เรียกว่าไม่ปล่อยให้กองเชียร์ต้องลุ้นกันนาน Tesla ประกาศเปิดตัว Model 3 โฉมไมเนอร์เชนจ์ในประเทศไทย หลังจากเปิดตัวในตลาดโลกเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เพียงประมาณหนึ่งเดือนเท่านั้น ถ้าไม่นับรถปิกอัพ นี่คือรถที่ประเทศไทยเปิดตัวในระยะเวลาใกล้เคียงตลาดโลกมากที่สุด
การเปิดตัวดังกล่าวนอกจากจะสร้างความฮือฮาในหมู่สาวกแล้ว ยังสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดรถยนต์เมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ด้วยราคาค่าตัวที่เปิดออกมา 1,599,000 บาท ในรุ่นขับเคลื่อนล้อหลังที่เป็นรุ่นเริ่มต้น ซึ่งบังเอิญว่ามีราคาเท่ากับคู่แข่ง BYD SEAL ที่เปิดตัวก่อนหน้าด้วยราคา 1,320,000-1,599,000 บาท
ตัวเลขดังกล่าวเป็นความตั้งใจหรือไม่ คงไม่มีใครรู้ได้ นอกจากคนตั้งราคา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- BYD SEAL การเปิดตัวที่ทำให้ ‘ตายทั้งตลาด’ ระเบิดนิวเคลียร์ที่พุ่งใส่วงการรถ จนแม้ Toyota Camry และ Honda Accord หรือ Tesla Model 3 ยังต้องกลัว!
- Tesla บุกมาปักหมุดไทย สะเทือนเป้าหมาย ‘ตายทั้งตลาด’!!
- ส่องปรากฏการณ์ EV บนสมรภูมิจีน เมื่อ ‘Mitsubishi’ อาจไม่ใช่แบรนด์เดียวที่ถอนตัวออกจากตลาดแดนมังกร สัญญาใจยุติสงครามราคา 16 แบรนด์ก็ไม่เป็นผล มีผลต่อไทยหรือไม่?
ตามนโยบาย อีลอน มัสก์
หากยังจำกันได้ Tesla Model 3 เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ด้วยราคาเริ่มต้น 1,759,000 บาท ทุกคนบอกว่า ‘ถูกแล้ว’ ซึ่งส่งผลให้บรรดาเกรย์มาร์เก็ตทั้งหลายที่นำ Tesla เข้ามาขายเจ็บตัวกันอย่างหนัก (เพราะราคาขาย 3 ล้านกว่าบาทขึ้นไป ด้วยต้นทุนภาษีนำเข้าที่ไม่ได้จากจีน)
แต่ไม่ทันไร ผ่านมาไม่ถึง 1 ปี Tesla Model 3 Highland ได้สร้างปรากฏการณ์อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวที่ราคาเริ่มต้น 1,599,000 บาท
ใครที่กำลังมอง BYD SEAL เอาไว้ต้องมีหยุดชะงักบ้าง เพราะไม่คาดคิดว่า Tesla จะกล้าตั้งขายที่ราคาระดับนี้
ในเชิงกลยุทธ์ทางการตั้งราคา BYD ย่อมต้องประเมินไว้ก่อนแล้วว่า Tesla จะขายเท่าไร จึงได้ตั้งราคาไว้ต่ำ เปรียบเสมือนการทิ้งระเบิดลงสู่ตลาดรถซีดานทั้งขนาดกลางและคอมแพ็กต์ แต่คงไม่คาดว่า Tesla จะตั้งราคามาชนกันพอดีแบบนี้
ดังนั้น การประกาศราคาของ Tesla จึงเป็นสารท้ารบโดยตรง และเปรียบได้กับระเบิดลูกที่สองที่ส่งไปยังคู่แข่งทั้งตลาด โดยเฉพาะเจ้าตลาดเดิมอย่าง ‘รถญี่ปุ่น’
ตามนโยบายของ อีลอน มัสก์ คือต้องการให้เกิดเครือข่ายการใช้งาน Tesla ที่ครอบคลุม เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างครบวงจร ดังนั้นการขายของ Tesla จะเห็นได้ชัดว่ามุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณของรถมากกว่ากำไรต่อหน่วยที่สูง
ฉะนั้น หาก Honda ยังยืนยันตามประกาศเดิมที่จะขาย Accord ด้วยราคาเริ่มต้นราว 1,530,000 บาท แล้วจะทำอย่างไรให้ขายสู้กับ Tesla และ BYD ได้ การบ้านมหาโหดข้อนี้ต้องตกไปอยู่กับฝ่ายการตลาดอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ขณะที่ Toyota Camry ยังมีเวลาในการปรับกลยุทธ์ด้วยกำหนดการเปิดตัวโฉมใหม่ที่คาดว่าจะมีขึ้นราวปีหน้า ซึ่งจะพอเห็นภาพของการแข่งขันที่ชัดเจน
ไร้แต้มต่อจากรัฐ
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะลืมไปว่า Tesla Model 3 Highland นั้นตั้งราคาโดยที่ไม่มีการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ แต่ในทางตรงกันข้าม BYD SEAL ได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท บวกกับส่วนลดภาษีสรรพสามิตอีก 6% (จาก 8% เหลือ 2%) ดังนั้น หากสิ้นสุดมาตรการหรือไม่สามารถผลิตได้ตามเงื่อนไขของรัฐ ส่วนลดเหล่านี้จะหายไป ทำให้ราคาขยับสูงขึ้นอย่างแน่นอน
เราไม่ได้บอกว่าใครขายถูกหรือใครขายแพง แต่เรากำลังชี้ให้เห็นถึงส่วนต่างที่ซ่อนอยู่ในราคา และเตรียมรับมือกับกลยุทธ์ ทั้งการปรับเปลี่ยนราคาและแคมเปญที่ค่ายรถยนต์จำเป็นต้องนำมาใช้เพื่อสร้างยอดขายให้ตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นคงไม่ยอมถอดใจถอยจากตลาดนี้ง่ายๆ แต่จะสู้อย่างไรนั้นต้องจับตาดู
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมอีกว่า เร็วๆ นี้อีกหนึ่งแบรนด์คู่แข่งจากจีนกำลังจ่อคิวเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ Changan Automobile ที่จะทำตลาด Deepal SL03 รถไฟฟ้าแบบซีดานในคลาสเดียวกันนี้ ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเปิดราคาต่ำกว่าคู่แข่งในตลาดอีกด้วย
โดยมีการจองพื้นที่จัดแสดงในงาน Motor Expo ช่วงปลายปีนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้มาแค่โชว์เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะพร้อมขายทันที หลังจากที่ได้รับอนุมัติแผนการลงทุนในไทยมูลค่า 9.8 พันล้านบาทเรียบร้อย
ฉะนั้น ตลาดรถยนต์ซีดานในห้วงเวลานี้ ไม่ว่าแบรนด์ใดเข้ามาก็ตาม ประโยชน์จะตกแก่ผู้บริโภคเต็มๆ ถ้าไม่รีบเราอาจได้เห็นระเบิดลูกที่สามอีกก็เป็นไปได้ ถึงเวลานั้นค่อยควักกระสุนของเราออกมาก็ยังไม่สายเกินไป