หลังจากที่วาระการดำรงตำแหน่งกษัตริย์ของสุลต่านอับดุลเลาะห์ รีอายาตุดดีน แห่งปะหังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มกราคม 2024 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เราจะได้เห็นการเลือกกษัตริย์องค์ใหม่ของมาเลเซียโดยสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ เป็นที่คาดกันว่าสุลต่านอิบราฮิม อิสมาอิล อิบนี อัลมาห์รุม สุลต่าน อิสกันดาร์ แห่งยะโฮร์ ผู้ที่อยู่ในลำดับต่อไปของสุลต่านที่จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งสหพันธรัฐองค์ที่ 17
สำหรับสุลต่านอิบราฮิม พระองค์ทรงเป็นสุลต่านองค์ที่ 5 ของยะโฮร์ในยุคสมัยใหม่ (Modern Johor)* และเป็นสุลต่านองค์ที่ 25 แห่งรัฐยะโฮร์ ทรงขึ้นเป็นสุลต่านในปี 2010 หากแต่พิธีราชาภิเษกถูกจัดขึ้นหลังจากนั้นถึง 5 ปี สุลต่านอิบราฮิมทรงเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับกองทัพในหลายด้าน รวมถึงทรงเคยเข้าร่วมฝึกกับ 3 เหล่าทัพ
นอกจากความสนพระทัยในด้านการทหารแล้ว พระองค์ได้เข้าศึกษาที่ Fletcher School of Law and Diplomacy ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาใน 2 สาขาวิชา คือ การศึกษาด้านยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asian Strategic Studies) และด้านกฎหมายระหว่างประเทศทางทะเล (The International Laws of the Seas) เมื่อขึ้นเป็นสุลต่านแห่งยะโฮร์ คำประกาศสำคัญของพระองค์ที่รู้จักกันดีคือ Bangsa Johor ที่มุ่งสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในยะโฮร์
ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์แห่งรัฐ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในปี 2022 เมื่อทรงเป็นประธานในการเปิดประชุมครั้งแรกของการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ครั้งที่ 15 โดยทรงขอให้รัฐบาลสหพันธรัฐทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในยะโฮร์ให้ดีกว่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นทรงเน้นย้ำให้เห็นว่ายะโฮร์เป็นรัฐสำคัญที่สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับมาเลเซียเป็นอย่างมาก ทั้งยังจ่ายภาษีเป็นจำนวนมากถึง 13 พันล้านริงกิต แต่งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กับยะโฮร์นั้นกลับสวนทางกัน ซึ่งตอกย้ำให้ยะโฮร์รู้สึกประหนึ่งเด็กที่ถูกนำเก็บมาเลี้ยง
อย่างไรก็ดี สุลต่านอิบราฮิมเคยปฏิเสธการทาบทามขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี 2016 โดยให้เหตุผลว่า ทรงต้องการให้ความสำคัญกับการจัดการภายในรัฐและสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนชาวยะโฮร์ ที่สำคัญกว่านั้นพระองค์ต้องการให้ยึดติดกับระบบหมุนเวียนในการขึ้นเป็นกษัตริย์ตามที่สภาเจ้าผู้ปกครองรัฐได้เป็นผู้วางแนวทางเอาไว้*
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจเกิดคำถามว่า การขึ้นเป็นกษัตริย์ของมาเลเซียนั้นไม่ใช่การสืบสันตติวงศ์อย่างที่กระทำกันในหลายประเทศหรืออย่างไร ดังนั้นก่อนที่จะมีการเลือกกษัตริย์องค์ใหม่ คงเป็นการดีหากเราท่านทั้งหลายจะทราบถึงวิธีการและกระบวนการเลือกกษัตริย์ของมาเลเซีย ซึ่งที่มาของกษัตริย์มาเลเซียนับว่ามีความเฉพาะตัวและปรากฏเพียงชาติเดียวในโลก
