ไม่ต้องรอของขวัญปีใหม่! ‘สุริยะ’ ลุยนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท นำร่องสายสีม่วง-สีแดง เริ่มได้ทันทีวันนี้ (16 ตุลาคม) ส่วนการเชื่อมระบบคาดเริ่มได้ภายใน 1 พฤศจิกายนนี้ พร้อมย้ำนโยบายไม่เป็นภาระต่องบประมาณ รัฐไม่จำเป็นต้องชดเชย เพราะคาดว่าจะมีรายได้จากจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น
วันนี้ (16 ตุลาคม) ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ รายงานข่าวระบุว่า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เตรียมความพร้อมการดำเนินนโยบาย Quick Win ลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายธานีรัถยา) ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายนครวิถี) ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี ในอัตรา 20 บาทตลอดสาย ว่าหลังจากที่ได้แถลงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 38 วัน
ล่าสุดวันนี้ (16 ตุลาคม) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบนโยบายดังกล่าว โดยมีผลเริ่มใช้ทันที จากเดิมที่มีการประกาศว่าจะใช้ได้ภายใน 90 วัน หรือเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน
ทั้งนี้ คาดว่าในวันแรกของการให้บริการในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท จะมีผู้โดยสารรวมประมาณ 1 แสนคนต่อวัน แบ่งเป็นรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 70,000 คนต่อวัน จากในปัจจุบันที่มีผู้โดยสารใช้บริการ 60,000 คนต่อวัน และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 30,000 คนต่อวัน จากในปัจจุบันที่มีผู้โดยสารใช้บริการ 25,000 คนต่อวัน
สุริยะกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างสายสีแดงและสายสีม่วงนั้น ค่าโดยสารข้ามระบบระหว่างสายสีม่วงและสีแดงยังต้องเสียสองต่อ เนื่องจากระบบยังแยกกันอยู่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบให้เชื่อมโยงข้อมูลกัน คาดว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะเชื่อมระบบข้ามสายได้ โดยมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 20 บาทตลอดสายต่อไป
“วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของรัฐบาลที่ได้เริ่มนโยบายดังกล่าว จากเดิมเคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มใช้นโยบายในช่วงปลายปี 2566 เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน แต่ด้วยภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากสถานการณ์ในต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน มีผลโดยตรงต่อผู้ใช้รถยนต์ รัฐบาลจึงได้เร่งรัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้โดยสารโดยเร็วอีกด้วย” สุริยะกล่าว
ขณะที่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้ครอบคลุมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในทุกเส้นทาง ตามเป้าหมายภายใน 2 ปีนับจากนี้ต่อไป
ย้ำรัฐไม่จำเป็นต้องชดเชย
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานี เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน ให้มีความปลอดภัย
นอกจากนี้ มอบหมายให้ติดตั้งป้ายแนะนำการใช้บริการ รวมถึงจัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสะดวกในการเดินทาง และประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำประชาชนที่มาใช้บริการ พร้อมทั้งให้ประเมินและเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานการเปิดใช้นโยบาย เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรค ก่อนนำไปปรับปรุงการให้บริการ โดยให้รายงานผลมายังกระทรวงคมนาคมทุกเดือน
สุริยะย้ำว่า ส่วนความกังวลของหลายฝ่ายเรื่องที่นโยบายดังกล่าวจะเป็นภาระงบประมาณหรือไม่นั้น เชื่อว่ารัฐไม่จำเป็นต้องชดเชย และไม่เป็นภาระงบประมาณ เพราะคาดว่าจะมีผู้โดยสารมากขึ้น โดยได้ประสานกับ ขสมก. เพื่อเป็นฟีดเดอร์ให้มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ
ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วมนั้น ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเตรียมเอกสารเสนอ ครม. และสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา คาดว่าจะเสนอให้พิจารณาได้ภายในปีนี้ ซึ่งคาดว่าเมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน จะเป็นเครื่องมือในการเจรจากับเอกชน และจะสามารถจัดตั้งกองทุนหารายได้ชดเชยให้กับผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