×

งบ 6 พันล้านของ กสทช. ยังไม่มากพอให้ทำ SMS Emergency Alert?

04.10.2023
  • LOADING...
SMS Emergency Alert

ในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีงบประมาณมากถึง 6,271,250,400 บาท 

 

แม้เราจะเห็นว่างบประมาณของ กสทช. มีจำนวนมหาศาลมากกว่าหลายกระทรวง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ถึงอย่างนั้น ก็อาจยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาระบบที่ประชาชนมักพูดถึงและให้ความสนใจอยู่เสมอกับเรื่อง SMS แจ้งเตือน หรือเซลล์บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) 

 

เซลล์บรอดแคสต์คือระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในครั้งเดียว โดยจะแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์อย่างการก่อจลาจลหรือการกราดยิง ที่จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่เคยได้รับแจ้งเตือนเหตุการณ์เหล่านี้เลย

 

ขณะเดียวกัน การทำงานที่ผ่านๆ มาสร้างความจดจำให้กับผู้คน ทั้งประเด็นการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค, การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ใช้เงินไปกว่า 600 ล้านบาท, ข้อสังเกตที่ว่าประธาน กสทช. ใช้เวลากว่า 25% ของเวลาทำงานทั้งหมด บินไปดูงานที่ต่างประเทศ รวมถึงจดหมายจากคนทำงานในองค์กรที่ขอให้นักการเมืองช่วยตรวจสอบงบประมาณที่ผิดปกติ ยิ่งทำให้สื่อมวลชนรายงานความเคลื่อนไหวของ กสทช. บ่อยขึ้น 

 

นอกจากนี้ยังมีคำถามที่ว่า ประธาน กสทช. และคณะกรรมการ กสทช. มีเงินเดือนจากการทำงานมากเท่าไร พวกเขาเดินทางไปไหนบ้าง งบประมาณมหาศาลที่ กสทช. ได้มาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับเรื่องใด ทำไมเราถึงยังไม่มี SMS แจ้งเตือนภัยพิบัติ แจ้งเตือนเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ไม่มีการป้องกันมิจฉาชีพที่โทรมาก่อกวนแทบทุกวัน ปัญหานี้ติดขัดเพราะอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นความผิดปกติด้านการจัดสรรงบประมาณได้แล้วหรือยัง? 

 

แก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ และ SMS แจ้งเตือนเหตุร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง 

 

เมื่อพูดถึงเซลล์บรอดแคสต์ ตอนนี้หลายชาติมีการใช้ระบบแจ้งเตือนดังกล่าวกันแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีการคุ้มครองประชาชนในทำนองนี้ ซึ่ง กสทช. เคยระบุว่า เวลานี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ติดขัดเพราะขาดงบประมาณ 

 

ไม่เพียงเท่านี้ กสทช. ยังระบุว่า ที่ทำไม่ได้เพราะติดประเด็นผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถอัปเดตฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่รองรับระบบนี้ได้ จนทำให้นักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนตั้งคำถามต่อว่า กสทช. ไม่มีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องตอบสนองต่อมาตรการนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วหรือ

 

ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน กสทช. เคยแจ้งว่า การแจ้งเตือน SMS แบบทั่วไปจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปี 2565 แต่จนถึงตอนนี้หลายพื้นที่เกิดเหตุการณ์ที่ควรจะส่ง SMS เช่น วิกฤตค่าฝุ่นในภาคเหนือที่พุ่งสูงเกินมาตรฐาน แต่คนในพื้นที่ก็ไม่เคยได้รับข้อความที่ว่านี้เลย

 

สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงต่อสภาว่า องค์กรมีหน่วยงานที่กำลังศึกษาเรื่องนี้ รู้ดีว่าการทำเซลล์บรอดแคสต์จะสร้างประโยชน์แก่ประชาชน แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำ และส่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้จัดทำ ซึ่งใน 2 ส่วนนี้ กสทช. ไม่ได้มีอำนาจในการส่งข้อความ เพราะหน่วยงานที่ต้องส่งข้อมูลเตือนภัยมีตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปจนถึงกรมควบคุมมลพิษ 

 

“กรณีของต่างประเทศก็จะต้องมีการมาพูดคุยกันก่อนว่าระดับไหนควรต้องแจ้งเตือน ไม่ใช่เห็นปุ๊บเตือน กลายเป็นสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมไปเลย ประชาชนแทนที่จะได้ประโยชน์ กลับไม่ได้ประโยชน์”

 

ส่วนอีกปัญหาหนึ่งก็คืองบประมาณ ซึ่งสุทธิศักดิ์ตอบเพียงแค่ว่า “ก็เชื่อว่าจะมี” 

 

นอกเหนือจากเซลล์บรอดแคสต์ การจัดการกับเบอร์มิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ เป็นสิ่งที่สังคมอยากรู้ เพราะบางครั้งมิจฉาชีพก็แอบอ้างว่าเป็นคนจาก กสทช. เสียด้วยซ้ำ 

 

ในเรื่องนี้ รองเลขาธิการ กสทช. แสดงความคิดเห็นว่า เหมือน กสทช. เป็นจำเลย ถึง กสทช. เป็นผู้ออกใบอนุญาตสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมีทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง ในกรณีที่อินเทอร์เน็ตช้าหรือมีปัญหา กสทช. ผิดและเป็นผู้รับเต็มๆ แต่สำหรับประเด็นนี้ จะว่าเป็นความรับผิดชอบของ กสทช. ทั้งหมดก็คงจะไม่ได้ 

 

กสทช. พยายามบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งแบงก์ชาติกับตำรวจที่จัดการเรื่องการเงินและการตามจับผู้ใช้เทคโนโลยีในแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต หากเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ว่าเบอร์โทรศัพท์จำนวนหนึ่งเป็นมิจฉาชีพแล้วแจ้งกลับมาที่ กสทช. ทางสำนักงานก็จะบล็อกให้ทันที แต่ กสทช. ไม่ได้มีสิทธิไปกำกับผู้ใช้งานที่ไม่ดีเหล่านั้น และการควบคุมป้องกันที่เป็นแบบเรียลไทม์ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากต้องลงทุนสร้างแพลตฟอร์ม แต่ตอนนี้จะพยายามทำมาตรการใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันบริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน มีผู้คนจำนวนมากวิ่งหนีออกจากห้างโดยไม่ทราบสาเหตุ ก่อนมีเสียงคล้ายปืนดังขึ้นหลายนัด ภายหลังพบว่ามีเด็กชายวัย 14 ปี พกอาวุธปืนขนาด 9 มม. เข้าไปในห้างแล้วไล่ยิงประชาชนแบบสุ่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย 

 

ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ไปจนถึงช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับคนร้ายได้ ก็ไม่มีการส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ และไม่มีประชาชนคนไหนได้รับข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินจากหน่วยงานที่ควรจะมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้เลย 

 

เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบ ประชาชนจึงต้องติดตามข่าวสารกันเองผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, X (Twitter), เพจข่าวออนไลน์ แม้กระทั่งแจ้งข่าวกันเองผ่านแอปพลิเคชันนิยายออนไลน์ ที่ผู้แต่งนิยายจะอัปเดตสถานะงานเขียนของตัวเองให้เป็นข่าวแจ้งเตือน แทนการอัปเดตเรื่องผลงานตอนต่อไป แล้วแจ้งเตือนนั้นจะขึ้นเตือนในมือถือของผู้อ่านนิยายเรื่องนั้น เพื่อบอกให้ใครก็ตามที่เห็นหลีกเลี่ยงให้ห่างจากพื้นที่เกิดเหตุ

 

 

ท่ามกลางปัญหาหลายด้านในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินผ่าน SMS และการปราบปรามมิจฉาชีพที่ กสทช. อ้างว่าทำไม่ได้เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ ในเวลาเดียวกัน กลับมีการนำงบประมาณใช้จ่ายไปกับเรื่องต่างๆ ที่สร้างความกังขาออกมาเป็นจำนวนมาก ยิ่งตอกย้ำถึงคำถามที่ว่า กสทช. ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ 

 

อภิมหางบประมาณ และการเดินทางของประธาน กสทช. 

 

หากเราเข้าไปยังเว็บไซต์ของ กสทช. จะพบการระบุว่าองค์กรนี้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรร กำกับคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมีสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานธุรการ ซึ่งรับโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ พนักงาน และเงินงบประมาณมาจากสำนักงาน กทช. ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2553 

 

งบประมาณ พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2551 กำหนดให้ กสทช. เป็นหน่วยงานที่จัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมจากคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะ สามารถหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก่อนส่งเข้าคลัง และตั้งงบประมาณตัวเองได้ ที่เมื่อดูงบประมาณปี 2566 จะพบว่ามีมากถึง 6,271,250,400 บาท 

 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา คณะกรรมการ กสทช. มีทั้งหมด 11 คน แล้วลดลงเหลือ 7 คน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ และทั้งหมดล้วนมาจากการเลือกตั้งของ สว. ซึ่งตัวของ สว. เองก็มีที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อีกทอดหนึ่ง 

