×

นักวิชาการไทยชี้ นายกฯ ไทยเยือนกัมพูชาเป็นสัญญาณเชิงบวก คาดการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอาจใช้เวลานานกว่าที่คิด

30.09.2023
  • LOADING...
เยือน กัมพูชา

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างกัมพูชาเป็นประเทศแรกอย่างเป็นทางการ ประกอบกับมีกระแสข่าวว่า การเดินทางครั้งนี้อาจเกี่ยวพันกับดีลความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า หากดีลนี้ประสบความสำเร็จ อาจมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยใช้ไฟฟ้าในอัตราที่ถูกลงได้

 

THE STANDARD ได้สอบถามความคิดเห็นของ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง ถึงสถานการณ์และบริบทแวดล้อมที่เกิดขึ้น 

 

ดร.สุรชาติ มองว่า การที่นายกรัฐมนตรีไทยตัดสินใจเยือนกัมพูชาเป็นประเทศแรกหลังรับตำแหน่งนั้น สามารถตีความได้หลายอย่าง ข้อดีข้อแรกก็คือ ในระยะหลังนายกรัฐมนตรีไทยจะเลือกเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นประเทศแรกๆ ซึ่ง “ผมเห็นด้วยว่าเป็นทิศทางที่ดี เพราะไม่เช่นนั้น อาจมีปัญหาในการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาและจีนว่าจะเดินทางไปที่ไหนก่อน บางรัฐบาลก็แก้ปัญหาด้วยการเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรก่อน

 

“ในช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นถึงบทบาทของอาเซียน และในกรณีของนายกฯ เศรษฐาที่ตัดสินใจเยือนประเทศเพื่อนบ้านก่อน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ แต่ก็มักจะมีคำถามตามมาว่า ประเทศอาเซียนมี 10 ประเทศ จะเดินทางไปประเทศไหนก่อน ซึ่งก็มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่ก่อนการประชุม UNGA ว่า ประเทศที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนเป็นประเทศแรกๆ ก็คงจะเป็นกัมพูชา โดยอาจจะตีความได้หลายอย่าง ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวพันกับประเด็นปัญหาที่เริ่มมีการพูดกันในระยะหลังๆ ถึงแนวโน้มในอนาคต ปัญหาเส้นเขตแดนและพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งเคยมีการกำหนดมาแล้วตั้งแต่รัฐบาลของนายกฯ ชวน หลีกภัย อาจจะกลายเป็นปัญหา

 

“ถ้าเราจำกันได้ ตอนกลุ่มพันธมิตรจัดเวทีชุมนุมเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร มีการเรียกร้องให้ยกเลิกการทำแผนที่ปักปันทั้งแนว ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้เพราะว่าแผนที่ปักปันทางบกได้ตกลงกันหมดแล้ว ซึ่งเป็นแผนที่และข้อตกลงระหว่างสยามและฝรั่งเศส (เจ้าอาณานิคมของกัมพูชาในช่วงเวลานั้น) ส่วนเส้นเขตแดนทางทะเลเราทำกันในภายหลัง ซึ่งได้รับการตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาหมดแล้วเหมือนกัน แม้กลุ่มปีกขวาในขณะนั้นจะมีความพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกการทำแผนที่ปักปันดังกล่าวก็ตาม 

 

“แต่เชื่อกันว่าการยกเลิกไม่เป็นประโยชน์ ประเด็นแรกคือ การทำเส้นเขตแดนทางทะเลเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก คนที่มีบทบาทสำคัญในการทำเส้นเขตแดนทางทะเลก็คือ ศ.พิเศษ พล.ร.อ. ถนอม เจริญลาภ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว โดย MOU เรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลทำสำเร็จครั้งแรกในสมัยนายกฯ ชวนในปี 2540 คนที่มีส่วนในความสำเร็จอย่างมากคือ พล.อ. มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุดของกองทัพไทยในช่วงเวลานั้น และ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่เดินทางเข้าออกไทย-กัมพูชาอย่างต่อเนื่อง เป็น MOU ที่กำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างสองประเทศให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรม 

 

