×

ผลประเมิน ‘ITA’ ด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ผลลัพธ์สุดท้ายไร้คอร์รัปชันภาครัฐจริงหรือ?

25.10.2023
  • LOADING...
ป.ป.ช.

ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่ามีหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศเข้าร่วมประเมินถึง 8,323 หน่วยงาน 

 

โดยเป็นการเก็บข้อมูลตัวอย่าง 1 ล้านกว่าคน แบ่งเป็นบุคลากรหน่วยงานรัฐ 420,000 คน ใช้เครื่องมือแบบวัด IIT ประเมิน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้อำนาจ การใช้ทรัพย์สินของราชการ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต

 

จากการประมวลผลของหน่วยงานที่ได้รับการประเมินออกมาเป็นคะแนน ในปีนี้มีหน่วยงานที่ได้คะแนนการประเมิน ITA สูงกว่า 95 คะแนน ถึง 674 หน่วยงาน เช่น

 

  • กรมการปกครอง ได้คะแนนสูงสุดถึง 99.03 คะแนน 
  • กลุ่มรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) 99.35 คะแนน 
  • กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ เทศบาลตำบลตะกุด อ.เมืองสระบุรี จ.สระบุรี ได้สูงถึง 99.81 คะแนน 

 

ทั้งนี้ ในแง่ภาพรวมของระดับประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2.62 คะแนน ส่วนคะแนนสูงกว่า 85 คะแนน 2,550 หน่วยงาน และคะแนน 85 คะแนนผ่านบางเครื่องมือ 3,513 หน่วยงาน ฉะนั้นถ้าพิจารณาสัดส่วนหน่วยงานรัฐที่ได้ 35 คะแนนผ่านขึ้นไป 6,737 หน่วยงาน คิดเป็น 80.949 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 10.42% 

 

นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงแผนงานในปีงบประมาณ 2567 เกี่ยวกับการประเมิน ITA ว่า แม้ปีนี้จะยังไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2566-2570 เกี่ยวกับประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ตั้งเป้าหมายกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องมีผลวัดค่าที่ 85 คะแนน ระดับผ่านขึ้นไปไม่น้อยกว่า 100% 

 

แต่การวัดผลและประเมินค่า ITA ก็เป็นเสมือนการเปิดโอกาสให้ประชาชนและบุคลากรที่ปฏิบัติงานได้ร่วมกันสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของความไม่เป็นธรรมและความด้อยประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ผ่านระบบการวัดค่า ITA ที่จะเป็นตัวผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนและช่วยให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องตื่นตัวและตอบสนองการบริการแก่ประชาชนได้ตรงจุดและโปร่งใส ปราศจากพฤติการณ์การทุจริต

 

THE STANDARD พาย้อนไปดูการประเมิน ITA ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 พบว่าผลการประเมินคะแนน ITA ในภาพรวมจากหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ 8,303 แห่ง จำนวนผู้ประเมิน 1,300,132 คน มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 87.57 คะแนน โดยมากกว่าปีงบประมาณ 2564 เพียง 6.32 คะแนน

 

สำหรับผลการประเมิน ITA รายหน่วยงาน คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่ม ดังนี้

 

  1. กลุ่มหน่วยงานประเภทสำนักงานศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานในสังกัดรัฐสภา และองค์กรอัยการ ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
  2. ระดับกรม ได้แก่ กรมการปกครอง
  3. รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
  4. องค์การมหาชน ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  5. สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
  6. หน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ สำนักงาน กสทช.
  7. จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง
  8. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้แก่ อบจ.ยโสธร
  9. เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลจังหาร จ.ร้อยเอ็ด
  10. องค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ อบต.บ้านพลับ จ.พระนครศรีอยุธยา และ อบต.โคกสะอาด จ.สระบุรี

 

การประเมิน ITA เป็นการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเก็บข้อมูลตัวอย่าง 1 ล้านกว่าคน แบ่งเป็นบุคลากรหน่วยงานรัฐ 420,000 แสนคน ใช้เครื่องมือแบบวัด IIT ประเมิน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ 

 

  1. การปฏิบัติหน้าที่
  2. การใช้งบประมาณ 
  3. การใช้อำนาจ 
  4. การใช้ทรัพย์สินของราชการ 
  5. การแก้ไขปัญหาการทุจริต 

 

ซึ่งจะคิดคะแนนเป็น 30 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องยืนยันตัวตนผ่าน OTP ระบุ Code ของหน่วยงานให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันการนำบัตรประชาชนมาแอบอ้างในการลงคะแนนดังกล่าว 

 

จากนั้นขั้นตอนถัดมาจะเป็นการเก็บตัวอย่างประชาชนที่เข้ามาใช้บริการจากหน่วยงานของรัฐอีก 530,000 คน ด้วยเครื่องมือวัด EIT แบ่งเป็นอีก 3 ตัวชี้วัด ได้แก่

 

  1. คุณภาพการดำเนินงาน 
  2. ประสิทธิภาพการสื่อสาร 
  3. การปรับปรุงระบบการทำงาน 

 

ก่อนที่สุดท้ายจะเป็นการประเมินจากการเปิดเผยข้อมูลภายในแบบ OIT ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และข้อมูลโครงสร้างจากองค์กรจากขั้นตอนทั้งหมด จึงจะประมวลผลของหน่วยงานที่ได้รับการประเมินออกมาเป็นคะแนนในปีนี้

 

แม้ว่า ป.ป.ช. จะมีการวัดผล ITA และผลลัพธ์ออกมาจากตัวเลขที่เห็น ในทางคณิตศาสตร์ สถิติ และการวัดผล อาจบอกได้ว่าหน่วยงานเหล่านั้นอยู่ในเกณฑ์ประเมินที่สูง และแน่นอนว่าสังคมย่อมคาดหวังให้หน่วยงานและองค์กรภาครัฐมีการทำงานที่เป็นไปอย่าง ‘มีคุณธรรมและโปร่งใส’ อันเป็นมาตรฐานที่ควรจะเป็น และคุ้มค่ากับงบประมาณของหน่วยงานอันมาจากภาษีประชาชน

 

ทว่าในความเป็นจริง หากเราติดตามข่าวสารจากสื่อทั่วไป การจับกุมผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐบางแห่งที่รับสินบนยังคงมีให้เห็นและเกิดขึ้นตลอดรายวัน รวมถึงการทุจริตหากินกับงบประมาณภาครัฐ มีคดีความขึ้นสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช. อย่างต่อเนื่อง และจำนวนไม่น้อยมาจากบางหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชน

 

ท้ายที่สุดแม้ว่าผลคะแนนจากการประเมินที่ ป.ป.ช. ได้ทำจัดทำขึ้นมาจะเป็นตัวเลขคณิตศาสตร์ที่ยืนยันผลการดำเนินงานที่มีคุณธรรมและโปร่งใส แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าในนั้นจะปราศจากปลาเน่าที่ทำให้องค์กรต้องเสียหายทั้งในเชิงภาพลักษณ์และศรัทธาจากประชาชน เห็นได้จากข่าวสารการจับกุมคนในองค์กรภาครัฐ

 

อย่างไรก็ตาม การขจัดคอร์รัปชัน และการทำให้กลไกภาคปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดรูปธรรมเช่นเดียวกับผลลัพธ์ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข จึงเป็นความท้าทายทั้งของ ป.ป.ช. คนในหน่วยงาน และภาคประชาสังคมที่ต้องช่วยกันจับตา และปิดช่องโหว่ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X