ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 คงมีน้อยคนนักที่คิดว่า ไทบ้านเดอะซีรีส์ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ทุนต่ำที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีพื้นหลังคละเคล้าไปด้วยกลิ่นอายของคนอีสาน จะสามารถเดินทางมาได้ไกลถึงวันที่จักรวาลของพวกเขาเติบโต และเป็นที่พูดในวงกว้างมากกว่าที่จะจำกัดกรอบอยู่แค่คนอีสานหรือคนที่เป็นแฟนคลับอีกต่อไป
ถึงแม้ในปัจจุบันจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์จะประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากคนนอกพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ความยากลำบากของการเป็นภาพยนตร์ไทยนอกกระแสก็เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ คือ การที่มันไม่มีโรงฉาย ซึ่งไทบ้านเดอะซีรีส์ในเวลานั้นก็ได้ฉายอยู่เพียงแค่ที่ภาคอีสาน
ก่อนที่ในเวลาต่อมาภายนตร์จะได้รับการพูดถึงจากคนดูจนเกิดเป็นกระแสปากต่อปาก ทำให้โรงภาพยนตร์เจ้าใหญ่หันหน้ามามองผลงานของพวกเขาอย่างจริงจัง จนต้องยอมเปิดรอบเปิดโรงให้กับภาพยนตร์เล็กๆ เรื่องนี้ได้เข้ามายังเขตกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อทำความรู้จักกับคนดูที่อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นครั้งแรก
จากภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่มีทุนสร้างเพียงแค่ 2 ล้านบาท และผู้สร้างก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องประสบความสำเร็จอะไรมากมาย แต่กลับกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่มาแรงที่สุดในปีนั้น ด้วยการกวาดรายได้ตลอดการเข้าฉายถึง 37.5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุน
ด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนั้นเอง ทำให้ทีมงานและนักแสดงทุกคนได้รับโอกาสในการสานต่อเรื่องราวของพวกเขาจนมาถึงวันที่ สัปเหร่อ ภาพยนตร์ลำดับที่ 6 ของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้
และคงจะไม่ใช่การยากหากมองว่า ส่วนสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจเป็นอันดับแรกคือ การที่ภาพยนตร์ทำเงินได้ทะลุหลักร้อยล้าน โดยที่ไม่ได้มีการใช้สื่อโฆษณาในการโปรโมตอย่างเป็นจริงเป็นจังกับคนดูที่อยู่นอกกลุ่มเป้าหมายเลย ซึ่งถือว่าน่าทึ่งมากที่กระแสปากต่อปากของคนดูทั้งในและนอกพื้นที่กลับมาสู่ภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง และนั่นคงทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จที่สุดในรอบปีอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ถึงอย่างนั้น หากเราย้อนกลับไปดูเส้นทางความสำเร็จของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ก็จะพบว่า มันไม่ได้มาจากความซับซ้อนใดๆ เลย แต่มาจากปัจจัยใหญ่ๆ เพียงไม่กี่ข้อที่คนดูภาพยนตร์ไทยทั่วไปอาจไม่ได้พบเห็นตามภาพยนตร์สตูดิโอใหญ่เท่านั้นเอง
พลังอีสานที่เป็นมากกว่าการนำเสนอเรื่องของคนอีสาน
อย่างที่รู้กันว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์คือคนอีสาน แต่สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เหล่านี้ประสบความสำเร็จไม่ได้มาจากการที่มันพูดถึงความเป็นคนอีสาน วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำ หรือการเป็นคนชายขอบ เพียงอย่างเดียว