“ในกรณีเส้นเขตแดนลักษณะนี้ หากเราพิจารณาให้ดีมันเป็น ‘ผลประโยชน์ร่วม’ คล้ายๆ กับปัญหาทางพื้นที่ด้านล่างอย่างปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย เราเรียกว่าพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) ส่วนในกรณีของกัมพูชา เราก็มีข้อยุติที่ดีของการทำให้พื้นที่ทับซ้อนหรือพื้นที่ขัดแย้งทางทะเลไม่กลายเป็นข้อพิพาทจนนำไปสู่การใช้กำลัง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

 

“จากกรณีที่นายกฯ เศรษฐาตัดสินใจเดินทางเยือนกัมพูชาในครั้งนี้ ผมว่าเรากำลังเห็นการขึ้นมาของ ‘ผู้นำใหม่’ ของทั้งสองประเทศที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ทั้งคู่ ก็เลยดูจะมีปัจจัยนี้ร่วมด้วยนิดหนึ่ง ก็คงต้องตามดูผลพวงจริงๆ เนื่องจากเป็นงานการเมืองการทูต อาจไม่ได้เห็นผลในวันหรือสองวัน แต่คงต้องตามดูการเจรจาเรื่องปัญหาการกำหนดเส้นเขตแดนในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลหลังจากนี้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าทางรัฐบาลกัมพูชาอาจมีการเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศทบทวนการปักปันเส้นเขตแดนทางทะเลชุดนี้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าการเดินทางไปเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีไทยครั้งนี้เป็นเสมือนโอกาสของการปูพื้นฐาน ก่อนที่ปัญหาเส้นเขตแดนทางทะเลจะเป็นประเด็นที่รัฐบาลทั้งสองประเทศจะต้องกลับมานั่งพูดคุยกัน ก็ถือเป็นปัจจัยเชิงบวก แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคำตอบในอนาคตว่า สุดท้ายแล้วจะเกิดเป็นผลบวกได้มากน้อยเพียงใด”

 

สำหรับความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของ ‘พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล’ (Overlapping Claims Area: OCA) แห่งนี้ ดร.สุรชาติ ระบุว่า “พื้นที่แนวเขตแดนของอ่าวไทยอย่างไรก็มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าอยู่ใกล้กับทะเลชั้นในของไทย เพราะฉะนั้นในบริบทตรงนี้ โจทย์สำคัญที่สุดคงจะต้องหาทางแก้ปัญหาข้อพิพาท ถ้าเราไม่แก้ปัญหาหรือเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ เหมือนทั้งๆ ที่รู้ว่ามีปัญหา แต่ยังปล่อยปัญหาต่อไป ผมคิดว่ามันก็จะกลายเป็นประเด็นเรื้อรังที่เป็นปัญหาไม่จบ 

 

“ปัญหาเส้นเขตแดนเป็นปัญหาที่ยุ่งยากในตัวเองมาตลอดเวลา เส้นเขตแดนเป็นตัวกำหนดพื้นที่ เพราะฉะนั้นในบริบทของการแก้ไขปัญหา ไม่มีประเทศไหนอยากเสียพื้นที่ด้วยการเจรจาเส้นเขตแดน แต่ในขณะเดียวกันการเจรจาเส้นเขตแดนก็เป็นช่องทางที่สำคัญที่สุดให้รัฐที่มีปัญหา 2 ฝ่าย ไม่กลายเป็นรัฐคู่พิพาทถึงขั้นใช้กำลัง” 

 

กับคำถามว่า มีโอกาสไหมที่ ‘พื้นที่ทับซ้อน’ จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต แม้ทั้งสองประเทศอาจบรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว ดร.สุรชาติ ชี้ว่า “ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขที่ต้องใช้ ‘การเจรจา’ เป็นเครื่องมือ เพราะไม่สามารถที่จะตอบได้ทันทีว่า ตกลงใครจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ และความได้เปรียบที่เกิดขึ้นจะเป็นความได้เปรียบตลอดไปโดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในบริบทเช่นนี้ อย่างที่เราจะเห็นหลักการสำคัญของการเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทั้งหลายนี้วางอยู่บนโต๊ะเจรจาของรัฐทั้ง 2 ฝ่าย เพราะถ้าเกินกว่านั้น จะเป็นปัญหาต่างฝ่ายต่างไม่ยอมเสีย ก็จะกลายเป็นข้อพิพาททันที”

 

