×

อะไรคือกฎ P&S ที่อาจทำให้เอฟเวอร์ตันถูกลงโทษรุนแรงปรับ 12 แต้ม

26.10.2023
  • LOADING...
Everton

HIGHLIGHTS

  • กฎทางการเงินดังกล่าวคือกฎการเงินของพรีเมียร์ลีกที่มีชื่อว่า Profitability and Sustainability หรือ P&S ที่ว่าด้วยเรื่องของการบริหารจัดการสถานะทางการเงินของสโมสรให้มั่นคงเพื่อจะได้อยู่อย่างยั่งยืน
  • บทลงโทษที่เอฟเวอร์ตันอาจเผชิญซึ่งรุนแรงถึงขั้นตัดแต้ม ซึ่งจำนวนแต้มที่ตัดได้สูงสุดคือ 12 แต้มด้วยกัน อันเป็นมาตรฐานในแบบเดียวกับที่หลายสโมสรในระดับฟุตบอลลีก (EFL ตั้งแต่แชมเปียนชิป, ลีกวัน และลีกทู) เผชิญมาก่อน

เอฟเวอร์ตันอยู่ในช่วงเวลาแห่งความสูญเสียหลังการจากไปของ บิลล์ เคนไรต์ ประธานสโมสรผู้เป็นที่รักของชาวเอฟเวอร์โตเนียนทุกคน แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะยังโหดร้ายกับพวกเขาต่อไป เมื่ออาจถูกพรีเมียร์ลีกลงโทษขั้นรุนแรงด้วยการตัดคะแนนถึง 12 แต้ม

 

นั่นหมายถึงจากที่มีอยู่ 7 แต้มจาก 9 นัดในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ก็จะกลายเป็น -5 ทันที

 

ความผิดของสโมสรจากเมอร์ซีย์ไซด์ เป็นเรื่องของการละเมิดกฎทางการเงินของพรีเมียร์ลีกที่เรียกว่า Profitability and Sustainability หรือ P&S

 

โดยที่เอฟเวอร์ตันจะเป็นสโมสรแห่งแรกที่โดนลงโทษรุนแรงในระดับนี้

 

แต่แน่นอนว่ามีคำถามอยู่ไม่น้อยสำหรับบทลงโทษที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยเฉพาะในขณะที่ทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยังไม่ถูกตัดสินลงโทษใดๆ ทั้งๆ ที่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำผิดถึง 115 กระทงในเรื่องของกฎการเงิน

 

บางทีเราอาจต้องมาดูรายละเอียดกันสักนิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และเรื่องนี้จะนำไปสู่อะไรต่อไป?

 

เรื่องราวของเอฟเวอร์ตันที่ปรากฏบนหน้าสื่อนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา – ไม่กี่วันหลังการจากไปของบิลล์ เคนไรต์ ประธานสโมสรผู้เป็นที่รักที่อยู่ดูแลทีมมาตั้งแต่ปี 1989 – โดยมีรายงานว่าพรีเมียร์ลีกเตรียมตัดสินคดีเกี่ยวกับการละเมิดกฎทางการเงิน

 

กฎทางการเงินดังกล่าวคือกฎการเงินของพรีเมียร์ลีกที่มีชื่อว่า Profitability and Sustainability หรือ P&S ที่ว่าด้วยเรื่องของการบริหารจัดการสถานะทางการเงินของสโมสรให้มั่นคงเพื่อจะได้อยู่อย่างยั่งยืน

 

หัวใจหลักของกฎดังกล่าวคือ “สโมสรได้รับอนุญาตให้มีตัวเลขขาดทุนได้สูงสุด 105 ล้านปอนด์ในช่วงระยะเวลา 3 ปี”

 

แล้วกรณีของเอฟเวอร์ตันเกิดอะไรขึ้น?

 

 

สิ่งที่สโมสรดังแห่งเมอร์ซีย์ไซด์ทำความผิด เป็นที่เข้าใจว่าเกิดจากการพยายามตกแต่งบัญชีเพื่อปกปิดตัวเลขการขาดทุน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสำหรับการกู้เงินมาเพื่อสร้างสนามแข่งแห่งใหม่ของทีมที่ย่านแบรมลีย์-มัวร์ ด็อก

 

โดยความผิดดังกล่าวนั้นไม่ได้นับมาถึงปัจจุบัน เพราะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นและจบลงภายในฤดูกาล 2021/22 เท่านั้น ก่อนที่พรีเมียร์ลีกจะมีการดำเนินคดีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

แต่ในภาพรวมแล้วเอฟเวอร์ตันขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วยตัวเลขรวมกันมหาศาลถึง 430 ล้านปอนด์ ในยุคของฟาฮัด โมชิริ เจ้าของสโมสรที่พยายามจะขายทีมออกไป

 

ในช่วงเวลาที่เริ่มมีการดำเนินคดีและสอบสวน เดิมพรีเมียร์ลีกไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาตายตัวเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการอิสระที่ได้รับมอบหมายในการสอบสวนเรื่องนี้

 