หากไล่เลียงกันตั้งแต่ ไทบ้านเดอะซีรีส์ มาจนถึง สัปเหร่อ ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มักใส่รายละเอียดบางอย่างที่สะท้อนถึงแง่มุมของมนุษย์ผ่านวิธีการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน ลากยาวไปจนถึงการทำให้คนดูรู้สึกดราม่าเคล้าน้ำตาไปตามสถานการณ์ของตัวละครได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ที่สำคัญต่อให้เนื้อหาจะอยู่ในโทนจริงจัง แต่คนดูก็ไม่จำเป็นต้องตีความหรือถอดสมการมากมายเพื่อทำความเข้าใจกับมัน เพราะสิ่งที่จักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์นำเสนอไม่ใช่เรื่องของคนอีสานในอดีตที่เดินใส่โสร่งตามท้องถนน แต่เป็นคนอีสานในยุคปัจจุบันที่มีเลือดเนื้อไม่ต่างอะไรกับเหล่าบรรดาคนดูที่กำลังรับชมเรื่องราวของพวกเขา
กล่าวคือภาพยนตร์ในจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงแค่ประเด็นของคนพื้นถิ่น แต่พูดถึงบางอย่างที่ใกล้ตัวกับทุกคนมากๆ ในแง่หนึ่ง เช่น ไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่พูดถึงความเหงาและความรัก หรือจะเป็น เซียนหรั่ง ที่พูดถึงความสุขและความทุกข์ภายใต้กลิ่นอายบรรยากาศของมิตรภาพ ส่วน สัปเหร่อ ก็ตรงตามชื่อของเรื่องนั่นคือการพูดถึงความตาย
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์จากจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์สามารถทำงานกับคนดูที่อยู่นอกกลุ่มเป้าหมายได้ โดยที่คนคนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนอีสานหรือมีพื้นเพรากเหง้าเข้าใจความเป็นอีสานแต่อย่างใด ถึงกระนั้น มิติสำคัญของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ในมุมของคนนอกอาจไม่ได้มีแค่การที่มันพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน แต่เป็นการพาคนดูเหล่านั้นออกไปสำรวจขอบเขตที่ตัวเองไม่เคยไปถึงหรือไม่เคยคลุกคลีมาก่อน
ขณะเดียวกันการทำส่วนเนื้อหาที่ซีเรียสให้อยู่ในห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ก็เป็นสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมและสะท้อนถึงความขมขื่นในชีวิตจริงของใครหลายคนได้ไม่น้อย ที่พอดูจบแล้วก็อาจจะซึ้งจนหัวเราะร่า หรือเจ็บปวดชวนกระอักกระอ่วนไปตามชะตากรรมของตัวละครน้อยใหญ่ในจักรวาลนี้
จริงใจกับเรื่องเล่าของตัวเอง และบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องมีดารา
ภาพยนตร์ในจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์มักเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำที่เรียบง่าย ปราศจากชั้นเชิงทางศิลปะเหมือนภาพยนตร์ไทยตามสตูดิโอทั่วไป บ่อยครั้งเราจึงเห็นได้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้ไม่ได้มีองค์ประกอบที่สวยงามอะไรเลย แต่เป็นการจับจ้องชีวิตของคนหรือกลุ่มคนนั้นๆ ที่คนทำอยากจะเล่า ในบางบริบทมันจึงกลายเป็นเหมือนการพาคนดูเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาได้อย่างแนบเนียน จนไม่รู้สึกว่าภาพยนตร์มีการปรุงแต่งใดๆ แม้มันจะมีก็ตาม
สาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์ที่มาจากจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ทำแบบนั้นได้อาจมาจากสิ่งที่เข้าใจง่ายแต่ทำได้ยากเกือบทุกครั้งคือ การที่คนทำเข้าใจว่าตัวเองกำลังจะเล่าเรื่องอะไรโดยที่ไม่ถูกสตูดิโอแทรกแซง จนทำให้เรื่องราวเหล่านั้นต้องบิดเบี้ยวไปจากเดิม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาทั้งในฐานะคนทำและคนให้ทุนมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ในฐานะคนอีสาน การนำเสนออะไรที่ตัวเองมองเห็นอยู่แล้วในชีวิตประจำวันจึงทำให้เข้าใจถึงโทนเรื่องและจังหวะของภาพยนตร์ได้ โดยที่ไม่ต้องพยายามปั้นแต่งให้มันดูแมสเหมือนกับภาพยนตร์ที่มาจากสตูดิโอ
เพราะฉะนั้นปัจจัยภายนอกที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับตัวงานจึงเกิดขึ้นน้อย หรือต่อให้เกิดขึ้นก็ไม่ถึงขั้นพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเหมือนกับภาพยนตร์ที่ขอทุนมาจากสตูดิโอหรือกระทรวงต่างๆ ด้วยเหตุนี้บทภาพยนตร์ที่ออกมาจึงเต็มไปด้วยความจริงใจของผู้สร้าง ที่พร้อมจะส่งต่อความจริงใจนั้นให้กับคนดูที่กำลังรับชมงานของพวกเขา
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ ภาพยนตร์ทุกเรื่องในจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ไม่เคยมีนักแสดงเบอร์ใหญ่เอาไว้ดึงดูดให้คนเข้ามาดูภาพยนตร์ของพวกเขาเลยแม้แต่คนเดียว อาจจะยกเว้นตอนที่ทำ ไทบ้าน × BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ เพราะอย่างน้อยๆ กลุ่มคนเหล่านั้นก็มีฐานแฟนคลับเป็นของตัวเองจริงๆ และน่าจะดึงดูดคนดูบางส่วนให้เข้ามาสำรวจจักรวาลของพวกเขาด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่มากเท่ากับดาราที่เราเห็นอยู่บนจอเงินหรือจอแก้ว
อย่างไรก็ดี การจะบอกว่านักแสดงจากจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ไม่ได้ดึงดูดคนดูเลยก็คงเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ เพียงแต่พลังทางโซเชียลมีเดียของพวกเขาไม่ได้เหมือนดารานักแสดงอย่างที่เราเห็นกันจนชินตา แต่เป็นพลังในฐานะของคนอีสานที่ดึงดูดคนอีสานด้วยกันเอง ซึ่งแต่เดิมก็เป็นกลุ่มคนดูหลักของจักรวาลนี้มาโดยตลอด ฉะนั้นการจะเปรียบเปรยพวกเขาว่าเป็นดาราเบอร์ใหญ่ในภาคอีสานก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสียทีเดียว
อีกทั้งการทำภาพยนตร์แบบจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ก็เป็นเหมือนการแหกขนบที่ควรศึกษาว่า เหตุใดการทำภาพยนตร์อย่างจริงใจโดยที่ไม่พึ่งพาบารมีของดาราดังเป็นตัวชูโรง จึงประสบความสำเร็จมากกว่าภาพยนตร์ที่คนทำหรือคนออกทุนยังคงมีความเชื่อแบบนั้นอยู่
การตลาดที่ชัดเจนระหว่างคนทำกับคนดู
สิ่งแรกที่ควรมองเกี่ยวกับความสำเร็จของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ไม่ใช่เนื้อหาที่ตลก คมคาย หรือนัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาค แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับคนทำภาพยนตร์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหากภาพยนตร์เรื่องไหนไม่ได้รับการพูดถึง ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็คงเปรียบเสมือนคนที่ตายไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่คนดูพูดถึงภาพยนตร์ไม่ว่าจะด้านดีหรือร้าย มันย่อมส่งผลถึงตัวภาพยนตร์ไม่มากก็น้อย
