กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เตรียมออกมาตรการรวมหนี้ เพื่อช่วยประชาชนปรับโครงสร้างหนี้และแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 90.7% ต่อ GDP โดยในเบื้องต้นอาจให้ธนาคารออมสินเป็นผู้รวมหนี้และทำ Pilot Project
กฤษฎากล่าวต่อว่า ตนได้ให้นโยบายกับทางธนาคารของรัฐไป เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่ว่าจะส่วนหนี้เสียหรือหนี้ดี โดยในส่วนหนี้ดีควรจะต้องลดดอกเบี้ยให้ เพื่อให้สามารถผ่อนเท่าเดิม และลดต้นได้มากขึ้น
ในส่วนของหนี้เสีย แม้แต่ละสถาบันการเงินได้มีการสำรองไว้แล้ว แต่ก็ควรเร่งดำเนินการแก้ไข โดยตนคาดหวังว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเอาหนี้มารวมไว้ที่สถาบันการเงินใดสถาบันหนึ่ง โดยออมสินอาจรับเป็นเจ้าภาพ
“มาตรการนี้อาจเป็นลักษณะว่าเอาหนี้มารวมกันไว้ที่ออมสิน ให้ออมสินเป็นคนดำเนินการให้ โดยการดำเนินการลักษณะนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลกำไรหรือขาดทุน (Gain / Loss) ของแบงก์ โดยจากที่คุยกันเบื้องต้น อยากให้ทางออมสินไปทำ Pilot Project”
ขณะที่ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ออมสินน้อมรับนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
พร้อมระบุว่า การตั้ง AMC มีประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินของรัฐมีข้อจำกัดในการปรับโครงสร้างหนี้และการขายหนี้ ขณะที่ลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้
ดังนั้นหนี้ส่วนนี้ที่เป็นหนี้เสียจะค้างอยู่ในระบบของธนาคาร เพื่อต้องรายงานต่อบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร และเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลไว้อีก 5 ปี ลูกหนี้รายย่อยจึงจะมีการบันทึกว่ามีเครดิตไม่ดีนานถึง 8 ปี
ฉะนั้นหากสามารถตั้ง AMC ได้ ก็จะสามารถโอนหนี้ส่วนนี้ไปยัง AMC ซึ่งออมสินเป็นเจ้าของเองได้ จะทำให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้คล่องตัวมากขึ้นและลูกหนี้รายย่อยจะหลุดจากการมีเครดิตไม่ดีได้เร็วขึ้น โดยการตั้ง AMC ในครั้งนี้จะเริ่มด้วยหนี้ของออมสินก่อน หลังจากนั้นจะขยายไปที่แบงก์รัฐอื่น