ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า กรณีเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา 2519 หรือแม้แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็เหมือนกับประวัติศาสตร์บาดแผล
เหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมดตนคิดว่าเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล มันเป็นอาชญากรรมที่ผู้ปกครองรัฐกระทำกับเยาวชนคนหนุ่มสาว กระทำต่อประชาชน และตนคิดว่ามันยังไม่มีการรักษาบาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้อย่างแท้จริง เราก็อยู่ๆ กันไปแบบแทบไม่ได้รับรู้อะไร เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
“ถามว่าเหตุการณ์เหล่านี้มันจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เราคงไม่สามารถฟันธงได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก ผมคิดว่ามันต้องพยายามใช้สติปัญญาและใช้ความสามารถในการเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา แล้วหาทางที่จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นอีก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและสำคัญมากสำหรับคนไทยทั่วๆ ไป และสำคัญอย่างมากสำหรับคนที่มีอำนาจ มีบารมี อยู่ในวงการปกครอง” ชาญวิทย์กล่าว
สำหรับการออกมาชุมนุมเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในช่วงปี 2563-2564 นั้น ชาญวิทย์มองว่า ในแง่ของคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน ตนไม่กล้าจะพูดว่ามีอะไรจะฝากหรือสั่งสอนตักเตือนอะไร ตนอายุขนาดนี้ เมื่อประมาณ 60-70 ปีมาแล้ว ตนนึกไม่ถึงว่าเรามีความเขลามากๆ แต่คนปัจจุบันไม่ใช่ การเรียนรู้ในแง่ของการตื่นตัว ความใฝ่หาประสบการณ์ มันเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก ตนนึกไม่ถึงว่าจะได้เห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ตนดีใจและเอาใจช่วย