ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดย FOMC มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.5% อย่างไรก็ดี ยังส่งสัญญาณถึงโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือการปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 และ 2025 ของ FOMC ที่ภาวะดอกเบี้ยสูงอาจอยู่กับเรายาวนานขึ้น (Higher for Longer)
การปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นของ FOMC เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีสัญญาณฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดแรงงานก็แข็งแกร่ง สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความทนทานต่อสภาวะดอกเบี้ยสูงได้ (Resilient)
คณะกรรมการ FOMC ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 2023 และ 2024 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.1% (+1.1%) และ 1.5% (+0.4%) ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ได้ปรับ Dot Plot ดอกเบี้ยนโยบายในปี 2024 และ 2025 ขึ้นอยู่ที่ 5.1% (เดิม 4.6%) และ 3.9% (เดิม 3.4%) ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงไว้นานกว่าที่เคยมองกันไว้ก่อนหน้านี้
ความกังวลต่อภาวะดอกเบี้ยที่คาดว่าจะ Higher for Longer กดดันให้ตลาดการเงินตอบรับในแง่ลบ โดยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.139% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.612% เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี
นอกจากบอนด์ยีลด์ที่พุ่งสูงขึ้น ยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น ตามการจำกัดอุปทานของกลุ่มประเทศผู้ผลิต โดย ณ วันที่ 29 กันยายน ราคาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ล่วงหน้า ได้ขยับขึ้นไปแตะ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่เคยอยู่ในระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน จนหลายฝ่ายเกรงว่าอาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะยิ่งสนับสนุนให้ Fed ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงไว้นานกว่าที่คาด
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq 100 มีการปรับฐานลงหลังจากทราบถ้อยแถลงของ FOMC ที่บ่งชี้ถึงภาวะ Higher for Longer ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ก็ปรับตัวลงจากความกังวลแนวโน้มบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงไว้นาน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ
แม้ล่าสุด Fed มีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวแบบ Soft Landing ได้ แต่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายในของสหรัฐฯ เช่น การผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารพาณิชย์ และโครงการหยุดพักชำระหนี้เพื่อการศึกษาได้สิ้นสุดลง จากปัจจัยเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่เราอาจได้เห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ปี 2023 ขณะที่ยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนในฝั่งจีนในระยะสั้นเชื่อว่าวิกฤตภาคอสังหาจะยังเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการฟื้นตัว
ท่ามกลางความเสี่ยงของดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น รวมถึงโอกาสที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกอาจชะลอลงอย่างพร้อมเพรียงกัน (Synchronized Slowdown) UOB Privilege Banking ยังคงแนะนำการลงทุนโดยล็อกอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูงของตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade) และกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากวัฏจักรนโยบายการเงินที่เข้มงวดใกล้สิ้นสุดลงแล้ว อีกทั้งภาวะที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง ตราสารหนี้จะเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยปกป้องความผันผวนให้แก่พอร์ตการลงทุนได้ โดยจากข้อมูลในอดีตพบว่า ช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ตราสารหนี้มักจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้น
และควรกระจายพอร์ตการลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวในสินทรัพย์หรืออุตสาหกรรมเดียวมากเกินไป ผ่านการลงทุนในกลยุทธ์ Multi Asset ที่มีการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ เพื่อแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกสภาวะ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ สามารถพิจารณาลงทุนในหุ้นเติบโตที่มีคุณภาพดี หุ้นปันผล และหุ้นกลุ่มสุขภาพทั่วโลก (Global Healthcare) เพื่อรับโอกาสเติบโตในระยะยาว
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดต่อที่ปรึกษาทางการเงิน (Client Advisor) ของ UOB Privilege Banking ได้ที่ โทร. 0 2081 0999 หรือ คลิก www.uob.co.th/privilegebanking
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์