×

นักวิชาการมองฮามาสจู่โจมอิสราเอล หวังเป็น ‘สงครามสปอตไลต์’ ให้ประชาคมโลกหันมาเห็นจุดเริ่มต้นปัญหา

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2023
  • LOADING...
อิสราเอล-ฮามาส

วานนี้ (9 ตุลาคม) ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW เกี่ยวกับการวิเคราะห์ปมความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสว่า ครั้งนี้ประเมินสถานการณ์ได้ยากมาก เนื่องจากทางอิสราเอลก็ส่งสัญญาณชัดว่าครั้งนี้คือสงคราม ทางฮามาสเองก็บอกว่าครั้งนี้คือปฏิบัติการครั้งประวัติศาสตร์ ถ้าเราดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายครั้งของการปะทะ คือการหยุดยิงจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดความเสียหายแบบหนักหน่วง ซึ่งจะต้องเกิดความสูญเสียก่อนที่จะหยุด อาจมองว่าไม่กี่วันก็จบ เพราะโจมตีครั้งแรกก็หนักเลย แต่โอกาสยืดเยื้อก็มีสูงมาก ความไม่แน่นอนสูงมากเช่นกัน 

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวอีกว่า เวลาที่เราตีความหมายของปฏิบัติการในแต่ละครั้งจะมีชื่อรหัสซ่อนอยู่ ซึ่งครั้งนี้คือพายุแห่งมัสยิดอัลอักซอ โดยสาเหตุหลักคือ มัสยิดอัลอักซอเป็นศาสนสถานที่สำคัญลำดับที่ 3 ของโลกมุสลิม ที่ผ่านมากลุ่มฮามาสพยายามที่จะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้คือเส้นตายที่ไม่ควรแตะ ก็จะไม่ยอมในประเด็นนี้ วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ฮามาสเปิดปฏิบัติการตั้งแต่เช้าตรู่ แต่พัฒนาการก่อนหน้านั้นเราเริ่มเห็นสัญญาณอันตรายตั้งแต่วันที่ 5-6 ตุลาคมที่ผ่านมา 

 

เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงวันหยุดของชาวอิสราเอล ก็จะมีชาวยิวกลุ่มหนึ่งที่มีชาตินิยมขวาจัดเหมือนกับทางรัฐบาลของอิสราเอลชุดปัจจุบันที่มีความขวาจัด ซึ่งเข้าไปแสวงบุญประกอบพิธีทางศาสนาในมัสยิด โดยมีกองกำลังของอิสราเอลตรึงกำลังอยู่ และอีกฝั่งก็มีชาวปาเลสไตน์อยู่ตรงนั้น ประเด็นคือมัสยิดอัลอักซอ ตามข้อตกลงต่างๆ แล้ว เป็นสถานที่ของปาเลสไตน์สำหรับมุสลิมที่จะเข้าไปปฏิบัติพิธีทางศาสนา ถ้าเป็นคนนอกสามารถให้เข้าไปได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าไปประกอบพิธีทางศาสนา 

 

สำหรับกลุ่มฮามาสมันจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำมาสู่การโจมตี แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งคือการที่อิสราเอลเคยปฏิบัติการเข้าไปในเวสต์แบงก์ ถล่มเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยและมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้น ซึ่งทำให้กลุ่มฮามาสเห็นว่าอิสราเอลทำรุนแรงเกินไป และอีกเหตุการณ์คือการที่ซาอุดีอาระเบียไปปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล ซึ่งตรงนี้จะทำให้กลุ่มฮามาสมองว่าหากซาอุดีอาระเบียจับมือกับอิสราเอล เมื่อนั้นปัญหาของปาเลสไตน์อาจถูกมองข้ามและลดความสำคัญลงไป 

 

หากย้อนกลับไปในยุค 1973 ที่เกิดสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นวันที่ 6 ตุลาคม พอมาวันนี้เป็นวันครบรอบ 50 ปี ฮามาสโจมตีอิสราเอล 1 วันถัดจากวันครบรอบ หลังจากนั้นมีการทำข้อตกลงกัน แต่ถูกปล่อยปละละเลยจนมาถึงปัจจุบัน 

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ ยังมองว่าการจับคนเป็นตัวประกันเป็นประโยชน์ในการต่อรอง รวมถึงการจับกุมทหารอิสราเอลด้วย ซึ่งเป็นข้อต่อรองกับอิสราเอลให้ปล่อยทหารของปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอิสราเอล การเจรจาหาทางช่วยกลุ่มคนไทยที่ถูกจับตัวนั้นต้องเจรจากับปาเลสไตน์โดยตรง เพราะเรามีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ด้วย อาจยากหน่อยถ้าอิสราเอลยื่นเงื่อนไขให้กับประเทศต่างๆ ว่า หน้าที่ของการเจรจาปล่อยตัวประกัน ทางอิสราเอลจะดำเนินการเอง เพราะแรงงานไทยของเราจะถูกไปรวมกับทหารของอิสราเอลที่ถูกจับไปในการใช้ต่อรอง แต่หากต่อรองโดยตรง แยกคนของเราออกมาน่าจะง่ายกว่า

 

“สำหรับกลุ่มฮามาสต้องการทำให้ประชาคมโลกหันมาสนใจประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ คือทำปฏิบัติการสงครามสปอตไลต์ แล้วจะนำไปพูดคุยกันในเวทีสหประชาชาติ ที่มองเห็นถึงจังหวะเวลาของโลกที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอำนาจ และมหาอำนาจ ที่จีนและรัสเซียผงาดขึ้นมา ถ้าเรื่องนี้ถูกหยิบยกเข้าไปคุยก็จะเกิดการต่อรองกัน เพื่อหาทางออกสำหรับการตั้งรับปาเลสไตน์อย่างไร ตอนนี้สิ่งที่ฮามาสทำได้คือการต่อสู้เพื่อให้โลกสนใจ ส่วนสิ่งที่อิสราเอลต้องการคืออยู่อย่างนี้ รักษาความเป็นรัฐที่มีอธิปไตยเป็นของตัวเอง ซึ่งปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอล” ผศ.ดร.มาโนชญ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X