×

IMF หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้จาก 3.4% เป็น 2.7% และปีหน้าจาก 3.6% เหลือ 3.2% เตือนราคาน้ำมันเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อในเอเชีย

18.10.2023
  • LOADING...
IMF ปรับคาดการณ์ GDP ไทย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้ลงจากเดิม 3.4% เป็น 2.7% และลดลงจาก 3.6% เป็น 3.2% ในปีหน้า สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ชะลอตัวลงตามจีนและอุปสงค์ในตลาดโลก

 

Shanaka Peiris หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ IMF ระบุว่า การปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้เป็นผลมาจากตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ของไทยที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ล่าช้าและการส่งออกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้นและคาดว่าจะทยอยดีขึ้นไปจนถึงปีหน้า

 

“ในระยะสั้นไทยอาจมีโจทย์ที่ต้องหาความสมดุลระหว่างการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนในระยะยาวการเข้าสู่สังคมสูงวัยจะเป็นความเสี่ยงที่ต้องไทยต้องรับมือ” Peiris กล่าว

 

ทั้งนี้ รายงาน Regional Economic Outlook (REO) ฉบับล่าสุดของ IMF ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 โดยประเมินว่า GDP ของภูมิภาคนี้จะเติบโต 4.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.9% ในปีก่อน สูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP โลกที่ 3% ขณะที่ GDP ของเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2024 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.2% ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.2% จากอิทธิพลการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

 

Krishna Srinivasan ผู้อำนวยการ IMF ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่า การเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในหลายประเทศที่แข็งแกร่ง และการเปิดเศรษฐกิจของจีนอีกครั้งหลังการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัว โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และการลงทุนที่ซบเซา ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอลงเช่นกัน

 

ด้านอัตราเงินเฟ้อของภูมิภาค IMF พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในหลายประเทศปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงโควิด โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ถดถอย พร้อมประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเกือบทุกประเทศยกเว้นญี่ปุ่นจะลดลงต่อเนื่อง และเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในปี 2024 แม้เงินเฟ้อพื้นฐานในบางประเทศจะยังมีความหนืดอยู่บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานที่อาจปรับสูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจสร้างความกดดันให้เงินเฟ้อในภูมิภาคกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

 

“ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่จะมีต่อราคาพลังงานโลก แต่เราคาดว่าทุก 10% ของราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบให้ GDP โลกปรับลดลง 0.15% และทำให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้น 0.4%” Srinivasan กล่าว

 

รายงานของ IMF ยังระบุอีกว่า การฟื้นตัวที่อ่อนแอกว่าคาดในจีนและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของสหรัฐฯ ในปีหน้าจะเป็นความเสี่ยงด้านลบสำคัญของเอเชีย-แปซิฟิกที่ต้องจับตา นอกจากนี้แนวโน้มการเติบโตระยะกลางของเอเชีย-แปซิฟิกยังมีความเสี่ยงจะถูกกดดันจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจฉุดการเติบโต GDP ในระยะปานกลางให้ลงมาเหลือ 3.9%

 

ทั้งนี้ IMF ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่าธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกควรให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคา พร้อมติดตามความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก และดูแลกรอบวินัยทางการคลัง การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องวางกลยุทธ์การเติบโตที่เน้นเพิ่มผลิตภาพ สอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญกับการเติบโตที่ครอบคลุม กระจายตัว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยสร้างความร่วมมือพหุภาคี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X