THE STANDARD พาไปรู้จักตัวแสดงสำคัญในการสู้รบระลอกใหม่ระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์ ภายหลังจากที่กลุ่มฮามาสได้เปิดฉากโจมตีใส่หลายพื้นที่ของอิสราเอล โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศ ใกล้กับฉนวนกาซา ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการสู้รบที่ยกระดับความขัดแย้งของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี
ตัวแสดงสำคัญของฝ่ายปาเลสไตน์ ได้แก่ กลุ่มกองกำลังติดอาวุธฮามาส (Hamas) ที่ปฏิบัติการและเดินหน้าปลดปล่อยปาเลสไตน์มานานร่วมหลายทศวรรษ โดยมี อิสมาอิล ฮานิเยห์ เป็นผู้นำอาวุโสของกลุ่มฮามาส ตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้นำกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับ ยาห์ยะ ซินวาร์ ผู้นำคนสำคัญอีกคนของกลุ่มฮามาสให้มารับช่วงต่อในเขตพื้นที่ดังกล่าว
โดยกลุ่มฮามาสได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ (PIJ) หนึ่งในตัวแสดงที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มก่อการร้ายในสายตาของรัฐบาลประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจาก กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอนด้วยเช่นกัน ซึ่งต่างมองว่าการโจมตีของฮามาสเป็นการตอบโต้อิสราเอลที่ยึดครองและโจมตีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของปาเลสไตน์ โดยฮิซบอลเลาะห์พร้อมที่จะช่วยเหลือกลุ่มฮามาสในการสู้รบระลอกใหม่นี้
พันธมิตรสำคัญของกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์คือ อยาตอลเลาะห์ อาลี ฮอสเซนี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ที่ได้ออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ในขณะที่ผู้นำประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางต่างแสดงความกังวลต่อประเด็นการสู้รบที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและร่วมประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันและความบอบช้ำที่อิสราเอลเคยกระทำไว้ต่อชาวปาเลสไตน์
ทางด้านฝ่ายอิสราเอลมีกองทัพอิสราเอลเป็นกำลังหลัก ภายใต้การนำของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และ ไอแซก เฮอร์ซ็อก ประธานาธิบดีอิสราเอล ที่เบื้องต้นได้ประกาศให้อิสราเอลเข้าสู่ภาวะสงคราม และเปิดฉากปฏิบัติการตอบโต้ทางการทหารด้วยการโจมตีทางอากาศใส่พื้นที่ของฉนวนกาซาและหลายจุดสู้รบภาคพื้นดินที่กลุ่มฮามาสส่งสมาชิกเข้ามาแทรกซึมในอิสราเอล
พันธมิตรที่สำคัญและใกล้ชิดอิสราเอลที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา โดยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า “สหรัฐฯ ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล เราจะหนุนหลังพวกเขาอย่างแน่นอน” ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เน้นย้ำว่า “กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าอิสราเอลมีสิ่งที่จำเป็นในการปกป้องตนเองและปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการก่อการร้ายตามอำเภอใจ”
ขณะที่บรรดาผู้นำประเทศและผู้นำองค์การระหว่างประเทศในแถบยุโรปต่างร่วมประณาม ‘เหตุก่อการร้าย’ ของกลุ่มฮามาสที่โจมตีอิสราเอลในครั้งนี้ โดยโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า “เยอรมนีขอประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาส และขอยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล” ด้านอัวซูลาร์ ฟอน แด ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ก็ได้โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter) ว่า การโจมตีของกลุ่มฮามาส “เป็นการก่อการร้ายในรูปแบบที่เลวทรามและน่ารังเกียจที่สุด” และ “อิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองจากการโจมตีที่ชั่วร้ายเช่นนี้”
โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการสู้รบในครั้งนี้อาจยืดเยื้อยาวนานและขยายตัวเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น หากตัวแสดงอื่นๆ กระโดดเข้าไปในสมรภูมิการสู้รบในครั้งนี้
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2023/10/7/we-are-at-war-reactions-to-palestinian-hamas-surprise-attack-in-israel?
- https://www.cnbc.com/2023/10/07/biden-macron-others-voice-support-for-israel-after-hamas-attack.html?
- https://www.lemonde.fr/en/international/article/2023/10/07/hamas-launches-large-scale-attack-against-israel_6155096_4.html#