ขณะนั้นเริ่มมีการพูดถึงบทลงโทษที่เอฟเวอร์ตันอาจเผชิญซึ่งรุนแรงถึงขั้นตัดแต้ม ซึ่งจำนวนแต้มที่ตัดได้สูงสุดคือ 12 แต้มด้วยกัน อันเป็นมาตรฐานในแบบเดียวกับที่หลายสโมสรในระดับฟุตบอลลีก (EFL ตั้งแต่แชมเปียนชิป, ลีกวัน และลีกทู) เผชิญมาก่อน

 

สิ่งที่น่าคิดคือหากมีการลงโทษเอฟเวอร์ตันในช่วงเวลานั้นจริง ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาล 2022/23 นั่นหมายถึงพวกเขาจะตกชั้นอย่างแน่นอน

 

แต่การพิจารณาของคณะกรรมการยังไม่เสร็จสิ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่ความโกรธเคืองของหลายสโมสรว่าทำไมจึงไม่มีการตัดสินภายในฤดูกาลที่แล้ว เพราะมันมีผลต่อเรื่องของการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในพรีเมียร์ลีก ระหว่างการอยู่รอด-ตกชั้น มีมูลค่าที่แตกต่างกันมากมายมหาศาลหลายร้อยล้านปอนด์

 

พรีเมียร์ลีกจึงมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบใหม่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในเรื่องของกรอบระยะเวลาที่ทำการพิจารณาคดี

 

จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ว่าหากมีการกระทำผิดในเรื่องของกฎการเงินมาตรฐาน จะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและตัดสินทุกอย่างให้จบภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งรวมถึงขั้นตอนของการอุทธรณ์ด้วย

 

 

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทีมที่ทำผิดต้องชดใช้ความผิดที่ก่อภายในฤดูกาลนั้นๆ โดยที่พรีเมียร์ลีกจะแจ้งกับสโมสร และหารือร่วมกันถึงบทลงโทษที่เหมาะสมที่สุดหากพบว่ามีความผิดจริง แม้ว่าสุดท้ายแล้วการตัดสินจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการอิสระที่ได้รับมอบหมาย

 

เอฟเวอร์ตันจึงจะเป็นสโมสรสุดท้ายที่ตรวจสอบในระเบียบเก่า (เพราะกระบวนการเริ่มก่อนหน้าจะมีการปรับเปลี่ยนระเบียบการ) – หลังจากนี้ใครทำผิดเรื่องจะจบใน 12 สัปดาห์

 

แต่พวกเขาก็กำลังจะเป็นสโมสรแห่งแรกที่ถูกพรีเมียร์ลีกลงโทษสถานหนักจากการทำผิดกฎทางการเงิน ซึ่งเป็นความตั้งใจของพรีเมียร์ลีกด้วยที่จะใช้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีเกี่ยวกับการเงินต่อไป

 

เรื่องนี้ยังกระทบต่อข่าวการเทกโอเวอร์สโมสรของ 777 Partners กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกาที่เดินหน้าไปมากแล้วในการขอซื้อเอฟเวอร์ตันต่อจากเจ้าของปัจจุบันอย่างโมชิริ โดยอยู่ในกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติจากพรีเมียร์ลีก ซึ่งยังมีความกังวลว่าการเทกโอเวอร์อาจมีปัญหา

 

หากมีการลงโทษตัดแต้มจริง อาจหมายถึงการที่โมชิริจะต้องยอมลดราคาสโมสรลงไปอีก ขณะที่ 777 Partners มีแผนสำรองฉุกเฉินเอาไว้แล้วในกรณีตัดแต้ม ถูกแบนห้ามซื้อขาย หรือหนักข้อที่สุดหากถูกตัดสินลงโทษปรับตกชั้น – ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น

 

 

ณ จุดนี้จึงถือเป็นจุดตกต่ำที่สุดของเอฟเวอร์ตันในรอบหลายทศวรรษ

 

คำถามที่หลายคนสงสัยต่อมาคือ แล้วแบบนี้กรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ที่เจอไป 115 ข้อหา ทำไมยังไม่มีการตัดสิน?

 

เรื่องนี้แม้จะมีการปรับเปลี่ยนระเบียบเพื่อเร่งกระบวนการทุกอย่าง แต่กรณีของแมนฯ ซิตี้ถือเป็นกรณีพิเศษของพรีเมียร์ลีก เพราะมีจำนวนข้อหาถึง 115 ข้อหาจากการกระทำผิดต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2009

 

นั่นทำให้เรื่องยังคงอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการอิสระ

 

สิ่งที่น่าคิดคือหากเอฟเวอร์ตันที่ทำผิดแค่เรื่องเดียวในการตกแต่งตัวเลขบัญชีและการขาดทุนเกินกว่าที่กฎ P&S อนุญาต

 

แล้ว 115 ข้อหาของแมนฯ ซิตี้ หากพบว่ามีความผิดจริง บทลงโทษของพวกเขาจะเป็นอย่างไร?

 

เป็นการบ้านที่ชวนคิดอยู่ไม่น้อย

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising