ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2540 ประกาศใช้เป็นวันแรก ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
โดยภายหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองอย่างกว้างขวาง มีการเคลื่อนไหวและนำเสนอแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบการเมืองในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ
ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 ได้กำหนดคุณสมบัติและการจัดหาสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.40) ทั้ง 99 คน ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง ตัวแทนจากทั่วประเทศจังหวัดละ 1 คน จำนวน 76 คน และสอง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายอีก 23 คน โดยมีกระบวนการคัดเลือกทางอ้อม และด่านสุดท้ายในรัฐสภา
กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยรายงานจากคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ระบุว่า ประชาชนมีส่วนร่วมกว่า 8 แสนคน
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 คือ การกำหนดรูปแบบรัฐสภา ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งคือ วุฒิสภาและนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เน้นการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ กำเนิดสิทธิประชาชน และระบบตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุเพียง 9 ปี โดยในวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข