×

เปิดลิ้นชักความทรงจำของทีมผู้กำกับ ‘แฟนฉัน’ ในวันที่หนังไทยเรื่องนี้มีอายุครบ 20 ปี

10.10.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หลังจาก แฟนฉัน ปิ๊ง, ต้น, เอส และบอล ยังคงอยู่ในวงการในฐานะผู้กำกับ ขณะที่เดียวผันตัวไปเป็นคนทำงานเบื้องหลังแทน 
  • 20 ปีผ่านไป หลายคนยังมองว่า แฟนฉัน ทำงานกับตัวเองเหมือนเดิม แต่ปิ๊งมองต่างออกไปเมื่อนึกถึงการทำงานในวันนั้น มันเป็นความรู้สึกที่ตัวเขาคิดถึงมากกว่า 
  • ต้นเชื่อว่า แฟนฉัน เป็นหนังที่เกี่ยวกับเพื่อนและมิตรภาพที่ต่อให้จะผ่านไปอีกหลายสิบปีก็ยังทำงานกับคนดูเหมือนเดิม
  • บอลคิดว่าการกลับมาของ แฟนฉัน ในรอบ 20 ปี คนที่หนังควรสื่อสารถึงที่สุดคือ คนที่เคยดูในโรงแล้วเติบโตขึ้นมา เพราะหวังว่าคนเหล่านั้นจะได้กลับมาใช้เวลาร่วมกับหนังเรื่องนี้อีกครั้ง

ย้อนกลับไปสองทศวรรษก่อน หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแปลกประหลาดที่สุดเท่าที่วงการหนังไทยเคยมีมาอย่าง แฟนฉัน (2546) ได้กลายเป็นหนึ่งในหนังไทยที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาล และจนถึงทุกวันนี้การจะทำหนังแนวนี้ให้เป็นที่รักของคนดูอีกครั้งก็ถือเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

 

ทว่าสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าคือ ความสำเร็จระดับปรากฏการณ์นั้นไม่ได้มาจากผู้กำกับที่มากไปด้วยประสบการณ์ แต่มาจากเด็กหนุ่ม 6 คนที่กำลังจะแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง ได้แก่ ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม, ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร, เอส-คมกฤษ ตรีวิมล, เดียว-วิชชพัชร์ โกจิ๋ว, บอล-วิทยา ทองอยู่ยง และ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อสร้างเรื่องราวที่เปรียบเสมือนความทรงจำในวัยเด็กของใครหลายคน พร้อมกับจารึกเอาไว้ว่า บางครั้งความสำเร็จก็ไม่ได้เกิดจากสูตรเดิมๆ ที่ตายตัว และมันอาจเป็นเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นที่จะได้สัมผัสกับประสบการณ์แบบนี้

 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของ แฟนฉัน THE STANDARD POP ได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมผู้กำกับ นำโดย ปิ๊ง, ต้น, เอส, เดียว และ บอล เพื่อเปิดลิ้นชักความทรงจำในวันที่ผลงานเรื่องแรกของพวกเขากำลังจะกลับมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้คนที่คิดถึงช่วงเวลาในวัยเด็กอีกครั้ง 

 

 

ย้อนกลับไปในช่วงที่ทำ แฟนฉัน อะไรคือสิ่งที่หนังเรื่องนี้มอบให้กับพวกคุณ

 

ปิ๊ง: ประสบการณ์ในการทำงานที่เราไม่เคยทำมาก่อน วันแรกที่เดินขึ้นไปถ่ายบนรถนักเรียนสีส้มนั่นแหละครับ เราเป็นแก๊งเด็กผู้ชายวิ่งลากถนน อันนั้นคือการถ่ายวันแรกเลย ต่อให้เราเคยเป็นเด็กฝึกงานในกองถ่ายมาก่อน แต่ความรู้สึกของการที่มีทีมงานเขากำลังมาทำงานโดยมีเราเป็นผู้กำกับ มันไม่เคยรู้สึกแบบนั้น

 

ต้น: สิ่งที่พิเศษสำหรับผมคือหนังเรื่องนี้มันทำกับเพื่อน จนถึงปัจจุบัน 20 ปีผ่านไป ผมว่าไม่มีประสบการณ์ไหนที่พิเศษเท่าการทำ แฟนฉัน เพราะว่ามันคือการได้อยู่และได้ทำสิ่งที่เราชอบกับเพื่อน สำหรับผมไม่ใช่แค่คน 6 คนนี้นะ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำ แฟนฉัน ด้วยกันมันเป็นเพื่อนเป็นรุ่นน้องกันหมดเลย ฉะนั้นการออกกอง แฟนฉัน ทุกวันจึงรู้สึกเหมือนเราไปด้วยการทำงานกลุ่ม มีเพื่อนมาคอยช่วยกันทำ มันเลยเป็นความรู้สึกที่พิเศษที่สุด 

 

เอส: ผมรู้สึกคล้ายๆ ปิ๊ง มันให้ประสบการณ์ที่เราไม่เคยได้รับของการเป็นผู้กำกับ พอทำไปเรื่อยๆ บทที่เราเขียนมามันเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งการถ่ายทำ แฟนฉัน ใช้เวลานานมากเพราะมีตั้ง 50 คิว มันเลยเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำหนังสั้นก็เคยทำ แต่ว่ามันไม่ได้ยาวนานถึงขนาดนี้ อันนั้นคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเป็นผู้กำกับมันเป็นแบบนี้นี่เอง 

 

 

เดียว: ในกองถ่ายผมไม่ได้มีบทบาทหน้าเซ็ตมาก เพราะผมต้องไปดูแลเด็ก จริงๆ มันเป็นการหาที่ทางให้ตัวเองด้วย เพราะคิดว่าในกองถ่ายทุกคนไม่ได้เชื่อว่าการทำงาน 6 คนในกองถ่ายมันจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ตอนนั้นเพื่อนที่เป็น PM (Production Manager) ก็ตั้งคำถามว่า “พวกเอ็งจะทำงานหน้ากองกันอย่างไร?” 

 

ซึ่งมันก็มีคนที่มีตำแหน่งชัดเจนอย่าง ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์ หนึ่งในผู้กำกับ แฟนฉัน) วางตัวเป็นช่างภาพ ย้งก็ไปอยู่กับกล้อง เอสวางตัวเป็นแอ็กติ้งโค้ช เอสก็มีบทบาทที่ชัดเจนแล้ว เหลือ 4 คน ซึ่งต้นบอกว่าเขาทำตัดต่อ แต่ตัดต่อมันไม่ได้มีหน้าที่ในกองถ่าย เพราะฉะนั้นต้นก็จะมาอยู่หน้ามอนิเตอร์ ส่วนปิ๊งกับบอลบทบาทเขาก็ให้ดูหน้ามอนิเตอร์อยู่แล้ว ผมเลยรู้สึกว่าผมจะเอาตัวเองไปอยู่หน้ามอนิเตอร์อีกคนรวมเป็น 4 คนจริงเหรอ

 

ผมก็เลยต้องหาที่ทางของตัวเอง ซึ่งเผอิญตอนพรีโปรดักชันผมยกมือทำแคสติ้ง เป็นคนเลือกนักแสดง ผมเลยวางตัวเองในบทบาทว่า ถ้าอยู่หน้ากองงั้นผมดูแลเด็ก กางร่มให้เด็ก แต่งหน้าทำผม พูดง่ายๆ ว่าเตรียมความพร้อมให้เด็ก (หัวเราะ) และด้วยความเป็นผู้กำกับ เราก็พอจะรู้ว่าจริงๆ แล้วหนังมันต้องการอะไร ตรงนี้เราก็ช่วยเขา แต่ถ้าเมื่อไรที่โดนเพื่อนตามว่ามีปัญหาแล้วพวกเอ็งไปตัดสินใจกัน ผมก็ต้องเดินจากจุดแต่งหน้าไปอยู่หน้ามอนิเตอร์เพื่อร่วมตัดสินใจ

 

ถามว่า ณ วันที่ออกกองถ่ายผมได้อะไร ได้อยู่กับเด็กบ่อยมั้ง หมายถึงว่าสิ่งหนึ่งที่กังวลตอนนั้นคือ แน็ก (ชาลี ไตรรัตน์) มันจะงอนอะไรอยู่หรือเปล่า แจ็ค (เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) โอเคไหม เพราะเห็นแจ็คตลกๆ บางทีเขาเป็นเด็กที่ซีเรียสเรื่องการทำงานมากที่สุด 

 

ฉะนั้นผมก็จะเป็นคนที่รับรู้อารมณ์ของเด็กและผู้ปกครองเด็ก ชีวิตของผมก็เลยจะวนอยู่กับผู้จัดการเด็กซึ่งก็คือพ่อแม่ ผมก็เลยรู้สึกว่าบทบาทของตัวเองในฐานะผู้กำกับจริงๆ แบบปิ๊งไม่ได้เกิดขึ้นกับผมเท่าไรตอนที่อยู่กองถ่าย แล้วก็อาจจะเป็นเหตุผลที่สุดท้ายผมไม่ได้นั่งอยู่ในกองถ่ายในฐานะผู้กำกับหลังจากนั้นอีก 20 ปีเหมือนกัน เพราะตอนนั้นบทบาทของผมคือการทำสิ่งอื่น

 

บอล: สำหรับผมตอนอยู่ในกอง ยิ่งถ่ายหนังไปเรื่อยๆ จะรู้สึกว่าเหมือนตัวเองได้กลับบ้าน แต่ละวันมันออกไปทำสิ่งที่เป็นวัยเด็กของเรา เช่น กระโดดยาง เตะบอล เป่ากบ ขี่จักรยาน ความรู้สึกเหล่านี้มันเลยเหมือนผมได้กลับบ้านจริงๆ

 

ภาพ: หอภาพยนตร์ 

 

สำหรับเดียวแล้ว การเห็นพวกเขาในวันนั้นเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง

 

เดียว: ผมว่า โฟกัส (โฟกัส จีระกุล) คือเด็กที่โดดเด่นและเป็น น้อยหน่า ของผู้กำกับทุกคน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เราเห็น อาจจะมีแคนดิเดตมาบ้าง แต่ผมรู้สึกว่าโฟกัส ณ วันนั้นลอยเด่นขึ้นมา

 

ส่วนแน็ก เอาจริงๆ ผมว่าแน็กในวันนั้นกับวันนี้ ผมคิดไม่ถึงเหมือนกันว่าเขาจะมาไกลได้ขนาดนี้ (ทุกคนหัวเราะ) คือแน็กเป็นเด็กที่หน้าตาน่ารัก และเป็นเด็กที่เราคาดไม่ถึงว่าเขาจะมีความซับซ้อนในตัวเองมากขนาดนี้ ซึ่งแน็กเป็นคนที่ผมเซอร์ไพรส์ในทางที่ดีนะว่าเขาเป็นคนที่มีอะไรอยู่ในตัวเยอะมาก 

 

แต่ ณ วันที่รู้จักแน็กและออกกองถ่ายก็จะเห็นว่าเขามีความพิเศษและไม่เหมือนใครมากขึ้นเรื่อยๆ มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่าตัวละคร เจี๊ยบ แมนเกินไปสำหรับแน็ก ถ้าพูดตามตรงตัวจริงของแน็กเขาเกินกว่าตัวละครเจี๊ยบไปเยอะ

 

ส่วนแจ็คนี่ลอยมาอยู่แล้ว เพราะเป็นเด็กที่เคยเล่นหนังสั้นของบอลกับปิ๊ง ฉะนั้นทั้งสองคนเลยเชื่อในตัวแจ็คมาก ผมเองก็เชื่อเพื่อน แต่ถามว่าตอนเจอหน้ากันวันแรกกังวลไหม ก็มีอยู่เหมือนกันตอนที่พี่เขาทักว่า “เอาจริงเหรอ” แบบเด็กทุกคนน่ารักหมดเลยนะ แล้วมันโตกว่าคนอื่น 

 

แต่แจ็คก็ชนะใจคนทั้งกองได้ตั้งแต่วันแรก ด้วยรูปลักษณ์แบบนี้ที่ทุกคนยังไม่รู้ฝีมือ พอขึ้นรถบัสวันแรก ผมจำได้เลยว่ามันมีเบื้องหลังที่พี่ๆ โปรดิวเซอร์ทุกคนมาอยู่หน้ามอนิเตอร์แล้วหัวเราะแจ็คซะจนกลายเป็นแฟนประจำ อันนี้เขาไม่ได้บอกผมนะ แต่ผมเดาเองว่าเหตุผลหนึ่งที่เขาชอบมากอง เช่น พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ผมว่าเขาอยากมาดูแจ็คว่าวันนี้จะมีเซอร์ไพรส์อะไรไหม ซึ่งมันเป็นไฮไลต์อย่างหนึ่งเลยนะตอนออกกอง ถ้าเด็กหลักๆ 3 คนก็ประมาณนี้ 

 

ส่วนคนอื่นๆ ด้วยความที่ไม่ได้มีเวลาแคสต์มาก เราเลยเลือกด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ตรงกับภาพในหัวของผู้กำกับที่สุด ส่วนนิสัยใจคอก็ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง

 

 

ตอนถ่ายทำ แฟนฉัน ด้วยความที่เป็นทั้งเพื่อนและผู้กำกับ พวกคุณมีวิธีตกลงงานกันอย่างไร และมีความเห็นในซีนไหนไหมที่จำได้ไม่เคยลืม

 

บอล: อันนี้ผมตอบเป็นคนแรกแล้วกัน คือจริงๆ เป็นสิ่งที่พี่ๆ โปรดิวเซอร์เขากังวล เพราะตอนมาทำหนังเรื่องนี้เรายื่นเงื่อนไขว่าเราจะกำกับทั้ง 6 คน มันก็เลยเป็นสิ่งที่พี่ๆ เขากังวลว่าอย่างไรก็ไปตกลงกันดีๆ นะว่าจะไม่ทะเลาะจนเลิกเป็นเพื่อนกัน เราก็เลยมาคุยเรื่องแบ่งหน้าที่กันในแง่ลงมือปฏิบัติ แต่ว่าทุกอย่างเราจะทำตามสคริปต์ คือไปเถียงกันบนโต๊ะให้เรียบร้อย 

 

ซึ่งส่วนใหญ่ในการทำบทมันไม่มีประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่า 4 จะชนะ 2 คือพอ 6 คน คนก็มักจะคิดว่ามันจะขาดอย่างไร เพราะมันมีสิทธิ์ที่จะเป็น 3-3 ใช่ไหม ฉะนั้นก็เลยต้องถกเถียงกันจนกว่าจะยอมกัน แต่ก็ไม่รู้นะว่าข้างในลึกๆ จะยอมไหม ถ้าไปถามแต่ละคนบางคนก็จะบอกว่า “อันนี้กูยอมมึง เดี๋ยวกูไปเอาคืนซีนหน้า” 

 

เดียว: ส่วนใหญ่เถียงกันตอนเขียนบทมากกว่าตอนถ่ายทำ เพราะตอนเขียนบททุกคนได้เถียงกันอย่างเต็มที่ไปแล้วว่าจะเอาอย่างไร แต่มันมีเงื่อนไขบางอย่างนะว่าทำไมถึงกำกับ 6 คนได้ คือมันอาจดูเหมือนจัดตั้ง แต่เรารู้จักกันตั้งแต่มหาวิทยาลัยปี 1 และด้วยความที่รู้จักกันมา 6-7 ปีก่อน ได้ใช้เวลาในชีวิตร่วมกัน ได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรียนหนังสือหรือทำกิจกรรม มันก็เลยทำให้เรารู้จักกันมากพอที่จะพูดกันตรงๆ และรู้นิสัยใจคอประมาณหนึ่ง 

 

ซึ่งผมว่าเงื่อนไขนี้มันเป็นส่วนสำคัญเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงมาทำงานด้วยกันได้ แล้วพอมาทำจริงๆ เราก็เลยไม่ได้รู้สึกฝืนธรรมชาติกันขนาดนั้น เพราะว่าการนั่งอยู่ในวงเล่าแล้วคุยเรื่องหนังแล้วก็เถียงกันมันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาบ้างแล้ว ส่วนตัวผมคิดย้อนก็เลยรู้สึกว่ามันมีเหตุผลตรงนี้ด้วย

 

แต่ถ้าถามว่ามีซีนไหนที่เถียงกันแล้วจำได้ มีอยู่ซีนหนึ่งคือซีนหมาสะกิด ซึ่งเป็นซีนที่ความเห็นแตกออกไปโดยสิ้นเชิง เป็นซีนที่แก๊งเด็กผู้ชายไปขโมยมะม่วง ถ้าเป็นในหนังก็จะเป็นกระโดดน้ำ แต่ความจริงแล้วในบทมันไม่ได้เป็นกระโดดน้ำ มันเป็นขโมยมะม่วง 

 

ซึ่งตามปกติฝั่งผม ต้น ย้ง จะเป็นฝั่งที่พยายามคิดว่าตอนออกไปถ่ายมันจะทำอย่างไร หรือมันจะโอเคไหม คือจะเป็นประเภทพวกมีสาระและมีความกังวลนิดหนึ่ง ส่วนเอส บอล ปิ๊ง ก็เป็นพวกลากกันไปว่า เออดีๆ ได้ๆ สนับสนุนอะไรก็ลากกันไป แต่เผอิญวันนั้นผมดันเข้าไปเป็นพวกเดียวกับฝั่งหมาสะกิด เพราะฉะนั้นต้นกับย้งเขาก็จะต่อต้านเยอะหน่อย จนสุดท้ายเหมือนผมจะโน้มน้าวย้งมาได้แล้วเหลือต้นคนเดียวมั้งที่รู้สึกคาใจแล้วก็ส่ายหัว แบบมันได้เหรอวะ นี่มึงจะเอากันจริงใช่ไหม (หัวเราะ)

 

 

ปิ๊ง: เวลาเลี้ยงหมาขอมือมันก็ให้ใช่ไหม มันก็ทำได้นะ เคยเห็นคลิปแมวกระโดดชกถุงอาหารไหม แบบเฮ้ย! อย่างนี้ได้ด้วยเหรอวะ มันกระโดดชกอย่างนี้เลย (ทุกคนหัวเราะ)

 

เอส: วันนั้นถ่ายไม่ทัน จำได้ว่าฝนตกก็เลยนั่งคุยกันและไล่ๆ ว่าเราจะไปถ่ายอะไรต่อ แล้วเดี๋ยวจะมีซีนกระโดดน้ำ เราก็ให้มันแก้ผ้ากระโดดน้ำดิ เพราะมันโดดอยู่แล้วใน Montage ก็เลยกลายเป็นซีนนั้นไป

 

ต้น: ผมจะรู้สึกว่าหนังเป็น Realistic มาตลอดในเรื่อง แล้วการที่หมาจะมาสะกิดได้ สำหรับผมเลยรู้สึกว่ามันดูเหมือนการ์ตูนเกินหนังหรือเปล่า แล้วมุกนี้มันเข้ากับหนังไหม ก็เลยกลายเป็นการถกเถียงกัน แต่สุดท้ายซีนนี้ยังอยู่ในหนังนะ เพียงแต่ว่ามันถูกลดความสำคัญลงไป แทนที่จะเป็นหมาสะกิดกลายเป็น Montage ที่ไปขโมยมะม่วงมาแล้วมีหมาตัวหนึ่งเห่าอยู่ อันนั้นจริงๆ แล้วต้องเป็นซีนนี้

 

แต่อันนี้ผมขอเสริมสักหน่อยว่าเราตกลงกันอย่างไร ผมว่าเราคิดว่ามันเป็นงานกลุ่ม ไม่ได้คิดว่าเป็นงานเดี่ยว เพราะฉะนั้นคำว่างานกลุ่มคือทำด้วยกัน แชร์กัน คิดทุกอย่างร่วมกัน เราไม่ได้คิดว่าจะต้องชนะตลอด อันนี้คือความคิดที่ตั้งเอาไว้กับตัวเองก่อน แบบเถียงเต็มที่แหละ แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องมาทำตามเราอย่างเดียว มันเลยทำงานด้วยกันได้ เพราะตั้งแต่แรกเราคิดเอาไว้แล้วว่า นี่เราทำด้วยกันนะ ไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง

 

 

ณ วันนี้ถ้ามองในมุมของแต่ละคน อะไรคือสิ่งที่ทำให้ แฟนฉัน ประสบความสำเร็จ

 

ปิ๊ง: โห คืออะไรวะ เอาจริงๆ มันก็ช็อกนะ คือคิดว่าน่าจะออกมาดี แต่ไม่คิดว่ามันจะประสบความสำเร็จระดับเอากลับมาฉายหลังจากนั้นอีก 20 ปี ไม่ได้คิดว่าจะแมสอะไรขนาดนั้นก็เลยตกใจ

 

ต้น: ผมว่ามันพูดได้ 2 มุมนะ มุมหนึ่งคือมุมคนทำ ผมว่ามันสำเร็จได้เพราะว่าเราไม่รู้ พอไม่รู้ก็เลยไม่กลัวในทุกๆ ขั้นตอน คนชอบมาถามว่าหนังเด็กมันไม่ได้เงินนะ เด็ก สลิง สัตว์ เอารวมกันได้ด้วยเหรอ เราไม่รู้ วันที่เขียนก็ไม่รู้ มันเลยเขียนแบบสิ่งที่เราชอบอย่างเดียว แล้วก็โชคดีที่มีคนให้โอกาสและยอมรับในวิธีการแปลกๆ เหล่านี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเด็ก วิธีการทำงานที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน พอคน 6 คนมันช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ก็เลยได้งานออกมาเป็นอีกรสชาติหนึ่ง

 

จนพอหนังเสร็จออกมาคนภายในได้เริ่มดูกันเขาคงรู้สึกว่า เห็นศักยภาพหรือว่าชอบก็เลยไปจัดการด้วยวิธีการที่ไม่มีใครรู้มาก่อนอีกเช่นกันคือไปชวนคนมาดูเยอะๆ ก่อน อันที่จริงหนังเรื่องนี้มันประหลาดมากเพราะตามปกติหนังทำเสร็จก็ฉายเลย แต่นี่คือ เฮ้ย! มันเวิร์กว่ะ งั้นชวนคนมาดูเยอะๆ ดีกว่า ถ้าเป็นยุคนี้ก็คือรอบอินฟลูเอ็นเซอร์ ชวนคนมาดูที่ออฟฟิศ เปิดวิดีโอดูกันเอง ถ้าเขาชอบเขาคงไปบอกต่อ ความคิดนี้ไม่มีมาก่อนนะครับ คือเราไม่รู้ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะเวิร์กหรือเปล่า 

 

ซึ่งจุดเริ่มต้นมันแค่นี้ก่อน แต่พอเขาเริ่มมั่นใจแล้ว เขาก็บอกว่างั้นเอาเรื่องนี้ไปฉายให้กับเด็กในมหาวิทยาลัยดูทั่วประเทศก่อนที่หนังจะฉาย ใครจะไปทำ มันเลยกลายเป็นความคิดด้านการโปรโมตที่ไม่เคยมีมาก่อน จนถึงวันนี้มันก็ไม่มีใครทำอยู่ดี สุดท้ายด้วยความไม่รู้ก็เลยเกิดวิธีการโปรโมตแบบใหม่บางอย่างที่เรียกความสนใจของคนดูได้

 

แต่ส่วนตัวหนังเองที่เป็นคอนเทนต์ที่พูดถึงความทรงจำในวัยเด็ก และความประทับใจบางอย่างที่จะสามารถสร้างเรื่องราวที่รีเลตกับคนหมู่มากได้ อันนี้มันเลยทำให้คนดูที่เข้ามาดูแล้วยิ่งประทับใจมากขึ้น ผมเลยมี 2 มุม คือ มุมคนทำกับมุมคนดู

 

เอส: ผมรู้สึกว่ามันพูดถึงความทรงจำที่มีความสุข คือคนเรามันมีทุกข์สุขสลับไปสลับมาใช่ไหม แต่ทุกครั้งที่กลับไปนึกถึงความทรงจำที่มีความสุข มันจะมีความสุขเสมอ ความทรงจำที่ทุกข์ก็อาจจะเป็นบทเรียนให้แก้ไขอะไรได้ แต่ความสุขมันคือความสุขล้วนๆ ซึ่งผมว่าอันนี้แหละที่ทำให้คนที่ดูหนัง แฟนฉัน พอออกมาจากโรงแล้วเขาก็จะไปนึกถึงเหตุการณ์ที่มีความสุขในอดีต แบบชีวิตมันดีจังเลยนะช่วงเวลานี้ ผมเลยรู้สึกว่าการมีความสุขกับเหตุการณ์ในอดีตทำให้เขารักหนังเรื่องนี้

 

 

เดียว: จริงๆ เห็นด้วยกับต้นและซัพพอร์ตว่าตัวหนังมันมีความพิเศษอยู่แล้ว ผ่านมา 20 ปี เราก็จะรู้ว่าหนัง แฟนฉัน มันเป็นหนังที่ไม่มีเรื่องไหนเหมือนแล้วก็ทำซ้ำไม่ได้ หมายถึงหนังที่เด็กจะมีบทบาทสำคัญทั้งเรื่อง และทำให้เรารู้สึกอยากดูตั้งแต่ต้นจนจบ หนังไทยมันไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีเรื่องไหนที่เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นด้วยความที่ไม่มีใครเหมือนของ แฟนฉัน ผมว่าคนดูทุกวันนี้รู้อยู่แล้วแหละว่ามันพิเศษอย่างไร

 

แต่ว่าในมุมผม ผมอยากขอบคุณคนคนหนึ่งที่จริงๆ ถูกพูดถึงน้อยที่สุดเวลาพูดถึงหนัง แฟนฉัน ก็คือ คุณวิสูตร (วิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้บริหาร ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมก่อตั้ง GTH) ที่มาร่วมลงทุนในหนังเรื่องนี้ 

 

อย่างล่าสุดที่สัมภาษณ์ในสารคดี คุณวิสูตรพูดอย่างชัดเจนมากว่า อ่านบทเรื่องนี้แล้วก็หลงรักตั้งแต่ตอนเป็นบทโดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าจะได้กำไรจากมันหรือเปล่า และ ณ วันนี้เวลาที่เขาพูดถึงหนังเรื่องนี้ เขาพูดด้วยตาที่เป็นประกาย แล้วก็บอกว่าเขาภูมิใจที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้

 

แล้ววันที่หนังเรื่องนี้ทำโปรโมต คุณวิสูตรคือคนตั้งชื่อหนัง คือคนตัดหนังตัวอย่างที่ดีมากที่ผมเอากลับมาดูอีกกี่รอบก็ต้องขอบคุณเขา เพราะมันเป็นหนังตัวอย่างที่ดีมากๆ และไม่ได้สปอยล์ความพิเศษของหนังเลยเมื่อเข้าไปดู ซึ่งผมว่าสิ่งที่คุณวิสูตรทำเป็นสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ

 

เอาแค่ตั้งชื่อหนังผมว่าก็กินขาด จากชื่อเดิมอย่าง อยากบอกเธอรักครั้งแรก มาเป็น แฟนฉัน จนกลายเป็นคำฮิตติดปากทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้ ผมก็เลยอยากขอบคุณคุณวิสูตรที่ทำให้หนังเรื่องนี้มันมาขนาดนี้

 

บอล: ก็เห็นด้วยเหมือนกับทุกคน คือมันกลายเป็นหนังของทุกคน และทุกคนสามารถรีเลตกับมันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นคนยุคเรา เด็กกว่าเรา หรือโตกว่าเรา เลยคิดว่านอกจากมันจะประสบความสำเร็จในปีนั้น หนังมันยังอยู่ในใจของคนมาเรื่อยๆ ด้วย 

 

 

ความสำเร็จของ แฟนฉัน ส่งผลอะไรต่อชีวิตบ้าง เพราะมันเปรียบเสมือนก้าวแรกของพวกคุณ รวมทั้ง GTH ในตอนนั้นด้วย

 

ปิ๊ง: มันเป็น Turning Point ใหญ่ของชีวิต เพราะว่าก่อนที่จะทำโปรเจกต์นี้ เส้นทางชีวิตผมคงจะต้องถูกลากตัวกลับไปทำธุรกิจที่บ้าน แต่กลายเป็นว่าพอหนังมันประสบความสำเร็จที่บ้านก็เลยให้ซื้อบ้านเพราะคิดว่าเราจะมีอาชีพจริงๆ ซึ่งแต่เดิมเราอาศัยอยู่ตามบ้านญาติมาโดยตลอด 

 

ชีวิตมันพลิกผันระดับได้แฟน คือถ้าไม่ได้มาทำหนังก็ไม่รู้จักคนที่เป็นภรรยามาจนถึงทุกวันนี้ 

 

ต้น: ผมว่า แฟนฉัน เป็นประตูบานแรกสำหรับการทำงานนะ เพราะว่าสมัยก่อนการจะเป็นผู้กำกับมันยาก พอได้ทำ แฟนฉัน มันเหมือนทำให้โอกาสการทำงานกว้างขึ้น แล้วเราก็มีโอกาสจะได้ทำหนังเรื่องต่อไปของตัวเองด้วย 

 

เอส: สำหรับผมชีวิตเปลี่ยนแปลงเหมือนเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง มีคนเข้ามาหา ไปที่ไหนก็มีคนรู้จัก เคยไปเดินจตุจักรกัน 6 คน มีแต่คนเหลียวมอง ถ้าสมมติไม่ได้ทำ แฟนฉัน ป่านนี้ก็ไม่รู้ทำอะไรอยู่ ผมอาจจะขายแก๊ส หรือกลับไปบ้านก็ได้ คือชีวิตมันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย 

 

ตอนทำเราไม่คิดเลยว่ามันจะออกมาประสบความสำเร็จ คิดว่าทำไปแบบที่เราอยากทำสนุกๆ เพราะว่าได้ทำกับเพื่อน แล้วก็ได้ทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยเด็กของเราจริงๆ แต่พอดังปุ๊บโอกาสก็เข้ามาเยอะมาก มันมีคนได้ทำโฆษณา ได้ไปสัมภาษณ์ ได้ไปต่างประเทศ ผมว่ามันเป็นขั้นตอนของชีวิตที่เหมือนเกิดใหม่และไม่เหมือนเดิมอีกเลย

 

 

เดียว: ผมก็มาทำ GTH นี่แหละ หมายถึงว่าโดนพี่ๆ โปรดิวเซอร์ของ แฟนฉัน ชวนมาทำบริษัทก็เลยได้อยู่กับ GTH มาตั้งแต่เปิดบริษัทจนกระทั่งปิด GTH ตั้ง GDH ใหม่ ชีวิตก็เลยวนเวียนอยู่กับ GTH ตั้งแต่เป็นพนักงานตัดต่อ จนเป็นหัวหน้าแผนก ขึ้นมาทำบริหาร ทำช่องทีวี GTH ON AIR ผมก็ทำมาเรื่อยๆ เลย

 

แต่ว่าชีวิตก็ได้เกี่ยวข้องกับหนังในฐานะคนทำงานตัดต่อนะ ทุกวันนี้จริงๆ ถามว่างานหลักก็ยังดูแลงานโปรโมตภาพยนตร์ให้ GDH อยู่ ตัดหนังตัวอย่าง ตั้งชื่อหนังอะไรแบบนั้น

 

บอล: ตอนได้ทำ แฟนฉัน ก็รู้ว่าได้ทำหนังที่เป็นต้นทางของตัวเองสักเรื่องหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็คงแยกย้ายกันไป คือก่อนทำ แฟนฉัน ก็ทำงานประจำอยู่ในสตูดิโอทำหนังทั่วไปอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าทำเรื่องนี้เสร็จคงกลับไปทำอะไรเหมือนเดิม ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะประสบความสำเร็จถล่มทลายถึงขนาดนี้ 

 