โดยทั่วไปแล้วเรามักจะอธิบายการขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์มาเลเซียว่า มาจากเป็นการใช้ระบบหมุนเวียนระหว่างเจ้าผู้ปกครองรัฐหรือสุลต่าน ซึ่งมีการจัดเรียงลำดับหรือกำหนดเอาไว้แล้วก็ตาม หากคงเป็นการดีกว่านั้นถ้าเราเข้าใจถึงข้อกำหนดและที่มาของกษัตริย์ให้มากขึ้นกว่าเดิม
ที่มาและกระบวนการเลือกตั้งกษัตริย์
สำหรับชื่อเรียกกษัตริย์ของมาเลเซียตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญคือ ยังดี เปอร์ตวน อากง หากแปลตามความหมายก็จะหมายถึงบุคคลผู้เป็นหัวหน้าหรือผู้นำสูงสุดของผู้นำทั้งปวง หรือที่มาเลเซียเรียกว่าสุลต่านแห่งสุลต่านทั้งมวล เพราะกษัตริย์จะมาจากการเลือกและผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนระหว่างสุลต่านใน 9 รัฐ ได้แก่ ยะโฮร์, ตรังกานู, ปะหัง, สลังงอร์, เกดะห์, กลันตัน, เนเกอรีเซมบิลัน, เปรัก และปะลิส จึงทำให้ตำแหน่งยังดี เปอร์ตวน อากง ไม่ได้มาจากการสืบทอดราชบัลลังก์ และกษัตริย์ก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตลอดพระชนมชีพ
ทั้งนี้ ตำแหน่งกษัตริย์เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประเทศได้รับเอกราชในปี 1957 อีกทั้ง การที่มาเลเซียมาจากการรวมเอารัฐต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน กษัตริย์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งวัตถุประสงค์นี้ก็เกี่ยวข้องกับที่มาของกษัตริย์และระยะเวลาการครองราชย์ที่ถูกกำหนดไว้ตายตัวคือ 5 ปี
ด้านกระบวนการเลือกตั้งกษัตริย์นั้น ผู้มีสิทธิลงคะแนนจะมีเพียงเจ้าผู้ปกครองรัฐ (หรือที่มักเรียกกันว่าสุลต่าน) จากรัฐมลายู 9 พระองค์ที่เป็นสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐเท่านั้นที่ได้เข้าร่วม* โดยไม่นับรวมถึงยังดี เปอร์ตวน เนเกอรี (หรือที่เรียกว่าผู้ว่าการรัฐ) ในปีนัง, มะละกา, ซาบาห์ และซาราวัก*
หากในวันเลือกตั้ง เจ้าผู้ปกครองรัฐไม่อาจเข้าร่วมในการลงคะแนนได้ สามารถมอบอำนาจให้เจ้าผู้ปกครองรัฐคนอื่นลงคะแนนแทนได้ ในช่วงก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง ผู้รักษาพระราชลัญจกร* จะต้องสอบถามไปยังเจ้าผู้ปกครองรัฐแต่ละคนว่ายินยอมให้เสนอชื่อเป็นผู้มีสิทธิรับคัดเลือกเป็นกษัตริย์หรือไม่
เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลาในการเลือกตั้งประมาณ 1 ชั่วโมง* และเป็นการลงคะแนนที่ไม่ซับซ้อน ทั้งนี้ สุลต่านทั้ง 9 พระองค์จะได้รับบัตรออกเสียงลงคะแนนคนละ 1 ใบ ในบัตรเลือกตั้งจะมีชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกษัตริย์ ซึ่งเจ้าผู้ปกครองรัฐจะต้องระบุว่าผู้สมัครนั้นเหมาะสมกับตำแหน่งกษัตริย์หรือไม่ บัตรที่ใช้ลงคะแนนจะไม่ระบุหมายเลขและจะใช้ปากกาและหมึกเดียวกันทั้งหมด เมื่อลงคะแนนแล้วบัตรเลือกตั้งจะถูกหย่อนลงในหีบ
สำหรับการนับคะแนน สุลต่านหรือเจ้าผู้ปกครองรัฐที่มีระยะเวลาในการขึ้นเป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐน้อยที่สุด และไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกษัตริย์หรือรองพระราชาธิบดี จะเป็นผู้นับคะแนนร่วมกับผู้รักษาพระราชลัญจกร ผู้ที่จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์จะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากคือ 5 คะแนนขึ้นไป หากผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกษัตริย์ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งหรือได้คะแนนน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด กระบวนการเลือกตั้งจะต้องเริ่มต้นใหม่ โดยเสนอชื่อเจ้าผู้ปกครองรัฐที่อยู่ในลำดับที่ 2 ของบัญชีรายชื่อขึ้นมาเป็นผู้มีสิทธิได้รับคัดเลือก
ทั้งนี้ กระบวนการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นต่อเมื่อผู้ที่ได้รับเลือกตั้งยอมรับที่จะดำรงตำแหน่งกษัตริย์ หลังจากนั้นสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐจะประกาศชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประมุขแห่งสหพันธรัฐ และผลการเลือกตั้งจะถูกนำส่งต่อให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศให้ประชาชนทราบ ก่อนที่กลุ่มเจ้าผู้ปกครองรัฐจะแยกย้ายกัน กระดาษที่ใช้ลงคะแนนเลือกตั้งจะถูกเผาทำลายต่อหน้าเจ้าผู้ปกครองรัฐที่เข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้ง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วระบบการหมุนเวียนขึ้นเป็นกษัตริย์จะนำมาใช้ตอนไหน และใช้อย่างไร
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งกษัตริย์ก็คือ บัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งกษัตริย์ครั้งแรกเมื่อปี 1957 รายชื่อสุลต่านที่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกษัตริย์จะถูกเรียงตามลำดับอาวุโส โดยใช้วันที่ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐหรือสุลต่านเป็นตัวกำหนด ซึ่งการเรียงลำดับรัฐของผู้มีสิทธิที่จะได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ในการเลือกตั้งครั้งแรกคือ ยะโฮร์, ปะหัง, เนเกอรีเซมบิลัน, สลังงอร์, เกดะห์, ปะลิส, กลันตัน, ตรังกานู และเปรัก
ทว่าสุลต่านในลำดับที่ 1 และ 2 คือ สุลต่านจากยะโฮร์และสุลต่านจากปะหัง ต่างปฏิเสธที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ ทำให้ตำแหน่งกษัตริย์ตกแก่สุลต่านจากเนเกอรีเซมบิลัน ผู้ที่อยู่ในลำดับที่ 3 คือ ตุนกู อับดุล ระห์มัน อิบนี อัลมาร์ฮุม ตวนกู มูฮัมมัด และกลายเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของประเทศ
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญกำหนดให้รายชื่อผู้มีสิทธิรับเลือกเป็นกษัตริย์นั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่มีการเลือกกษัตริย์ เพราะหากรัฐใดที่เจ้าผู้ปกครองรัฐได้เคยขึ้นเป็นกษัตริย์ก่อนหน้าแล้วนั้น ชื่อรัฐดังกล่าวจะถูกย้ายไปอยู่ในลำดับสุดท้ายของบัญชีรายชื่อ* สำหรับรัฐที่เจ้าผู้ปกครองรัฐดำรงตำแหน่งกษัตริย์อยู่ ณ ขณะนั้น ชื่อรัฐดังกล่าวจะไม่ปรากฏในบัญชีรายชื่อ
และหากเมื่อใดที่มีการเปลี่ยนเจ้าผู้ปกครองรัฐ ไม่ว่าจะเพราะสุลต่านสิ้นพระชนม์หรือประกาศสละราชสมบัติ ก็จะทำให้ลำดับของรัฐในบัญชีรายชื่อเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะรัฐที่สุลต่านเพิ่งขึ้นครองราชย์จะถูกย้ายไปอยู่ในลำดับท้ายสุดของบัญชีรายชื่อ* ซึ่งจะเห็นได้จากการเปลี่ยนสุลต่านแห่งเกดะห์ในปี 1958 และการเปลี่ยนสุลต่านแห่งยะโฮร์ในปี 1959 หรือเจ้าผู้ปกครองรัฐปฏิเสธที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ดังที่ปรากฏในกรณีของสุลต่านแห่งยะโฮร์ในปี 1957 กรณีของสุลต่านแห่งปะหังในปี 1970 และในปี 1975 ที่สุลต่านแห่งยะโฮร์ปฏิเสธที่จะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ดังนั้นชื่อรัฐดังกล่าวจึงถูกย้ายไปอยู่ในลำดับสุดท้ายของบัญชีรายชื่อ
