ผู้ว่า ธปท. ชี้เงินบาทอ่อนแรงกว่าภูมิภาคจากปัจจัยเฉพาะตัว พร้อมดูแลหากผันผวนเกินไป เผยหารือเศรษฐกิจกับนายกฯ เป็นไปด้วยดี แม้มีความเห็นไม่ตรงกันบางเรื่อง แต่ไม่มีความขัดแย้งและทำงานร่วมกันได้
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงสถานการณ์ของค่าเงินบาทที่มีความผันผวนอยู่ที่ 9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค และล่าสุดได้อ่อนค่าผ่านระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้วว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลมาจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักคือการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จะคงดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาด ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจัยนี้ส่งผลต่อทุกสกุลเงินในภูมิภาคเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่เงินบาทมีความผันผวนสูงกว่าสกุลเงินอื่นใน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเฉพาะตัว เช่น ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินหยวนและทองคำที่สูงกว่าภูมิภาค
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี ซึ่งตลาดมองว่าอาจกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ประกอบกับการที่นักลงทุนยังรอความชัดเจนของนโยบายการคลังและการระดมทุนของภาครัฐ
“ในแง่ของความน่ากังวลว่าค่าเงินจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เรายังมองว่าไทยยังมีภูมิคุ้มกันที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดุลบัญชีเดินสะพัดเราปีนี้และปีหน้าน่าจะเกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่เราก็ไม่ได้อยากเห็นความผันผวนที่สูงซึ่งอาจมีผลต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจแบบนี้” เศรษฐพุฒิกล่าว
สำหรับแนวทางในการดูแลค่าเงิน ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า ธปท. จะยังยึดแนวทางที่ไม่ฝืนหรือสวนกระแสกลไกตลาด แต่จะเข้าไปดูแลเมื่อเห็นความผันผวนที่สูงเกินไป โดยเฉพาะหากความผันผวนดังกล่าวไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน โอกาสที่ ธปท. จะเข้าไปดูแลค่าเงินก็จะสูงขึ้น
“นับจากต้นปีเราเห็นเงินทุนไหลออกจากตลาดบอนด์และหุ้นไทยไปแล้ว 8.8 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะโลก อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดไทยเองก็ไม่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาด้วย เช่น นักลงทุนปัจจุบันสนใจหุ้นกลุ่มเทค แต่บ้านเราหุ้นกลุ่มเทคไม่ค่อยมี เมื่อรวมกับการที่ดอกเบี้ยทั่วโลกปรับขึ้นเยอะ ก็ทำให้หุ้นไทยที่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นเน้นมูลค่า จ่ายปันผลเยอะ มีความน่าสนใจลดลง” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. ยังเปิดเผยถึงการเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 ตุลาคม) ว่าทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยกันในหลายเรื่อง และบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ตรงไปตรงมา ซึ่งฝั่ง ธปท. ได้แชร์มุมมองและข้อสังเกตไปหลายเรื่อง และฝั่งนายกฯ ก็ได้ฝากการบ้านกลับมา โดยมีบางเรื่องที่เห็นตรงกันและบางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสองคนสวมหมวกคนละใบ และเชื่อว่าการที่นายกฯ จะมีการนัดคุยกับ ธปท. ในระยะยาวเป็นสิ่งที่ดี
เมื่อถามว่า การเรียกเข้าพบของฯ เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดของ กนง. หรือไม่ เศรษฐพุฒิชี้แจงว่า ไม่เกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ย และยืนยันว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. เป็นตามกรอบ มีคณะกรรมการ กนง. ทั้งภายในและภายนอกร่วมพิจารณา และมีความอิสระในการทำงานและตัดสินใจต่างๆ ชัดเจน ส่วนกรอบการทำงานที่ต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เช่น กรอบเงินเฟ้อ ก็จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมทุกปี
“ธปท. กับรัฐบาลไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ไม่ใช่ Conflict แต่ในบางเรื่องมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะในแบงก์ชาติเองความเห็นของคนข้างในหลายคนก็ไม่ตรงกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าทำงานด้วยกันไม่ได้ ในเคสของนายกฯ ท่านสวมหมวกใบหนึ่ง ผมก็สวมอีกใบ” เศรษฐพุฒิกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท. ยังให้ความเห็นกรณีที่มีรายชื่อของตัวเองปรากฏในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า ขณะนี้ทราบมาว่ามีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว และเร็วๆ นี้จะมีการประชุม ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่ ธปท. จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับหลายหน่วยงานในเรื่องนี้ โดย ธปท. เองก็มีข้อสังเกตและข้อกังวลที่ต้องการสื่อสารในคณะกรรมการนี้