พอมันสำเร็จสิ่งที่ค้างคาบางอย่างตอนถ่าย แฟนฉัน เช่น เวลาถ่ายอยู่แต่ละเทก แต่ละคัตมันต้องเถียงกัน ต้องถูกสะกิด ต้องหันมาแบบ “กูว่าอยู่แล้ว” หรือว่าอยากจะขอเพิ่มอะไรอย่างนี้ตลอดเวลา ก็เลยคิดว่า “อย่าให้กูไปทำหนังคนเดียวนะ” และด้วยอานิสงส์จากความสำเร็จของ แฟนฉัน พี่ๆ เขาก็มาถามว่า ใครมีโปรเจกต์อะไรบ้าง มันก็เลยเริ่มทำให้มีโอกาสได้ทำหนังที่อยากทำแล้วก็ไม่ต้องเถียงกับใคร ไม่ต้องปรึกษาใคร

 

ภาพ: GDH

 

ในฐานะผู้กำกับ 20 ปีผ่านไป คิดถึงอะไรใน แฟนฉัน

 

ปิ๊ง: คิดถึงประสบการณ์แบบร่วมทุกข์ร่วมสุข ตอนนั้นนอนรวมกัน 4 คนอยู่ในห้องโรงแรม ผมต้องเป็นคนที่ตื่นก่อนคนอื่นเพราะอะไรก็ไม่รู้ แล้วพอตื่นคนแรกมันก็ทำให้ผมได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งถ้าให้กลับไปแบบนั้นผมก็คงไม่เอาแล้ว 

 

แต่ว่าเราอยู่แบบนั้นกันเป็นเดือนก็เลยได้สัมผัสกับภาพแห่งความทรงจำหลายอย่าง เช่น พอปลุกต้นเสร็จแล้วผมไปเห็นว่าเขาถอดกางเกงนอนออกก็จะเห็นว่ากางเกงในเขาขาด (ทุกคนหัวเราะ) หรือที่โรงแรมมันจะมีช่องหนังที่มาก่อนเราตื่น ซึ่งทุกครั้งเราค้นพบว่าพอเปิดแล้วมันช่วยให้เพื่อนตื่น และจะมีหนังที่แบบ ฮึ้ย! วันนี้หนังมันดีว่ะ แต่เราต้องไปออกกองก็เลยดูไม่จบ แล้วพอเช้าอีกวันหนึ่งมาเปิด เราก็หันไปเรียกบอลแบบ “เฮ้ย! บอล มันต่อจากเมื่อวานว่ะ” ภาพที่เห็นคือบอลเอามือควานหาแว่นตัวเองแล้วก็ลุกขึ้นมา (ทุกคนหัวเราะ) นี่เป็นสิ่งที่เราคิดถึง แล้วมันคงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว คือให้กลับไปนอนอย่างนั้นใหม่ก็ไม่เอา ไม่เอาแล้ว

 

ต้น: ผมนึกถึงเพื่อนตอนที่ไปถ่ายด้วยกัน มันเป็นการทำงานที่สนุกมาก สำหรับผมมันเป็นประสบการณ์ที่ผมหาไม่ได้จากกองอื่นโดยส่วนตัว คือต่อให้ถ่ายหนังมาอีกกี่เรื่องก็ไม่เคยมีบรรยากาศนี้อีกเลย

 

เอส: ผมคิดถึงความไม่รู้ในตอนนั้น เพราะพอไม่รู้มันก็กล้า อันที่จริงไม่เรียกว่าความกล้า เรียกว่าความโง่ดีกว่า เราโง่กันเยอะมาก ไม่รู้ด้วยนะว่ามันถูกหรือผิด รู้แต่ว่าอันนี้แหละที่เราคิดได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ความไม่รู้อะไรแบบนี้มันไม่มีแล้ว เพราะเราทำงานมาเยอะและพอโตมันก็ยิ่งหายาก

 

เดียว: ผมคิดถึงย้ง (ทุกคนหัวเราะ) เพราะเอาจริงๆ ทุกครั้งที่มารวมตัวผู้กำกับ แฟนฉัน ผมจะนึกในใจว่าย้งจะรู้ไหมนะว่าเรามารวมตัวกัน แล้วย้งจะได้อ่านไหม ได้เห็นไหม คือทุกวันนี้เวลาที่ทำอะไรเกี่ยวกับ แฟนฉัน จะรู้สึกว่าคิดถึงย้ง เพราะว่าด้วยภารกิจเขาก็จะไม่ได้ว่างมาร่วมทำกิจกรรมกับเรา หรือแม้กระทั่งวันที่จะฉายรอบกาล่า ย้งก็อาจจะมาได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่รู้ เพราะภารกิจเขาเยอะ เราก็จะคิดอยู่ตลอดว่า มันจะไม่ครบจริงๆ เหรอวะ ส่วนตัวคือคิดอยู่แค่นี้ ก็เลยอยากฝากความคิดถึงนี้ไปถึงย้ง (หัวเราะ)

 

บอล: นึกถึงช่วงเวลาที่ถ่ายทำ อย่างล่าสุดที่ต้องไปทำรีมาสเตอร์ก็ได้กลับไปนั่งดูในจอใหญ่ แต่ละซีน แต่ละช็อต คือพอ 20 ปีผ่านไป การได้นั่งดูก็จะ อ๋อ ใครอยู่ตรงไหน คนนี้คือใคร เราไปดีลชาวบ้านแถวนั้นมาเล่นหรือเปล่า อะไรทำนองนั้น 

 

 

การที่มีเครดิตเป็นผู้กำกับ แฟนฉัน ต่อท้ายเหมือนนามสกุล มันเคยมีความกดดันบ้างไหม

 

ปิ๊ง: โดยส่วนตัวในฐานะคนดูหนังไม่ได้ชอบไอเดียการอ้างอิงแบบนี้ เพราะสมมติถ้าเราเป็นคนดูแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นี้ เราจะมีความรู้สึกว่าแล้วไง เราสนใจที่ตัวหนังมากกว่า แต่ด้วยความที่ประสบการณ์น้อยและไม่รู้ก็เลยเชื่อมั่นในคนโปรโมตหรือคนที่เขาทำการตลาด อีกอย่างมันไม่ใช่เงินเราก็เลยไม่ได้อะไร

 