อย่างไรก็ดี บัญชีรายชื่อที่ใช้ในการเลือกตั้งกษัตริย์ในครั้งที่ 2-9 จึงมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ลำดับรัฐที่สุลต่านจะขึ้นเป็นกษัตริย์ในรอบแรกของบัญชีรายชื่อที่ใช้ตั้งแต่ปี 1957 จนกระทั่งปี 1994 เรียงตามลำดับคือ เนเกอรีเซมบิลัน, สลังงอร์, ปะลิส, ตรังกานู, เกดะห์, กลันตัน, ปะหัง, ยะโฮร์ และเปรัก จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดในการลำดับบัญชีรายชื่อนี้เป็นการรับประกันว่าเจ้าผู้ปกครองรัฐจากทุกรัฐจะได้เป็นกษัตริย์ ก่อนที่จะมีรัฐใดรัฐหนึ่งถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์ในวาระที่ 2 ทั้งยังป้องกันมิให้เจ้าผู้ปกครองรัฐ 5 รัฐร่วมมือกันสลับหมุนเวียนในตำแหน่งกษัตริย์อีกด้วย
สำหรับการลำดับบัญชีรายชื่อรัฐในการเลือกตั้งกษัตริย์ครั้งที่ 10 และครั้งต่อไปนั้น ลำดับรัฐจะถูกจัดเรียงตามลำดับที่เจ้าผู้ปกครองรัฐได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนการลำดับตามความอาวุโส* ดังนั้นแล้ว ตวนกู ซัยยิด ปุตรา แห่งปะลิส จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์องค์ที่ 12 ของประเทศในปี 2001 ทั้งที่พระองค์เพิ่งขึ้นเป็นสุลต่านในปี 2000 หรือในการเลือกกษัตริย์องค์ที่ 15 ในปี 2016 ที่สุลต่านมูฮัมหมัดที่ 5 แห่งกลันตัน ได้รับเลือกเป็นยังดี เปอร์ตวน อากง แม้จะเพิ่งเป็นสุลต่านในปี 2010 และอีกครั้งเมื่อสุลต่านอับดุลเลาะห์แห่งปะหังได้ขึ้นเป็นสุลต่านในปี 2019 หลังจากนั้นเพียงไม่ถึง 1 เดือนก็ทรงขึ้นเป็นยังดี เปอร์ตวน อากง องค์ที่ 16
จึงอาจกล่าวได้ว่า เงื่อนไขในการเลือกตั้งกษัตริย์ในรอบที่ 2 นี้ ระบบอาวุโสอันหมายถึงระยะเวลาในการขึ้นเป็นสุลต่านนั้นมีความสำคัญ แต่ก็มิได้มีความสำคัญเหนือปัจจัยอื่นที่นำมาใช้ในการพิจารณาความเหมาะสมในตำแหน่งกษัตริย์ เพราะข้อยกเว้นในการนำระบบหมุนเวียนตามลำดับมาใช้ ยังคงต้องพิจารณาตามข้อกำหนดใน Section 1(1) (c) ใน The Third Schedule ของรัฐธรรมนูญที่ว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกษัตริย์จะขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนี้หาก
- บุคคลดังกล่าวเป็นผู้เยาว์
- แจ้งต่อผู้รักษาพระราชลัญจกรว่าไม่ประสงค์ที่จะได้รับการเลือกตั้ง
- ในกรณีที่เจ้าผู้ปกครองรัฐอย่างน้อย 5 คนที่ลงคะแนนโดยลับให้เหตุผลว่า เจ้าผู้ปกครองรัฐคนดังกล่าวมีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือด้วยเหตุอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่กษัตริย์ได้
สำหรับบัญชีรายชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นบัญชีรายชื่อในรอบที่ 2 ซึ่งเมื่อสุลต่านแห่งปะหังหมดวาระลงในปี 2024 รัฐในลำดับต่อไปที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์คือยะโฮร์ และเปรักจะเป็นรัฐลำดับสุดท้ายของบัญชีรายชื่อในรอบที่ 2 ที่สุลต่านจะขึ้นเป็นกษัตริย์
ดังนั้นแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้กษัตริย์มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วจะเห็นว่าการขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ถูกจัดเรียงตามลำดับไว้แล้ว ทำให้การลงคะแนนเสียงเป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการที่เป็นทางการ หากแต่ต้องไม่ลืมว่า สภาเจ้าผู้ปกครองรัฐยังคงสิทธิในการที่จะไม่เลือกสุลต่านที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกษัตริย์ หากเห็นว่ามีความบกพร่องทางสุขภาพหรือเพราะด้วยเหตุอื่นใด
