวทาง และทำประชาธิปไตยให้เป็นไปตามหลักการที่เราต้องการมากที่สุด และดูว่าข้อจำกัดของแต่ละฝ่ายแต่ละแนวทางเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ดำเนินการแก้ไขรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าน่าจะได้ข้อสรุปประมาณช่วงสิ้นเดือนธันวาคม รวมไปถึงในช่วงไตรมาสแรกของปี จะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมย้ำว่าไตรมาสแรกของปีหน้าจะได้เห็นการทำประชามติ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลได้เสนอข้อเสนอมาแล้วหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า หากดูจากการเสนอญัตติเรื่องรัฐธรรมนูญในที่ประชุม จะเห็นได้ว่ามีการเสนอให้ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยไม่ยกเว้นหมวด 1 และ 2 ซึ่งแตกต่างจากหลักการของรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเสียงในสภาส่วนใหญ่เป็นเสียงของฝ่ายรัฐบาล จุดยืนคือห้ามแตะหมวด 1 และ 2 ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องทำให้เกิดความขัดแย้งกัน กลายเป็นการสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา พร้อมกับกล่าวย้ำว่า เรามุ่งหวังจะเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และมุ่งหวังให้ผ่าน ใช้ในการตัดสินใจเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น
ส่วนท้ายที่สุดแล้วจะเห็นด้วยหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า ท้ายที่สุดหลักการของประชาธิปไตยต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ในสังคม ถ้าอยากเห็นประชาธิปไตยจริงๆ ก็ไม่ควรยืนยันแต่ความคิดตน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเราจะได้เสนอรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ ในความเห็นเรา แต่ไม่สามารถผ่านนำมาใช้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจตรงนี้และเห็นว่าสังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่มีใครมีความเห็นที่ถูกต้องที่สุด
เพราะฉะนั้นการจะอยู่ร่วมกันต้องรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน ใช้จุดที่ดีที่สุด เมื่อสังคมพร้อมมากขึ้นก็ค่อยๆ พัฒนาไป เพราะฉะนั้นได้ประชาธิปไตยที่มากขึ้นมากกว่าปี 60 ที่ผ่านมา ผมว่าก็ดีมาก เมื่อมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผมว่าเสียงของประชาชนก็ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ซึ่งต้องดูหลักของความเป็นจริง มองเห็นพัฒนาการที่จะแก้ไขต่างๆ ประชาธิปไตยไม่เคยเกิดขึ้นทีเดียวตามใจปรารถนา ตนอยากให้เข้าใจตรงนี้และช่วยกันผ่านให้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะให้ทำให้เห็นว่าคนที่ต้องการจะเป็นผู้ขัดขวางประเทศไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งและไม่เกิดผลดีต่อสังคม