ต้น: ผมว่าคำว่า ‘หนึ่งในผู้กำกับ แฟนฉัน’ มันเป็นคำที่เอาไว้ใช้ในการทำการตลาดส่วนหนึ่ง แต่ว่าในส่วนงานเองอย่างที่ผมบอกว่า แฟนฉัน เป็นงานกลุ่ม พอเป็นงานกลุ่มแล้วผมว่าเราไปเอาเครดิตงานกลุ่มมาใช้เพื่อตัวเองมันไม่ได้อยู่แล้ว งานนั้นมันพิเศษ สำหรับผมพอมาเริ่มทำหนังเดี่ยวก็เหมือนนับหนึ่งใหม่อยู่ดี

 

เอส: กดดันไหมเหรอ? ไม่ได้คิดเลยนะ สำหรับผมส่วนตัวตอนทำ เพื่อนสนิท (2548) ผมชอบหนังสือเล่มนี้มานานมากตั้งแต่ตอนเรียน พอมันพ้น แฟนฉัน ไปสักระยะหนึ่ง หลังจากไปทำนู่นทำนี่จนมันซาไป ทุกคนก็เริ่มงานของตัวเอง แล้วพอเริ่มของตัวเองก็ไม่ได้คิดหรอกว่า เอส แฟนฉัน มันจะมีผลอะไร คือแค่เอาอันนี้ให้รอดก็โอเคแล้ว สำหรับผมนะ ผลมันมีแค่หนึ่งปีหลังจากหนังฉาย

 

 

เดียว: ผมไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะหลังจากนั้นไม่ได้ทำหนัง เพียงแต่ผมเข้าใจว่ามันก็เป็นการง่ายกับคนอื่นๆ ที่อยากจะทำความรู้จักเรา ผมอยู่ตั้งแต่ในยุคที่ เดียว แฟนฉัน แล้วทุกคน “อ๋อ” จนทุกวันนี้พอบอก เดียว แฟนฉัน ทุกคน “อืม” เพราะว่าทำหนังอยู่เรื่องเดียว จนหลังๆ เราเริ่มอายไง แบบพี่อย่าเลย หนังมันก็นานมากแล้ว 

 

แต่มารีมาสเตอร์นี่ก็ดีเหมือนกันนะ พอมาเคลมว่าผู้กำกับ แฟนฉัน เขาดูจะสนใจมากขึ้น (หัวเราะ) แต่ก็อย่างที่คนอื่นๆ บอกแหละว่า สุดท้ายแล้วมันคืออดีตที่เราไม่ได้อยากจะไปอ้างอิง หรือยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งนั้นมาเป็นคุณสมบัติของตัวเราเท่าไร เพราะจริงๆ นี่มัน 20 ปีแล้ว ผมว่าทุกคนก็มีงานของตัวเอง มีอะไรที่เป็นตัวตนของตัวเองมากขึ้น มันเลยเป็นเหมือนเครดิตที่ดีอันหนึ่งมากกว่า

 

บอล: ผมว่ามันเป็นเรื่องเดียวกับการที่ผมตอบคำถามเป็นคนสุดท้ายตลอดเวลาเหมือนกัน (ทุกคนหัวเราะ) ผมคือคนสุดท้ายที่ใช้ชื่อ ผลงานโดย ‘หนึ่งในผู้กำกับ แฟนฉัน’ เพราะว่ามีงานเดี่ยวเป็นเรื่องสุดท้าย

 

ตอนเสร็จ แฟนฉัน ก็รู้สึกว่าอยากจะกลับไปอยู่บ้านแล้วค่อยๆ นึกเรื่อง เพราะไม่ได้มีเรื่องที่อยากทำเป็นพิเศษขนาดนั้น ก็เลยใช้ชีวิตอยู่จนเพื่อนเริ่มทยอยออกกองถ่าย เราถึงเริ่มคิดว่า เอ๊ะ! หรือต้องทำแล้ววะ ก็เลยกลายเป็นหนังเรื่องสุดท้ายในฐานะงานเดี่ยวชิ้นแรกของ 6 ผู้กำกับ แฟนฉัน ถ้าไม่นับเดียว เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของการตลาด ถ้าไม่ใช้คำว่า ‘หนึ่งในผู้กำกับ แฟนฉัน’ เขียนแค่ชื่อจริงคนอาจจะงงว่ามันคือใคร

 

 

หากมอง แฟนฉัน จากประสบการณ์ในวันนี้ หนังทำงานกับพวกคุณเหมือนเดิมไหม

 

ปิ๊ง: มันมองด้วยสายตาไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว อย่างช่วงนี้เริ่มมีหนังตัวอย่างปล่อยออกมาเลยได้เห็น หรือตอนที่ไปนั่งดูซับไตเติลมันเป็นความรู้สึกที่ Nostalgia ใน Nostalgia เพราะตอนเราทำหนังคือ เราเล่าประสบการณ์ 20 ปีที่แล้วตอนที่เราเป็นเด็กออกมา แต่ตอนนี้เรากำลังมอง 20 ปีที่แล้วที่เราทำงาน มันเลยเป็นความคิดถึงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนเดิมเลย 

 

อย่างตอนที่ไปดูซับไตเติล เราก็คิดว่าสมัยนั้นเพลงมันไม่มีเลย ทำไมมันเงียบอย่างนี้ คือยุคนี้ไม่มีทางผ่านเลยคัตติ้งหรือมู้ดแบบนี้ เพราะมันเงียบไปหมด สมัยนี้เพลงต้องเยอะ แต่สมัยนั้นมันไม่มีเลย ซึ่ง 20 ปีที่แล้วเราไม่ได้มีความรู้สึกหรือความคิดอะไรแบบนี้ เราก็แค่มีความสุขกับผลลัพธ์ที่มันออกมา

 

ต้น: สมัยแรกๆ ที่ แฟนฉัน ฉาย สำหรับผมในฐานะคนตัด ผมดูฟุตเทจเป็นร้อยๆ รอบ ทุกครั้งเวลาดูความทรงจำมันเลยเป็นภาพในการทำงานซะเป็นส่วนใหญ่ วันแรกๆ ที่ดูแต่ละครั้งมันจะเหมือนว่าวันนั้นเราทำอะไรไปบ้าง ความทรงจำสำหรับผมตอนแรกๆ เลยเห็นเป็นการทำงาน

 

แต่ว่าวันนี้พอกลับมาดูใหม่ ผมรู้สึกเหมือนเจอเพื่อนเก่า ความรู้สึกมันเลยเหมือนถวิลหาอดีต ได้คิดถึงเพื่อนจริงๆ ส่วนหนึ่งคงเพราะลืมๆ ไปแล้วด้วยว่าวันนั้นทำอะไรไปบ้าง ภาพในการทำงานมันเลยเป็นเหมือนแค่ความทรงจำ การได้ดูหนัง แฟนฉัน อีกครั้งเลยรู้สึกว่าเป็นความสุขที่ได้ดูเรื่องราวของตัวละครพวกนี้มากกว่าการเป็นคนทำไปแล้ว