สุดท้ายนี้บางท่านอาจสงสัยว่า ในเมื่อกษัตริย์มาจากการเลือกตั้ง กษัตริย์จะถูกปลดได้หรือไม่
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ยังดี เปอร์ตวน อากง สามารถถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐ ซึ่งการถอดถอนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาอันมาจากเหตุผลต่างๆ ที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐ แต่การถอดถอนกษัตริย์นั้นจะต้องมีเสียงสนับสนุนจากสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐอย่างน้อย 5 เสียง และการลงคะแนนของสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐจะกระทำโดยลับเหมือนกับการเลือกตั้งกษัตริย์
อย่างไรก็ดี จากประวัติศาสตร์ของมาเลเซียก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามียังดี เปอร์ตวน อากง พระองค์ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หากจะมีก็เพียงแต่การประกาศสละราชบัลลังก์ในปี 2019 ที่เคยปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
- เจ้าผู้ปกครองรัฐในยุคสมัยใหม่ของยะโฮร์จะเรียกตำแหน่งดังกล่าวว่าสุลต่าน
- ก่อนที่จะมีการเลือกกษัตริย์ในครั้งนั้นมีการคาดการณ์ว่า เจ้าผู้ปกครองรัฐอื่นอาจไม่ใช้วิธีการหมุนเวียนตามลำดับรัฐดังเช่นที่เคยเป็นมา อีกทั้งมกุฎราชกุมาร ตุนกู อิสมาอิล ไอดริส ได้โพสต์ข้อความลงบนเพจ Facebook ว่า สุลต่านแห่งยะโฮร์ได้ปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป หากแต่ก็ไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการแต่อย่างใดจากทั้งฝั่งของสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐหรือแม้แต่รัฐบาลมาเลเซีย ว่าสุลต่านแห่งยะโฮร์ได้รับการทาบทามให้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป
- กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 32(3)
- ตามรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ สภาเจ้าผู้ปกครองรัฐประกอบด้วย เจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือที่เรียกว่าสุลต่าน ที่เป็นชาวมลายู และยังดี เปอร์ตวน เนเกอรี ซึ่งเป็นผู้ปกครองในรัฐที่ไม่มีเจ้าผู้ปกครองคือ ปีนัง, มะละกา, ซาบาห์ และซาราวัก แต่ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญให้ยังดี เปอร์ตวน เนเกอรี สามารถเข้าร่วมการประชุมในฐานะสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครอง
- เป็นผู้ทำหน้าที่เลขานุการให้แก่สภาเจ้าผู้ปกครองรัฐ
- ในการเลือกตั้งนั้นจะเลือกพระราชาธิบดีหรือกษัตริย์ก่อน จากนั้นจึงเป็นการเลือกรองพระราชาธิบดี
- ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดเรียงลำดับรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งแรกกำหนดไว้ใน The Third Schedule ในส่วนที่ 1 (Part I) ใน Section 4(2) (a)
- กำหนดอยู่ใน The Third Schedule ในส่วนที่ 1 (Part I) ใน Section 4(2) (b)
- รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ใน Section 4(3) ใน The Third Schedule