วันนี้ (13 ตุลาคม) กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เน้นย้ำถึงการช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ตะวันออกกลาง ให้ถือเป็นภารกิจของชาติ ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญสูงสุด
ส่วนรายงานชาวไทยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังคงเท่ากับเมื่อวาน (12 ตุลาคม) โดยแบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 21 คน ผู้บาดเจ็บ 14 คน ผู้ที่คาดว่าถูกจับไป 16 คน และมีรายงานพบคนไทยที่หลบซ่อนอยู่เพิ่มเติมอีก 2 คน โดยภาพรวมผู้กรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ลี้ภัยกลับสู่ประเทศไทยของสถานทูต รวมกว่า 6,800 คน โดยมีการแจ้งความประสงค์กลับไทยเพิ่มเป็น 6,778 คน และไม่ประสงค์กลับอีก 85 คน
โดยเบื้องต้นเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย แจ้งว่าได้อพยพชาวต่างชาติจากพื้นที่บริเวณเสี่ยงภัยใกล้ฉนวนกาซาออกสู่พื้นที่ปลอดภัยได้ร้อยละ 99 ของทั้งหมดแล้ว
ส่วนสถานการณ์ภายในยังคงมีความรุนแรง สลับกับบางช่วงที่ระงับการโจมตีไป คาดการณ์ว่าเป็นช่วงที่กลุ่มฮามาสพยายามเตรียมการตั้งรับกรณีทางการอิสราเอลอาจบุกเข้าไปในพื้นที่ จากการที่ทางการอิสราเอลได้ตัดน้ำตัดไฟ และประกาศโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ อิสราเอลมีแผนการจัดตั้งพื้นที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับผู้อพยพบริเวณรอบนอกฉนวนกาซา ประกอบด้วย บ้าน อาคารชั่วคราว โรงเรียน ศูนย์สุขภาพต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดพื้นที่ที่แน่นอน นอกจากนี้สถานทูตได้จัดศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อรอการเดินทางกลับประเทศไทยตามเที่ยวบินของผู้อพยพ ที่โรงแรม Dan Panorama Tel-Aviv Hotel (แดน พาโนรามา เทลอาวีฟ โฮเทล) เบื้องต้น 100 ห้อง พร้อมอาหาร ซึ่งสามารถจองเพิ่มได้หากมีความต้องการเพิ่มเติม
นอกจากนี้ มีการประสานกับประเทศใกล้เคียงเพื่อจัดตั้งศูนย์พักพิงระหว่างรอเดินทางกลับประเทศไทย โดยได้ติดต่อกับประเทศจอร์แดนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือกรุงดูไบ โดยขอให้อนุโลมเรื่องเอกสารไว้ก่อน รวมถึงการเดินทางทางบกและช่องทางอื่นๆ ซึ่งอาจมีการปรับได้ตามสถานการณ์ ทั้งนี้ ยังมองว่าการเดินทางโดยเครื่องบินตรงกลับไทยเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ตั้งเป้าอพยพให้ได้วันละ 400 คนในทุกช่องทาง
สำหรับกรณีคนไทยที่เดินทางกลับมาเอง ที่ประชุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้พูดคุยโดยเห็นชอบในหลักการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่เดินทางกลับไทยตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงประกาศสภาวะสงคราม โดยแรงงานไทยที่เดินทางกลับจะต้องยื่นหลักฐานประกอบด้วยบอร์ดดิ้งพาส ใบเสร็จหรือตั๋วเครื่องบิน และเอกสารหลักฐานแสดงตน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน ยื่นผ่านสำนักงานแรงงานจังหวัดและกระทรวงแรงงาน
โดยในหลักการรัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยให้ โดยขอให้แรงงานเก็บเอกสารหลักฐานไว้ก่อน รอฟังรายละเอียดที่ชัดเจนจากทางการอีกครั้ง ซึ่งแรงงานที่อยู่ต่างจังหวัด กระทรวงแรงงานจะจัดเก็บหลักฐานและยื่นเอกสารไว้ให้