เช่นเดียวกับกรณีของ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่เป็นจุดเริ่มต้น และ สัปเหร่อ ที่เป็นผลงานเรื่องล่าสุดภายใต้ชื่อแฟรนไชส์นี้ ซึ่งในปัจจุบันกำลังเดินหน้าทำเงินอย่างไม่ลดละ และดูเหมือนว่าน่าจะแตะหลัก 400 ล้านบาทได้อย่างไม่ยากเย็นนัก กระนั้นเมื่อมองถึงความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนสำคัญที่ทำให้รากฐานของภาพยนตร์ที่มาจากจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์เรื่องนี้แข็งแรงก็คือ คนอีสานซึ่งเป็นกลุ่มคนดูที่ภาพยนตร์ตั้งใจทำการตลาดมาตั้งแต่ภาคแรก
และดูเหมือนว่ากระแสที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนดูหน้าใหม่ในวันนี้เองต่างก็มีต้นตอมาจากรากฐานนี้เช่นเดียวกัน เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาไม่ได้ทำภาพยนตร์มาเพื่อขยับขยายจักรวาลของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เลือกใช้เครื่องมืออย่างมิวสิกวิดีโอในการทำงานกับกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย และมันก็ได้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างคนทำกับคนดูจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้
ฉะนั้นความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ลามมาจนถึง สัปเหร่อ ในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ ‘ฟลุก’ แต่เกิดจากการสะสมความเชื่อมั่นของกันและกันจนมันสุกงอมได้ที่ พร้อมออกดอกออกผลมาสู่คนภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนดูที่พวกเขาหมายมั่นเอาไว้ จนเกิดเป็นกระแสป่าล้อมเมืองที่ทำให้ภาพยนตร์เดินทางมาถึงจุดนี้
ดั่งคำกล่าวที่ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด ความสำเร็จของ สัปเหร่อ รวมไปถึง ไทบ้านเดอะซีรีส์ ก็ไม่ได้สร้างเสร็จกันชั่วข้ามคืนฉันนั้น
สิ่งที่ควรระวังในวันที่ถูกจับจ้องคือ ‘การรักษาตัวตน’
พอพูดถึงความสำเร็จ สิ่งที่หลายคนแอบมีความกังวลคือ ตัวตนของพวกเขาจะเปลี่ยนไปไหม แน่นอนว่าคำตอบนั้นคงไม่มีใครบอกได้ ณ เวลานี้มันจึงเป็นเพียงแค่การคาดเดาเท่านั้น เพราะก็มีภาพยนตร์บางเรื่องที่พอไม่ได้รับการจับจ้องเป็นจำนวนมาก ก็สามารถเล่าเรื่องในแบบที่ตัวเองต้องการได้ แต่พอเป็นที่พูดถึงกลับกลายเป็นว่า หลังจากประสบสำเร็จ ‘ตัวตน’ ของคนทำที่เคยอยู่ในภาพยนตร์ค่อยๆ ถูกทำให้หายไป จนในที่สุดมันก็เป็นภาพยนตร์ไทยธรรมดาที่ปราศจากเสน่ห์สำคัญของตัวเอง
ถึงจะเป็นแค่การคาดเดา แต่จักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์อาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นดราม่า คำวิจารณ์ นายทุน หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาไม่เคยรับมืออย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อน เพราะฉะนั้นการรักษาตัวตนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะกับภาพยนตร์ที่ยึดเอาพื้นที่และวัฒนธรรมมาเป็นหัวใจหลักในการเล่าเรื่องของตัวเอง
แต่ก่อนจะปิดท้ายบทความ สิ่งที่ผู้เขียนอยากชวนถกไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ ไทบ้านเดอะซีรีส์ หรือ สัปเหร่อ แต่เป็นความหลากหลายของภาพยนตร์ไทยในปีนี้ที่ทำให้ระบบนิเวศของการดูภาพยนตร์ รวมไปถึงโรงภาพยนตร์ กลับมาครึกครื้นตื่นตัวกันอีกครั้ง
ถึงแม้บางคนจะมองว่าภาพยนตร์บางเรื่องไม่ได้ควรค่าแก่การเสียเงิน เสียเวลา แต่ก็ดีกว่าไม่ใช่หรือหากเราจะมีตัวเลือกในการรับชมมากกว่าที่จะมีแต่ภาพยนตร์แนวเดิมๆ อย่างที่เคยปรามาสกันเอาไว้
ภาพ: ThiBaanTheSeries / Facebook