×

นายกฯ เสนอ 4 แนวทางสายไหมสีเขียวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

โดย THE STANDARD TEAM
18.10.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

วันนี้ (18 ตุลาคม) เวลา 16.17 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) ที่ศูนย์การประชุม China National Convention Center (CNCC) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forum ภายใต้หัวข้อ ‘Green Silk Road for Harmony with Nature’ ในการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Coperration: BRF) ครั้งที่ 3

 

โดยชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญว่า นายกฯ กล่าวชื่นชมความสำเร็จในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) พร้อมเน้นย้ำแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยงเป็นกลไกสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งการประชุม BRF ในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ไปจนถึงการถดถอยทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งล้วนเกิดจากการเสื่อมถอยของความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ 

 

ชัยระบุด้วยว่า นายกฯ เชื่อมั่นว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อน BRI ไปสู่ความร่วมมือคุณภาพสูง โดยไทยมุ่งมั่นที่จะนำบทเรียนจากโครงการนี้ไปเป็นแนวปฏิบัติภายในประเทศ และหวังว่าโครงการ Landbridge เชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียเข้ากับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดระยะเวลาในการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา จะทำงานร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของ BRI และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงในระดับโลก  

 

ชัยระบุว่า นายกฯ ยังเน้นย้ำการทำงานร่วมกันภายใต้ BRI และสร้างความร่วมมือ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน โดยได้เสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์เส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ 4 ประการ ได้แก่ 

 

  • ประการแรก การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) ในทุกภาคส่วน เพื่อจำกัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไทยกำลังดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระยะยาวพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และได้ปรับแผนพลังงานชาติมาเป็นพลังงานสะอาด ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

    พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 รวมทั้งใช้แนวคิดเรื่องพืชไร่ที่ยั่งยืน ลดความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เชื่อว่าจะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย และทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 

 

  • ประการที่สอง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ครอบคลุมร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมด และเป้าหมาย 30×30 เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ตามที่ไทยได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD COP)

 

  • ประการที่สาม การส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) ในการจัดสรรเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งขณะนี้ไทยสามารถระดมเงินได้ถึง 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และในเร็วๆ นี้ ไทยจะวางแผนออกพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนอีกชุด เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคเอกชนและ MSMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

 

  • ประการสุดท้าย การส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี สร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน ร่วมมือ แบ่งปันความรู้ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อสวัสดิการของประชาชน 

 

ทั้งนี้ การประชุม High-Level Forum แบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ Green, Connectivity และ Digital ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกัน โดยนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ Green ซึ่งมี หานเจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน เป็นประธานการประชุม และมีผู้นำจากหลายประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลง

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X