 

 

เอส: สำหรับผมมันทำงานคล้ายๆ เดิม เพราะเป็นคนทำ และคล้ายๆ ต้นด้วยว่าตอนดูไปเรื่อยๆ มันจะมีบางจังหวะที่ผุดขึ้นมาว่าเราทำอะไรในตอนนั้น เรื่องพวกนี้มันอดนึกถึงไม่ได้ เพราะว่าทุกคัตในหนังเราอยู่ตรงนั้นตลอด หลังๆ อาจจะเริ่มมีลืมบ้างว่ามันต่อด้วยอะไร 

 

แต่ก็มีจุดจุดหนึ่งที่อยู่ในเบื้องหลังแล้วจำได้แม่นเลยคือตอนที่ มาโนช (หยก ธีรนิตยาธาร) พูดว่า “เจี๊ยบ ไปให้ทันนะ” เพราะแต่เดิมคำพูดนี้ไม่มีในบท แต่ตอนที่ไปถ่ายกันพอมันหยุดปุ๊บแล้วเจี๊ยบวิ่ง เรารู้สึกกันว่าต้องมีอะไรส่ง ผมก็เลยให้มาโนชตะโกนว่า “เจี๊ยบ ไปให้ทันนะ” เพราะมันไม่เคยพูดทั้งเรื่อง เลยรู้สึกว่าต้องฮาแน่ 

 

แต่พอเล่นจริงซึ้งเฉย แล้วตอนไปบอกหยกว่าเดี๋ยวพูดคำนี้นะ น้องมันก็บอกผมว่า พูดด้วยเหรอพี่ (หัวเราะ) เพราะอย่างนั้น แฟนฉัน เลยทำงานกับผมมาตลอด ถ้าดูก็คือไม่หลุดไปถึงเบื้องหลัง ยกเว้นอันนี้หลุดตลอดเลย เพราะว่าจำได้ แล้วมันดีมากสำหรับผม

 

เดียว: ผมยังมีมาร์กที่โดนอยู่คือ มาร์กเจี๊ยบกับเพื่อนอยู่บนซาเล้งไล่รถน้อยหน่า ซึ่งมาร์กนี้จำได้ว่าตอนดูหนังเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อันนี้คือจุดเริ่มต้นของน้ำตาเลย ดูกี่ครั้งก็ยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ได้เพิ่มเติมคือซีนฟุตบอล ที่พอกลับมาดูอีกครั้งแล้วรู้สึกว่าเมจิกว่ะ เราทำอย่างไรนะให้เด็กมันเตะฟุตบอลแล้วดูน่าเชื่อ ทั้งคอเมดี้ ทั้งจังหวะ ซึ่งในตอนนั้นไม่ได้รู้สึกอะไรกับมันเท่าไร แต่พอกลับมาดูก็รู้สึกว่า โห ซีนนี้มันดีจัง

 

บอล: ล่าสุดผมดูยาวๆ พอถึงตำแหน่งตอนท้ายๆ มาร์กที่เคยบอกคนทำเพลงว่าผมมีมาร์กประจำตัว อันอื่นไม่ได้ไม่เป็นไร มาร์กอันนี้พอมาดูอีกทีก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม ผมเลยได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า การกลับมาฉายอีกรอบก็พบว่าคนดูที่เราควรสื่อสารที่สุดคือคนที่เคยดูมันในโรงแล้วเติบโตขึ้นมา ผมว่าคนเหล่านั้นมากกว่าที่เหมือนได้กลับมาฉลองร่วมกันอีกครั้ง

 

 

มีอะไรอยากฝากไปถึงคนที่ติดตามการกลับมาของ แฟนฉัน ในรอบ 20 ปีบ้าง

 

ปิ๊ง: Have fun ครับ อยากให้มาดูกันสำหรับคนที่ไม่เคยดู ส่วนคนที่ดูแล้ว คิดถึงก็มาดู

 

ต้น: ผมยังนึกถึงวันแรกที่หนังฉายเมื่อ 20 ปีก่อน คือมันเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อนจริงๆ และผมก็หวังว่าการกลับมาฉายใหม่จะทำให้เพื่อนได้โทรหาเพื่อนอีกครั้ง

 

เอส: ผมอยากให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกหรือพาหลานมาดู คุณพ่อคุณแม่คงเคยดูอยู่แล้วล่ะ แต่อยากให้เขาสังเกตลูกว่ารู้สึกอย่างไรกับการดูหนังเรื่องนี้และมาคุยกัน

 

เดียว: ผมคาดหวังมาก (ทุกคนหัวเราะ) เพราะว่ามันเป็นงานที่มีความหมายกับเรามาก แน่นอนว่าเราอยากให้สิ่งนี้มันคงอยู่เพื่อให้คนรุ่นหลังยังได้เห็น ได้รู้จักมัน ส่วนชอบไม่ชอบก็ค่อยว่ากัน แต่ว่าผ่านมา 20 ปี จริงๆ ระหว่างทางเราไม่ได้ใส่ใจกับมันมากหรอก แต่พอมีคนตั้งคำถามว่าทำอะไรกับมันหน่อยไหม แล้วกลับมาคิดจริงๆ เราถึงได้รู้ว่าถ้าไม่ทำครั้งนี้คนไทยก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นหนังเรื่องนี้อีกเลยในโรงภาพยนตร์

 

บอล: ผมอยากให้คนที่ทันช่วงเวลานั้นได้กลับมาดูอีกที ผมไม่สนใจฟีดแบ็กเลยว่าเขาจะหัวเราะเหมือนเดิม หรือเขาจะน้ำตาไหลหรือเปล่า ผมแค่อยากเห็นคนดูในช่วงเวลานั้นได้กลับมาใช้เวลาร่วมกับหนังเรื่องนี้อีกครั้ง 

 

แฟนฉัน REMASTERED IN 4K เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

สารคดี REMEMBERING FANCHAN แด่ความทรงจำสีจาง เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ เฉพาะโรงภาพยนตร์ House Samyan

 

รับชมตัวอย่าง แฟนฉัน REMASTERED IN 4K ได้ที่: youtu.be/M_46VlMcicA

 

 

 

 

รับชมตัวอย่างสารคดี REMEMBERING FANCHAN แด่ความทรงจำสีจาง ได้ที่: youtu.be/uL-KmUbbtLY

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X