หากจะพูดถึงพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ก็คงยากที่จะไม่เอ่ยถึงสวนลุมพินี ที่ตั้งอยู่ระหว่างจุดตัดของถนน 3 สายที่เชื่อมต่อย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นถนนวิทยุ สาทรเหนือ-ใต้ และพระรามที่ 4 ซึ่งผู้คนที่อาศัยถนนเหล่านี้ในการสัญจรน่าจะได้มีโอกาสผ่านโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่กำลังจะทยอยเปิดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2024
โครงการนั้นมีชื่อว่า ‘One Bangkok’ (วัน แบงค็อก) โครงการอสังหาที่ครบครันใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่ยึดเอา ‘หัวใจ’ ของผู้คนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาโดยกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีและประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับทุกคน วัน แบงค็อก จึงเป็นเมืองที่น่าอยู่และเป็นรากฐานต้นแบบให้กับโครงการอื่นๆ
อุรเสฏฐ นาวานุเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก
อุรเสฏฐ นาวานุเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า “วัน แบงค็อก มีความตั้งใจที่จะสร้างจุดเปลี่ยนเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมในทุกมิติ จึงได้เข้าร่วมสนับสนุนงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยนำเสนอ One Bangkok Immersive Pavilion นิทรรศการในรูปแบบ Immersive Experience ผ่านเทคโนโลยีภาพ แสง สี เสียง เทคนิคพิเศษ สุดตระการตา ในส่วนนิทรรศการของกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ให้ผู้ชมงานได้เห็นภาพจำลองขององค์ประกอบและพื้นที่ต่างๆ ในโครงการได้อย่างชัดเจนสมจริง รวมถึงนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่นำมาใช้กับโครงการ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
โดยภายใน One Bangkok Immersive Pavilion ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการจะได้พบกับเนื้อหาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ความยั่งยืน และประสบการณ์สุดพิเศษที่ประกอบรวมกันเป็นโครงการ วัน แบงค็อก ได้อย่างลงตัว
CUP หัวใจของเมือง วัน แบงค็อก
ศูนย์กลางที่เปรียบเสมือนหัวใจของ วัน แบงค็อก อย่าง Central Utility Plant (CUP) อาคารสาธารณูปโภคแบบรวมศูนย์ที่ล้ำสมัย รวบรวมการทำงานทุกระบบไว้แบบครบจบในที่เดียว เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง
โดยมี District Command Center หรือศูนย์บัญชาการกลาง พร้อมเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบควบคุม บริหารจัดการ และทำงานร่วมกันกับแพลตฟอร์ม Smart Estate คู่ขนานกันไปกับระบบ AI ขั้นสูง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้น้ำและพลังงานไฟฟ้าภายในโครงการ พร้อมทั้งระบบเซ็นเซอร์และจุดควบคุมอัจฉริยะกว่า 250,000 จุด กล้องวงจรปิดกว่า 5,000 ตัว ที่สามารถตรวจสอบและบันทึกข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อความปลอดภัยที่เหนือกว่า
บรรยากาศนิทรรศการ One Bangkok Immersive Pavilion
นอกจากนี้ยังมีระบบ Traffic Control ที่คอยรายงานสภาพการจราจรภายในโครงการ และ Smart Pole ที่ให้แสงสว่างควบคู่กับกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในทุกพื้นที่ โดย วัน แบงค็อก เป็นโครงการที่เป็นเลิศทางด้านการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน WiredScore Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจาก WiredScore ตอกย้ำความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้อาคารในการเชื่อมโยงดิจิทัล (Digital Connectivity) ทั้งเชิงกายภาพและทางไซเบอร์
หลัก ‘ความยั่งยืน’ ที่ครอบคลุมไปยังทุกส่วนของโครงการ
ท่ามกลางความตื่นตัวของบริษัทต่างๆ และผู้บริโภคในหลายประเทศ ต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความท้าทายของสังคมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนรวมไปถึงธุรกิจต้องหันมาใส่ใจปัญหาเหล่านี้มากขึ้น
สิ่งที่ วัน แบงค็อก ยึดถือในการพัฒนาโครงการนี้ คือหลัก Sustainable Development ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ทำให้โครงการเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น
- Electric Power Saver ระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง และบริหารจัดการไฟฟ้าให้ใช้งานอย่างคุ้มค่าสูงสุด
- District Cooling System ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- Smart Water Management ระบบบริหารจัดการน้ำแบบหมุนเวียน สามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถลดการใช้น้ำได้มากกว่า 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งน้ำเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในส่วนต่างๆ เช่น ระบบรดน้ำต้นไม้ในโครงการ และระบบชำระล้างสุขภัณฑ์ กระบวนการนี้จึงช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ
- Construction Waste Management โดยตั้งเป้านำขยะจากการก่อสร้างมากกว่า 75% กลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล ด้วยเทคโนโลยีบดย่อยเศษขยะคอนกรีตจากหัวเสาเข็มเพื่อนำไปสร้างผนังอาคาร ช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 5.94 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตก๊าซออกซิเจนจากต้นไม้ 540 ต้น การนำเศษอิฐมวลเบาที่เหลือใช้มาผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงในอุโมงค์ทางลอดเข้าโครงการ เป็นต้น
- Food Waste Management เทคโนโลยีการจัดการเปลี่ยนเศษอาหารเหลือทิ้งให้กลายเป็นปุ๋ย ผ่านเครื่อง Food Waste Composter และการใช้เครื่องบดอัดขยะ (Smart Compactor) ที่ช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บและขนย้ายขยะ ซึ่งช่วยลดขยะได้ถึง 6,700 ตันต่อปี และลดคาร์บอน 12,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณการผลิตก๊าซออกซิเจนจากต้นไม้ 160,000 ต้นต่อปี
“เนื่องจากองค์กรเรามีเป้าหมายชัดเจนกับเรื่อง Net Zero ที่จะต้องทำให้ได้ภายในปี 2050 ฉะนั้นการพัฒนาโครงการต่างๆ จึงจำเป็นต้องสอดคล้องไปกับเป้าหมายนี้ และเราเชื่อว่าผู้บริโภคเองก็ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น” อุรเสฏฐเล่าถึงแรงบันดาลใจในการยึดถือ ‘ความยั่งยืน’ เป็นแกนหลักในการพัฒนาโครงการ
ประสบการณ์ที่เหนือกว่ากับ วัน แบงค็อก
‘คุณภาพชีวิตที่ดีและประสบการณ์ที่แตกต่าง’ ถือเป็นสิ่งที่ วัน แบงค็อก ให้ความสำคัญมาก โครงการจึงมีพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 ไร่ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่โครงการทั้งหมด เพื่อเป็นจุดพักผ่อนใจและสันทนาการกลางเมือง รวมทั้งมีสวนสาธารณะแนวยาว (Linear Park) ขนาดกว้างจากทางเท้าถึงหน้าโครงการถึง 35-45 เมตร อยู่ระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ
นอกจากนี้ยังมีทางเท้าที่สะดวกและกว้างขวาง สามารถเดินเข้าถึงทุกพื้นที่ในโครงการได้เพียง 15 นาที สอดคล้องกับแนวคิด 15-minute Walking City เทรนด์ใหม่ของการพัฒนาเมืองที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ยังมี Art Loop โดยรอบโครงการกว่า 2 กิโลเมตร เชื่อมโยงผลงานศิลปะสาธารณะ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน
ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดนี้ วัน แบงค็อก จึงเป็นเมืองอัจฉริยะที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และมุ่งหน้าสู่การเป็นโครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับ Platinum แห่งแรกในประเทศไทย พร้อมมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร
นอกจากนี้ วัน แบงค็อก ยังจัดเวทีเสวนาพิเศษเตรียมไว้ให้กับทุกคนที่สนใจด้านกรีนสมาร์ทซิตี้ ซึ่งประกอบด้วย
The Future of Sustainability & Smart City Living for Better Community ความยั่งยืนและการใช้ชีวิตในสมาร์ทซิตี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของชุมชน โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้
- วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด
- เรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand)
- เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ตัวแทนกลุ่มผู้รักสิ่งแวดล้อม
ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00-12.00 น. ที่ SX Grand Plenary Hall ชั้น G
Masterplan Design for Smart Sustainable Cities การออกแบบผังเมืองของโครงการอสังหาระดับโลก เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์เมืองที่ยั่งยืน โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้
- วรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก
- นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี
- วรรณพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด
- นิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด
ในวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00-15.00 น. ที่ SX Main Exhibition (Hall 4) ชั้น G
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประสบการณ์และนิยามของชีวิตในเมืองรูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานความยั่งยืน เทคโนโลยี และการออกแบบที่ล้ำสมัย ผ่านมุมมองจาก วัน แบงค็อกในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G Hall 4 โซน Better Community ระหว่างวันที่ 2-8 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น. เข้าชมฟรี ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.onebangkok.com