 

ในเดือนมิถุนายนปีก่อน คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบปรับขึ้นเงินเดือนบอร์ด กสทช. ส่งผลให้สำนักงานมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคณะกรรมการ กสทช. ทั้งหมด 7 คน ตกปีละกว่า 28.6 ล้านบาท 

 

การปรับเงินที่ว่านั้นควบรวมทั้งค่าตอบแทนและเงินเดือนแบบเหมาจ่าย เพิ่มค่าเสียโอกาสในการดำรงชีพเพราะห้ามดำรงตำแหน่งหรือประกอบกิจการใดๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมตามที่กฎหมายระบุไว้ 

 

เงินเดือน กสทช.

 

ประธาน กสทช. ได้ค่าตอบแทนมากถึง 361,167 บาท ค่าเสียโอกาส 89,667 บาท มีรายรับรวม 450,834 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศอีก 335,580 บาท 

 

เท่ากับว่างบประมาณที่ถูกใช้ไปกับประธาน กสทช. ตกเดือนละประมาณ 786,414 บาท 

 

ส่วนคณะกรรมการ กสทช. ได้ค่าตอบแทน 289,167 บาท ค่าเสียโอกาส 71,667 บาท มีรายรับรวม 360,834 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศอีก 269,000 บาท 

 

เท่ากับว่างบประมาณที่ถูกใช้ไปกับคณะกรรมการ กสทช. ตกเดือนละประมาณ 629,834 บาทต่อคน

 

นอกจากค่าตอบแทนรายเดือนกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วเกือบล้านบาท สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. คนปัจจุบัน ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง 

 

เพราะในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา รักชนก ศรีนอก สส. พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประธาน กสทช. เดินทางไปต่างประเทศด้วยงบประมาณของ กสทช. มากกว่า 121 วัน ในขณะที่รับตำแหน่งได้ประมาณปีกว่า หรือ 470 วัน คิดเป็น 25% ของเวลาทำงานทั้งหมด ทำให้กิจการ วาระการประชุมต่างๆ ของ กสทช. ถูกเลื่อนบ่อยครั้ง 

 

เธอกล่าวว่า ตลอด 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา มีการเดินทางไปต่างประเทศถึง 15 ครั้ง ใช้งบประมาณ 45.8 ล้านบาท แม้จะมีข้อโต้แย้งออกมาว่ามีการใช้งบประมาณเพียง 7.5 ล้านบาท โดยบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของประธาน กสทช. ไม่นับผู้ติดตาม แต่เธออยากให้ กสทช. ออกมาชี้แจงงบประมาณในการเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมดให้ชัดเจนกว่านี้ 

 

ไม่เพียงเท่านี้ รักชนกยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเราว่า มีแหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามนำข้อมูลเที่ยวบินของประธาน กสทช. มาให้กับตน ข้อมูลนี้เผยให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2565 – 9 กันยายน 2566 รวมเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน เดินทางไปต่างประเทศ 17 ครั้ง คิดเป็น 132 วัน และใช้งบประมาณของสำนักงาน กสทช. ไปกว่า 49,718,960 บาท 

 

 

สุกิจ ขมะสุนทร รักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ตัวเลขกว่า 40 ล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง เช่นเดียวกับที่ประธาน กสทช. ชี้แจงในสภาเพียงแค่ว่า

 

“ผมจะขอให้ฝ่ายสำนักงานและฝ่ายงบประมาณ ซึ่งดูแลภาระงานของผมในฐานะประธานในการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาเป็นผู้ชี้แจง เพื่อเปรียบเทียบถึงสิ่งที่ผ่านมาในอดีต”

 

รวมถึงเหตุผลว่า การเดินทางไปต่างประเทศของประธานและคณะกรรมการ กสทช. เป็นไปตามที่ประเทศไทยได้รับมอบหมาย เพราะในปีที่เข้ามา เป็นช่วงที่สำนักงาน กสทช. ได้รับมอบหมายจาก ครม. ให้ออกหาเสียงเพื่อรับสมัครเป็นกรรมการสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในฐานะประธาน กสทช. ที่เป็นผู้แทนไทย จึงต้องออกหาเสียงตามที่ ITU เป็นผู้เชิญ เพราะไทยเป็นสมาชิก ITU นานกว่าร้อยปี และนี่ก็เป็นปีแรกที่ได้รับมอบหมาย

 

