จากนี้โจทย์หลักของ ‘ไทยเบฟ’ คือการหา New Market สร้างโอกาสในตลาดใหม่ โดยขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ‘PASSION 2025’ ที่ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ต้องการตอกย้ำความเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในตลาดอาเซียน
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและตลาดอาหาร-เครื่องดื่มเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนที่มีผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น โดยฐาปนย้ำว่า สิ่งที่ไทยเบฟทำได้ดีในช่วงที่ผ่านมาคือ การรักษาทั้งรายได้ กำไรสุทธิ และส่วนแบ่งตลาด พร้อมกับปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ถึงกระนั้นไทยเบฟยังคงรักษาการเป็นบริษัทเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้งเป็นบริษัทเดียวในอาเซียนที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเอเชียในด้านมูลค่าทางการตลาด
ต่อจากนี้ภาพรวมเครือไทยเบฟจะเน้นเติบโตภายใต้ 3 เสาหลัก เริ่มตั้งแต่การหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ตามด้วยการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและขยายไลน์โปรดักต์ใหม่ พร้อมให้ความสำคัญกับลูกค้าที่เป็นทั้งคอนซูเมอร์และคัสตอมเมอร์ ที่สำคัญจะนำเทคโนโลยีและ AI เข้ามาช่วยในธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงแพลตฟอร์มอย่างครบวงจร โดยทั้งหมดจะช่วยเพิ่มขีดการแข่งขันและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทุ่มทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มในตลาดกัมพูชา
สำหรับแผนงานในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567) ไทยเบฟจะใช้เงินลงทุน 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ในกัมพูชาเป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาได้ทดลองส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในกัมพูชาจนได้รับความนิยมอย่างมาก
จากนี้หลังจากสร้างโรงงานแล้วเสร็จจะช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น และจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่เชื่อมโยงไปยังประเทศแถบใกล้เคียงได้
ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะใช้พัฒนาเรื่องการขนส่ง ไบโอแก๊ส และความยั่งยืน พร้อมเข้าไปศึกษาตลาดในจีน จากการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นกลุ่มธุรกิจสุราพรีเมียมในมณฑลยูนนาน ซึ่งทางไทยเบฟต้องการเข้าไปศึกษาและเรียนรู้การทำตลาดในจีน เพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจ
แม่ทัพใหญ่ไทยเบฟย้ำเดินหน้านำ BeerCo เข้า IPO ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ตามแผนเดิม
เมื่อเจาะลึกลงถึงธุรกิจสุรา บริษัทได้เดินหน้าสร้างตราสินค้าหลักในแบรนด์รวงข้าว, หงส์ทอง, แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของตลาดสุราขาวและสุราสี และจากนี้พร้อมขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมในตลาดต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี (Cardrona Distillery) โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลก
ส่วนธุรกิจเบียร์ในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากนี้จะเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่างๆ และเพิ่มศักยภาพในการผลิตและลดต้นทุนในการผลิตเบียร์ เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขัน หลังจากตลาดเบียร์จะมีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามา ก็มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนให้ตลาดมีสีสันมากขึ้น
ขณะที่ธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม ซาเบโก้มีการบริหารต้นทุนมากขึ้น เพื่อบริหารค่าใช้จ่ายและรักษาผลกำไรของบริษัท ส่วนแผนการนำ BeerCo เข้า IPO ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ยังเดินตามแผนเดิม เพียงแค่รอจังหวะตลาดพร้อม ซึ่งจะเห็นว่าสถานการณ์โดยรวมยังไม่เอื้อมาก เห็นได้จากหลายๆ บริษัทต่างเลื่อนแผน IPO ออกไปเช่นกัน
จัดโครงสร้าง ‘โออิชิ’ ใหม่ พร้อมบุกตลาด CLMV
เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หลังจากนำโออิชิออกจากตลาดหุ้น ก็ได้เริ่มจัดโครงสร้างใหม่ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ทั้งการพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมและการขยายไปในตลาดใหม่ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการชัดเจนมากขึ้น
เป้าหมายใหญ่ของทั้งเครื่องดื่มและอาหารภายใต้เครือโออิชิคือการออกไปเติบโตในต่างประเทศ เริ่มจากกลุ่มเครื่องดื่ม จะนำโออิชิ กรีนที บุกหนักในตลาดเวียดนาม โดยจะนำอินโนเวชันด้านรสชาติใหม่ๆ เข้าไปสู้การแข่งขันในตลาดเวียดนาม
“ยอมรับว่าตลาดชาพร้อมดื่มในเวียดนามเป็นตลาดใหญ่และแข่งขันกันรุนแรงมาก ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ ส่วนใหญ่จะเน้นแข่งเรื่องรสชาติและราคาเป็นหลัก ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาด”
ส่วนธุรกิจอาหาร หลังจากโควิดคลี่คลายลง ตลาดเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น เทรนด์การใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น ดังนั้นร้านอาหารในเครือไทยเบฟจะต้องเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมากขึ้น
อีกทั้งยังมีแผนขยายทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านไทย ในอีก 1-2 ปีจะได้เห็นร้านอาหารในเครือโออิชิขยายไปในแถบประเทศ CLMV ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและหาแบรนด์ที่มีความพร้อมมากสุด
รายได้งวด 9 เดือนปี 2566 โต 3.8% ส่วน EBITDA ลดลงเซ่นต้นทุนสูง
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ
แม้กำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ถือว่าลดลงร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการลงทุนสร้างแบรนด์และกิจกรรมการตลาด ที่สำคัญต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ซึ่งบริษัทก็ยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง
“ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจแอลกอฮอล์ 60% ซึ่งสัดส่วนจากกลุ่มสุราและเบียร์ถือว่าเท่าๆ กัน ส่วนธุรกิจนอนแอลกอฮอล์อยู่ที่ 30% เราต้องการเพิ่มสัดส่วนของนอนแอลกอฮอล์ให้ได้มากกว่าครึ่งภายในปี 2030 เพราะสินค้าแต่ละประเภทมีมาร์จิ้นไม่เท่ากัน และถ้าธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ยิ่งโต ก็ยิ่งจะลดต้นทุนได้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภค 1 วัน จะดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องการบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอ” ฐาปนย้ำ