วันนี้ (5 ตุลาคม) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 6 และวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมคณะตรวจราชการ ซึ่งมีกำหนดการดังนี้
วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 12.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยในเวลา 13.15 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย สั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสถานีตรวจวัดระดับน้ำ (M7) บริเวณเชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อพบปะประชาชน และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยและพบปะประชาชน อำเภอพิบูลมังสาหาร ณ แก่งสะพือ ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
ชัยกล่าวว่า ในวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 10.30 น. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการพบปะประชาชนและมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ บ้านทรายงาม ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จากนั้นในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 14.00 น. นายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมโครงการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ณ สถานีตำรวจภูธรหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
“การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ นายกฯ จะไปติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี-มูล รวมทั้งติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูลยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ สำหรับสถานการณ์น้ำของจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด ขณะนี้ความจุแหล่งน้ำรวมของจังหวัด (ข้อมูล สทนช. วันที่ 3 ตุลาคม 2566) จังหวัดอุบลราชธานี ความจุ 2,225 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบัน 1,971 ล้าน ลบ.ม. (89%) จังหวัดยโสธร ความจุ 119 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบัน 77 ลบ.ม. (65%) และ จังหวัดร้อยเอ็ด ความจุ 2,225 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบัน 823 ลบ.ม. (37%)” ชัยกล่าว