ไตรรัตน์ยังระบุอีกว่า เพราะสองปีก่อนติดเรื่องโควิดเลยไม่สามารถเดินทางได้ พอ ITU กลับมาจัดงาน คณะกรรมการก็เป็นชุดใหม่ที่ไม่เคยเข้าสู่วงการคมนาคมมาก่อน ทำให้ต่างประเทศอยากทำความรู้จัก เลยมีความจำเป็นต้องเดินทางไปร่วมประชุม ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการ ค่าใช้จ่ายก็เป็นไปตามกฤษฎีกาที่รัฐบาลกำหนดไว้ ไม่มีการเบิกจ่ายนอกเหนือสิทธิ และเบิกต่ำกว่าสิทธิด้วยซ้ำ

 

จดหมายจากคนทำงาน และบริษัททาวน์เฮาส์ต้องสงสัย 

 

ด้วยจำนวนงบหลายสิบล้านบาท กสทช. จึงถูกจับตามองจากหลายฝ่าย อีกตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ในการประชุมสภาเช่นเดียวกัน ภคมน หนุนอนันต์ สส. พรรคก้าวไกล เปิดประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับจดหมายฉบับหนึ่งที่ได้รับมาจากพนักงาน กสทช. ที่อ้างว่า เวลานี้องค์กรกำลังมีความผิดปกติในการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน 

 

“นี่คือจดหมายจากพนักงานใน กสทช. ท่านหนึ่ง ที่ทนเห็นความเลวร้ายในองค์กรดำรงอยู่ไม่ไหว จึงส่งจดหมายฉบับนี้มา ดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์กับสังคมในการตรวจสอบองค์กรแห่งนี้ จึงขออนุญาตนำจดหมายฉบับนี้ออกมาเผยแพร่ 

 

“บางส่วนของจดหมายระบุว่า ปัจจุบัน กสทช. แม้จะเป็นบอร์ดแล้ว แต่ยังมีโปรเจกต์อย่างต่อเนื่อง แถมเพิ่มขึ้นมากในหลายสำนัก เพราะไม่มีใครกล้าขัดใจ บริษัทหลักที่ใช้ประมูล คือ บริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด ที่นับรวมๆ บริษัทในเครือน่าจะได้งานเกิน 1,000 ล้านบาท งบกระจายไปหลายสำนัก เช่น สำนักกิจการภูมิภาค สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักบริหารข้อมูลกลาง กรรมการพิจารณาผลส่วนใหญ่เป็นเด็กเพิ่งทำงานไม่กี่ปี และที่สำคัญไม่มีความรู้ทางเทคนิคในเรื่องที่พิจารณา

 

“การประกวดราคาครั้งใด หากผลคะแนนของบริษัท ท. แพ้ ก็จะหาทางให้บริษัทคู่แข่งตกในเรื่องคุณสมบัติ หรืออาจถึงขั้นปรับคะแนนแต่ละหมวดไม่ตรงกับเอกสาร TOR เพื่อให้หายข้อข้องใจ บอร์ดควรเสนอให้มีการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบย้อนหลังทุกโครงการ โดยไล่ดูเอกสารทุกแผ่นอย่างละเอียด”

 

จดหมายจากพนักงานใน กสทช.

 

ภคมนยกตัวอย่างกรณีบริษัท ท. ที่ต้องสงสัยว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบอร์ด กสทช. และรับโครงการต่างๆ จากบอร์ด กสทช. เพราะเมื่อเธอสืบค้นลงไป พบว่าบริษัทประกอบกิจการซื้อขาย ติดตั้ง บำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ ออกแบบพัฒนาอีคอมเมิร์ซ มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ข้อมูลการรับงานภาครัฐปี 2560-2566 มีการรับงานไปแล้ว 35 โครงการ วงเงิน 141.8 ล้านบาท และ 21 จาก 35 โครงการ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง 

 

เช่น โครงการจ้างเหมาบริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบติดตามและรายงานการตรวจสอบและกำกับดูแลการใช้ความถี่ด้วยเทคโนโลยี Video Streaming โดยวิธีเฉพาะเจาะจง, จ้างเหมาบริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบจัดเก็บข้อมูล สำหรับการออกอากาศวิทยุกระจายเสียง (FM Radio Recorder System) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง, จ้างเหมาบริการบำรุงรักษาระบบบริหารจัดการข้อมูล การปฏิบัติงานสายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค โดยวิธีเฉพาะเจาะจง, จ้างเหมาบริการบำรุงรักษาระบบบริหารจัดการข้อมูลการปฏิบัติงานสายงานกิจการภูมิภาค โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เฉลี่ยโครงการละ 1 ล้านบาท 

 

 

