ตามที่บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (‘บริษัท’) ได้ส่งผลตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-scope Special Audit) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 นั้น บริษัทได้รับรายงานข้อเท็จจริงจากการดำเนินการดังกล่าวโดยผู้สอบบัญชี
บริษัท เฟ้ลปส์ ดอดจ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) มีมูลค่าความเสียหายรวมของปี 2564-2565 ที่ 12,000 ล้านบาท จากรายการธุรกรรมที่ผิดปกติในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 200 รายการ ตามข้อมูลการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี
นอกจากนี้ บริษัทในเครือสตาร์คอีก 2 ราย คือ บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และบริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) ยังพบความเสียหายเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท และ 800 ล้านบาทตามลำดับ
สำหรับรายละเอียดธุรกรรมที่ไม่ปกติ รายงานระบุว่าความผิดปกติของ PDITL ส่วนใหญ่มาจากการปลอมแปลงการชำระเงินเพื่อซื้อวัตถุดิบที่ไม่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ใช่บุคคลที่เกี่ยวข้อง และการทำธุรกรรมกู้ยืมที่ไม่มีการบันทึกรายการเงินให้กู้ยืม ในขณะที่ความผิดปกติของ TCI และ ADS มาจากการออกเอกสารการขายโดยไม่มีหลักฐานการจัดส่งสินค้า และมีรายการรับชำระเงินจากผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าของบริษัท
บริษัท สตาร์ค ได้รับเงินจากหุ้นกู้ทั้งหมด 6 ชุด รวมจำนวน 10,698.40 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปชำระสินเชื่อและเงินกู้ยืมจากธนาคาร รวมถึงชำระคืนตั๋วแลก เงิน และหุ้นกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มกิจการ โดยได้นำเงินดังกล่าวที่ได้รับจากหุ้นกู้ส่วนใหญ่ไปให้บริษัทย่อย PDITL และ TCI กู้ยืมเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม ผู้สอบบัญชียังตรวจสอบไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้เงินที่ได้รับจาก STARK ของทั้งสองกิจการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานตามปกติของแต่ละบริษัทหรือไม่
ดังนั้น ผลของการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-scope Special Audit) ระยะที่สองนี้ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากข้อมูลที่เคยได้เปิดเผยไว้ในงบการเงินประจำปี 2565 ของบริษัท