ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับอยุธยาที่กำลังเจอความท้าทาย คือ รถไฟความเร็วสูงกำลังจะเข้ามา ซึ่งเป็นความเจริญที่เข้ามาท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่ามรดกโลก จะไปด้วยกันได้หรือไม่ ควรจะถูกจัดสรรแบบไหน โดยชาญวิทย์กล่าวว่า ความเจริญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นน่าจะไปด้วยกันได้ ตนเชื่อว่าพวกเราจำนวนมากที่มีข้อท้วงติงเกี่ยวกับการที่เอาสถานีรถไฟความเร็วสูงมาครอบทับสถานีเก่า ซึ่งสร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องที่ได้ไม่เท่าเสีย มันไม่คุ้ม
ซึ่งในอยุธยาเมืองใหม่นั้นถูกสร้างไว้ข้างนอกแล้ว ทั้งในเกาะ ในกรุงเก่า แล้วก็บริเวณรอบๆ โดยเฉพาะบริเวณที่เราเรียกว่าอโยธยา คือทางด้านทิศตะวันออกของตัวเกาะ ซึ่งเป็นบริเวณที่สำคัญมากๆ มีอายุมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในช่วงปี 1893 ด้วยซ้ำไป มีอายุก่อนหน้านั้นประมาณ 200 ปี แล้วเป็นบริเวณที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 ทั้งวัดเก่าและวัดใหม่ในยุคนั้นมารวมอยู่ที่นี่
ชาญวิทย์กล่าวอีกว่า ตนคิดว่ายังไม่มีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ไม่มีการสำรวจขุดแต่งอย่างเพียงพอ โดยการที่จะเอารถไฟฟ้าความเร็วสูงมาครอบทับบริเวณนี้ ตนเชื่อว่าสร้างความเสียหายให้มากกว่า เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำให้อยุธยาซึ่งเป็นเมืองที่น่าอยู่ คิดว่าคนไทยควรจะมาดูสักครั้งหนึ่งในชีวิต เหมือนกับคนญี่ปุ่นที่ไปดูเมืองเกียวโต หรือนาระ ก็จะทำให้เราสูญเสียซอฟต์พาวเวอร์ไป จะทำให้ได้ไม่คุ้ม ได้ไม่เท่ากับที่จะเสียไป
“เราไม่ได้บอกว่าเราไม่เอาความเจริญ ผมว่ารถไฟความเร็วสูงกับเมืองเก่ามันอยู่ด้วยกันได้ ถ้าไม่มีรถไฟความเร็วสูง คนญี่ปุ่นจะไปเมืองเกียวโตได้เหรอ แต่จะทำอย่างไรให้ได้มากกว่าเสีย ผมคิดว่าเราจะเอาสถานีรถไฟมาทับอันเก่าของสมัยรัชกาลที่ 5 มันสมควรเหรอ เราไม่ได้บอกว่าไม่เอารถไฟใหม่ แต่ว่ามันไม่ควรจะมาอยู่ตรงนี้ จะสร้างเลยไปหน่อยก็ได้ หรือบริเวณที่เป็นเมืองใหม่ก็ได้” ชาญวิทย์กล่าว