ภคมนตั้งคำถามว่า โครงการเล็กๆ จำนวนมากเหล่านี้ เป็นการใช้งบประมาณที่เกิดประโยชน์หรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่เธออ้างว่าได้มาจากคนใน กสทช. เผยว่า นี่ไม่ใช่การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ 

 

เธอจึงขอให้ กสทช. ชี้แจงว่าใช้งบประมาณของรัฐปีละกว่า 20-30 ล้านบาท ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการกับบริษัทดังกล่าวได้อย่างไร เพราะมีบางฝ่ายตั้งข้อสงสัยต่อว่า จริงหรือไม่ที่บริษัทมีกรรมการ กสทช. คนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย 

 

กสทช. จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล ทำให้โปร่งใส ไม่อย่างนั้นภาพลักษณ์จะกลายเป็นองค์กรที่มีสถานะพิเศษที่โครงสร้างทางอำนาจเอื้อประโยชน์ให้ไม่เกิดการตรวจสอบ 

 

ภคมนยังพูดถึงการที่ กสทช. อนุมัติโครงการต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้าง โดยระบุวัตถุประสงค์ว่าเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ เช่น การอนุมัติโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้เทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล 5 ภูมิภาค ที่ใช้งบประมาณ 1.7 พันล้านบาท ด้วยการจ้างบริษัทเอกชนแต่ละภูมิภาคจัดอบรมการใช้เทคโนโลยี ที่หลายครั้งอาจไม่ตรงกับงานที่ทำ หรือไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ได้พัฒนาทักษะตามสายงานของตัวเอง 

 

ไม่เพียงเท่านี้ เรายังได้พูดคุยกับแหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามที่เคยได้ร่วมงานกับ กสทช. และ กตป. ในการจัดทำโครงการต่างๆ แหล่งข่าวเล่าว่า กสทช. มีโครงการจำนวนมาก งบประมาณของโครงการจะได้มาจากสำนัก กสทช. ที่แต่ละโครงการก็มีงบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าจะจัดกิจกรรมในรูปแบบใด เช่น จัดแค่ในกรุงเทพฯ หรือต้องออกไปยังต่างจังหวัด

 

ในหนึ่งโครงการจะมีการระบุข้อกำหนด วัตถุประสงค์ และโครงสร้างของโครงการ (TOR) ในสัญญาจ้าง หนึ่งโครงการจะต้องมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค ส่งผลให้จำเป็นต้องออกต่างจังหวัดประมาณ 4-5 ครั้ง เพื่อสำรวจผู้รับใบอนุญาตในแต่ละพื้นที่ ซึ่ง กสทช. จะเป็นคนกำหนดเองว่าควรไปจังหวัดใดบ้าง

 

การจัดโครงการที่ต่างจังหวัดจะทำให้ผู้จัดสามารถเบิกงบประมาณได้มากกว่าการจัดในกรุงเทพฯ เงินจะถูกนำไปใช้ในเชิงการทำโครงการ ลงพื้นที่ และท่องเที่ยว เช่น ค่าประชุม ที่มีราคาขั้นต่ำ 650 บาทต่อคน 

 

ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ตั๋วเครื่องบิน รถตู้ ที่พัก อาหาร ฯลฯ บางครั้งเดินทางไปยังจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ พอทำงานเสร็จก็จัดรถตู้เที่ยวต่อ หลายครั้งสมาชิกที่ร่วมเดินทางก็ไม่ได้มีแค่ตัวคนทำงาน แต่หมายถึงคู่สมรสและบุตรด้วย

 

 

ย้ำอีกครั้งว่าในปี 2565 กสทช. ตั้งงบประมาณไว้ที่ 6,765 ล้านบาท และปี 2566 กสทช. ตั้งงบประมาณกว่า 6,271 ล้านบาท เงินจำนวนมหาศาลนี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาโดยองค์กรที่มาจากประชาชนแม้แต่บาทเดียว 

 

ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุว่าทำเพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามทั้งจากประชาชนและนักการเมืองว่า งบประมาณก้อนนี้สร้างประโยชน์ต่อคนไทยมากน้อยแค่ไหน?

 

ประเด็นที่รายการ KEY MESSAGES หยิบยกมาเป็นเพียงข้อมูลบางส่วน ท่ามกลางเรื่องราวมากมายที่สังคมมองและตั้งคำถามยัง กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกระบุในรัฐธรรมนูญว่าจะต้องดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ ทุกคนจึงมีสิทธิตรวจสอบกระบวนการทำงานและโครงการต่างๆ ของ กสทช. และทางหน่วยงานก็จำเป็นต้องตอบข้อสงสัยเหล่านี้ให้ชัดเจน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X