เมื่อถามถึงว่า หากในอนาคตการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาประสบผลสำเร็จ จนมีส่วนทำให้คนไทยมีค่าไฟถูกลง จะส่งผลต่อคะแนนนิยมรัฐบาลเศรษฐามากน้อยแค่ไหน

 

ดร.สุรชาติ แสดงความเห็นว่า “ถ้ามองทรัพยากรในทะเล มันก็คือแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะต้องยอมรับว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติเหล่านี้ สุดท้ายแล้วสัมปทานอาจจะไม่ได้อยู่ที่พวกเราทั้งหมด แต่อยู่กับบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ ซึ่งมักเป็นบริษัทระหว่างประเทศ ทั้งหมดก็เป็นปัญหาคล้ายๆ กับการเจรจาเส้นเขตแดนที่ว่า เมื่อสามารถค้นพบแหล่งก๊าซที่เป็นพื้นที่ผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งสองฝั่งจะแบ่งพื้นที่กันอย่างไร อย่างเช่นในกรณีของไทย-มาเลเซีย เรากำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมและแบ่งผลประโยชน์กันเพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่ในรายละเอียดมันไม่ง่ายที่จะบอกว่าผลประโยชน์จะต้องแบ่ง 50:50 พอมีพื้นที่อยู่ก็อาจจะตอบได้ยากว่า พื้นที่ตรงไหนมีแหล่งก๊าซธรรมชาติมากกว่า ตรงไหนมีน้อยกว่า จะเห็นได้ว่าคำว่า 50:50 ในหลักการมันง่าย แต่พอถึงขั้นเจรจาในรายละเอียด มันอาจจะไม่ 50:50 แบบเป๊ะๆ แต่ในขณะเดียวกันรัฐทั้ง 2 ฝั่งต้องหาทางที่จะทำให้ประเด็นปัญหาเหล่านี้ขยายตัว เพราะเส้นเขตแดนทางทะเลจะกลายเป็นโจทย์ที่ใหญ่ เพราะความยุ่งยาก เนื่องจากพื้นที่ทางน้ำต่างจากพื้นที่ทางบก การปักปันจึงมีความซับซ้อนมากกว่า 

 

“ถ้าปัญหาไม่ขยายตัวก็คงกลายเป็นประเด็นถกกันไปถกกันมาในทางการทูต เพราะในบางพื้นที่เรื่องของเส้นเขตแดน อย่างที่เราทราบกันดี การเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนบางทีอาจต้องใช้เวลา ถ้าเป็นเส้นเขตแดนทางบกยิ่งชัดเจนใหญ่ว่า กระบวนการทั้งหมดอาจไม่ได้เร็วอย่างที่คิด แล้วถ้าเป็นเส้นเขตแดนทางน้ำก็จะยิ่งซับซ้อนขึ้นอีก ในช่วงก่อนหน้านี้ อาจมีเงื่อนไขของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่เอื้อให้การทำความตกลงเรื่องเส้นเขตแดนทะเลเดินหน้าได้เร็วอย่างที่ไทยต้องการ แต่ในปัจจุบันเราก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ว่า ถ้าการเจรจารอบใหม่เกิดขึ้นมันจะสามารถจบได้เร็วอย่างที่ไทยต้องการหรือไม่ ในรายละเอียดยังมีประเด็นอีกมาก มากกว่าเส้นเขตแดนทางบกที่อาจจะต้องเจรจากันอีกในอนาคต วันนี้กัมพูชาก็อาจจะเรียกร้องมากขึ้น เพราะเขาก็อาจจะรู้สึกว่าเส้นเขตแดนที่เคยพูดคุยกัน (ในช่วงนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร) ถ้าเขารู้สึกว่าเขาเสียเปรียบจนเรียกร้องให้มีการปรับเส้นเขตแดนกันใหม่ ซึ่งจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่อาจรออยู่ในอนาคต”

 

ดร.สุรชาติ เชื่อว่า กระบวนการเจรจาเหล่านี้อาจไม่ประสบผลสำเร็จในเร็ววัน อาจใช้ระยะเวลานานกว่าที่คิด ทำให้ประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนหรือดีลความมั่นคงทางพลังงานอาจไม่สำเร็จผลในอนาคตอันใกล้นี้ จนส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 

