ภาวะการลงทุนในเดือนกันยายนยังคงผันผวนต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวสูงขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากมุมมองที่เปลี่ยนไปของ Fed และความกังวลที่มีต่อการเจรจาเรื่องงบประมาณของสหรัฐฯ ที่อาจจะทำให้ไม่ทันปีงบประมาณและเกิดเหตุการณ์ที่อาจจะต้องปิดหน่วยงานรัฐบาลดังที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยปรับขึ้นอีก 47 bps และทำจุดสูงสุดนับแต่ปี 2007 จากมุมมองของ Fed คือ ‘Higher for Longer’ หรือยืนอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงให้นาน แปลความได้ว่าอาจจะยืนดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่า 2 ไตรมาสติดต่อกัน และยังเปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมที่เหลืออีก 2 รอบของปี ทำให้ Fed Fund Rate จะไปถึง 5.6% อีกปัจจัยคือเรื่องเจรจาการใช้งบประมาณของสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าจะมีการต่ออายุชั่วคราว แต่ก็ยังสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่หน่วยงานราชการต้องปิดตัวลง ‘US Government Shutdown’ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อาจจะสร้างความล่าช้าในการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ก็อาจจะถูกปรับลดลงได้
ภาพการลงทุน ดัชนี MSCI ACWI เดือนกันยายน ปรับตัวลงจากเดือนก่อน 4.12% โดยดัชนีรายภูมิภาคต่างปรับตัวลงจากเดือนก่อนเช่นเดียวกัน ได้แก่ ดัชนี MSCI Asia ex Japan ลดลง 3.09%, MSCI Europe ลดลง 3.99% และ MSCI USA ลดลง 4.86% ด้านตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 20 bps เป็น 5.06% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 47 bps เป็น 4.57% ส่งผลให้ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2-10 ปี แคบลงเป็น -78 bps จากเดือนก่อนที่ -48 bps สะท้อนภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ ‘Soft Landing’ และอุปทานพันธบัตรตลาดแรกที่ออกมามากเพื่อรองรับการขาดดุลของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงการที่ Moody’s ขู่จะปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯ จาก AAA ด้วยหากสหรัฐฯ ไม่สามารถหลีกเลี่ยง Government Shutdown ได้ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลกับฐานะทางการคลังของสหรัฐฯ ในระยะยาว
ในส่วนราคาทองปรับตัวลงจากเดือนก่อนประมาณ 4% เป็น 1,847 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากค่าเงิน USD แข็งค่า 2.5% เป็น 106.2 และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 9.8% เป็น US$95.38/bbl บนภาวะอุปทานที่ตึงตัวขึ้น หลังซาอุดีอาระเบียตัดสินใจลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปี ความผันผวนส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเดิมๆ ทำให้พอจะคาดการณ์ได้ว่าใกล้สิ้นสุดแล้ว
บรรยากาศการลงทุนในประเทศมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนไม่ต่างจากตลาดการเงินต่างๆ ทั่วโลก โดยตลาดหุ้นไทยในเดือนกันยายนปรับตัวลงประมาณ -6% เป็น 1,471 จุด จากความกังวลที่มีต่อมุมมองของ Fed ที่ยังคงใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงความกังวลว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลเพิ่มขึ้นและกู้เงินจำนวนมากขึ้นเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปี ปรับตัวขึ้น 26 bps เป็น 2.56% และ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 49 bps เป็น 3.26% (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน)
นอกจากนี้นักลงทุนยังกังวลเรื่องความเสี่ยงในการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจสูงมากจนทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทยอีกประมาณ 23,000 ล้านบาท และขายสุทธิตลาดตราสารหนี้ 24,000 ล้านบาท ในเดือนกันยายน การที่เงินทุนไหลออกส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะไปถึงระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในไม่ช้า
การปรับพอร์ตการลงทุนสำหรับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ผมเปิดรับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงของตลาดการเงินในเรื่องของวัฏจักรขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยก็ใกล้จุดสูงสุด การปรับฐานลงของสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้น ก็ปรับตัวลงมาสอดรับกับภาพรวมเศรษฐกิจ
ดังนั้นการปรับพอร์ตรอบนี้ก็จะเพิ่มสัดส่วนของหุ้นขึ้นมา คือปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเป็น 55% โดยปรับเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมกันไม่เกิน 25% ญี่ปุ่นและเวียดนาม รวมกันไม่เกิน 10% ประเทศไทย 20% เหมือนเดิม จะเห็นว่าถึงแม้จะเพิ่มน้ำหนักในหุ้นแต่ก็กระจายความเสี่ยงมากขึ้นด้วยครับ ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% โดยลดตราสารหนี้ระยะสั้นเป็น 15% เพิ่มตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade เป็น 15% ตลาดเงิน 10% ลดน้ำหนักการลงทุนในทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันเป็น 5% โดยเน้นไปที่ REIT