เราถามต่อไปว่า เมื่อก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดหนึ่ง ถ้าพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวได้รับการผลักดันและประสบผลสำเร็จในช่วงเวลาที่ประชาคมโลกอาจหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดกันมากยิ่งขึ้นแล้ว การใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ส่วนนี้ของไทยและกัมพูชาจะได้รับกระแสต่อต้านหรือไม่อย่างไร

 

ดร.สุรชาติ กล่าวว่า “โลกพลังงานชุดเก่ายังไม่จบเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคิด แต่เดิมมีสมมติฐานว่า โลกยุคน้ำมันหรือโลกเชื้อเพลิงฟอสซิลมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว ซึ่งเอาเข้าจริงเราก็ยังเห็นว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าเราจะเห็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) หรือเห็นแผงโซลาร์เซลล์ตามบ้านเรือนที่พักอาศัย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าไฟฟ้าหลายส่วนก็ยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในทะเลเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ 

 

“ส่วนช่วงสุดท้ายของโลกยุคน้ำมันหรือโลกเชื้อเพลิงฟอสซิลจะไปปิดฉากในอนาคตอีกนานเท่าไรก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่พอสมควร หรือทฤษฎีที่เรียกกันว่า ‘Peak Oil’ ที่จุดสูงสุดของการใช้พลังงานน้ำมันได้ผ่านไปแล้ว และเหมือนกับเส้นเคิร์ฟของตัว Peak Oil นี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ไม่ได้กำลังบอกว่ามันจะถึงจุดที่คนจะไม่ใช้น้ำมันหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้แล้ว ถ้ามองผ่านโดยเฉพาะสังคมไทย โลกยุคน้ำมันก็อาจจะไม่ได้หายไปเร็วอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้” 

 

ท้ายที่สุด ดร.สุรชาติ ทิ้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับดีลความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาว่า “การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ดีที่สุดและทำได้อย่างเดียวคือเจรจา แต่ต้องเป็นการเจรจาบนพื้นฐานที่ไทยเองก็ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากในช่วงระยะก่อนหน้านี้ถอยกลับไปยาวๆ ข้อมูลในเชิงแผนที่ ข้อมูลในเชิงเส้นเขตแดน เราไม่ค่อยพูดกันมาก หรือพูดก็ไม่มีความชัดเจนว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเวทีสาธารณะมีความถูกหรือคลาดเคลื่อนไปอย่างไร ในหลายประเทศข้อมูลเรื่องเส้นเขตแดนเป็นข้อมูลสำคัญชุดหนึ่ง ในกรณีของรัฐบาลกัมพูชา เรารับรู้ได้ว่ารัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับข้อมูลเรื่องเส้นเขตแดนมาก แล้วถ้าเราสังเกตคนที่มักจะเป็นผู้เจรจาในปัญหาเส้นเขตแดนกัมพูชาแทบจะอาศัยบุคคลหลักบุคคลนั้นเป็นผู้เจรจาหลักมาโดยตลอด (โดยเฉพาะ ฮอร์ นัมฮง อดีตรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ)

 

“ในขณะที่ฝ่ายไทย ผู้แทนเรื่องเส้นเขตแดนของไทยเปลี่ยนไปตามตำแหน่ง เปลี่ยนไปตามเงื่อนไขทางการเมือง ในขณะเดียวกัน ฐานข้อมูลอาจจะมี แต่ฐานข้อมูลเหล่านี้ก็มีความจำกัดในการใช้อยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นการเจรจาเรื่องเส้นเขตแดน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนนี้ การเตรียมที่ดีที่สุดก็คือการเตรียมข้อมูล และต้องตระหนักว่าพื้นที่ทับซ้อนต้องไม่ถูกแก้ปัญหาด้วยเงื่อนไขสงคราม เพราะถ้าหากนำพื้นที่ทับซ้อนมาใช้เป็นประเด็นของการสร้างลัทธิชาตินิยม และอาศัยลัทธิชาตินิยมนี้พาไปสู่สงคราม พื้นที่ทับซ้อนจะกลายเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น เพราะโดยหลักการ ไม่มีประเทศไหนในโลกอยากเสียดินแดน แต่การเจรจาปักปันเส้นเขตแดนก็สะท้อนในตัวของมันเองว่าต้องทำผ่านการเจรจา สุดท้ายปัญหาเส้นเขตแดนต่อให้รบกันอย่างไรก็จบด้วยโต๊ะการทูต” 

 

ภาพ: Handout / Agence KamPuchea Press (AKP) / AFP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X